ที่จอดรถพิเศษสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตต่างๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะบรรดาค้าปลีกต่างๆ ก็จัดสรรพื้นที่นี้ไว้อยู่แล้ว แต่สำหรับ Lady Parking ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล โดยเซ็นทรัลพัฒนานั้น คือบริการรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับวงการค้าปลีกไทย
งานนี้ไม่ต้องมีบัตรเครดิต Platinum, Beyond Platinum หรือบัตรอภิสิทธิ์ใดก็สามารถได้พื้นที่จอดรถ ด้วยข้อแม้ประการเดียวคือต้องเป็น “ผู้หญิง”
โดยเจ้าของความคิดโครงการนี้ คือ สาธิต วิกรานต์ธนากุล ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา บางนา และหลังจากดำเนินการมาตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 บริเวณชั้น 2 ครึ่ง ของเซ็นทรัลพลาซา บางนา พบว่าได้รับการตอบรับดีจากแบบสอบถามวัดความพึงพอใจในการใช้บริการ และพบว่ามีทราฟฟิกเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน วันธรรมดา 500 คัน/วัน วันหยุด 800-1000คัน/วัน และกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดิมๆ ที่มาใช้บริการเป็นประจำ
ดังนั้นทางเซ็นทรัลพัฒนาจึงขยายผลต่อไปยังชั้น 1 เซ็นทรัล พลาซา แจ้งวัฒนะ ชั้น 3 ครึ่ง เซ็นทรัล พลาซา รัตนาธิเบศร์ และจะทยอยให้บริการในศูนย์การค้าสาขาอื่นๆ ของเซ็นทรัลพัฒนาจนครบทุกศูนย์ต่อไป
โดยสีชมพูถูกนำมาใช้ในการตกแต่งเสาและพื้นที่ให้บริการรวมทั้งลวดลายกราฟฟิกอ่อนช้อยเพื่อสื่อถึงพื้นที่จอดรถเฉพาะสำหรับผู้หญิง และยังเป็นจุดเด่นที่สังเกตและจดจำได้ง่ายด้วยอีกด้วย
ด้าน ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บอกถึงวัตถุประสงค์ถึงการจัดบริการ Lady Parking ว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เป็นสุภาพสตรี ในเรื่องที่จอดรถ การจอดรถ มีบริการช่วยถือของ มีบริการช่วยเหลือต่างๆ พร้อมเคาน์เตอร์ขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความไว้ใจและความมั่นใจในการใช้บริการของลูกค้า ให้รู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยจำนวน รปภ.ที่มากขึ้น ซึ่ง รปภ.ที่ชั้นนี้จะมีจำนวนมากกว่าชั้นอื่น และจะมี รปภ.ผู้หญิงช่วยดูแล รวมทั้งเพิ่มแสงสว่างและกล้องวงจรปิด”
เขาเชื่อว่า Lady Parking จะช่วยตอกย้ำให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเป็น Shopping Destination ที่สมบูรณ์โดยแท้จริง
ทั้งนี้ Lady Parking มีข้อกำหนดในการใช้บริการ Lady Parking คือ ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องเป็นสุภาพสตรีเท่านั้น ส่วนผู้โดยสารร่วมเป็นสุภาพบุรุษและครอบครัวใช้บริการได้ และกำหนดการใช้พื้นที่ลานจอดเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00น-23.00น.ทุกวัน
ปัจจุบันทราฟฟิกโดยเฉลี่ยของลูกค้าผู้หญิงในศูนย์การค้าเซ็นทรัลทุกศูนย์อยู่ที่ 60% ขณะที่ลูกค้าผู้ชายมีเพียง 40% ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงระยะเวลาในการจับจ่าย และเม็ดเงินในการซื้อสินค้าและบริการภายในศูนย์ฯ ที่ส่วนใหญ่จะเกิดจากลูกค้าผู้หญิงเป็นหลัก การเอาใจผู้หญิงที่เป็นนักช้อปตัวยงในเรื่องของพื้นที่จอดรถซึ่งเป็นด่านแรกในการสร้างความพึงพอใจและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากมาใช้บริการจึงเป็นการเอาใจที่คุ้มค่ายิ่งนัก
เมื่อปี 2552 มายด์แชร์ศึกษาพฤติกรรมความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงไทยวัย 18-35 ปี จำนวน 40 คน ในเชิงลึก พบว่า แม้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำผู้หญิงยังนิยมช้อปปิ้งเพื่อเติมเต็มความสุขอยู่ แต่จะระมัดระวังตัวมากขึ้นโดยเฉพาะกับสินค้าแบรนด์เนมหรู และเลือกที่จะหาทางออกด้วยการจับจ่ายสินค้าเพื่อความงามเพราะมองว่าเป็น Everyday Luxury ซึ่งไม่กระทบกับสุขภาพทางการเงินมากนัก