เซ็นทรัล รีเทลเพิ่งทดลองรวมร้าน Powerbuy เข้ากับร้าน B2S ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ โดยระบุว่า หลังรวมร้านแล้วจะทำให้ “Powerbuy x B2S” มีพื้นที่รวม 6,000 ตร.ม. ใช้งบลงทุนไปถึง 100 ล้านบาทในการจัดโซน ตกแต่งร้านใหม่ทั้งหมด แต่คำถามก็คือ จะเกิดความแตกต่างต่อพฤติกรรมลูกค้ามากแค่ไหนเมื่อทั้งสองร้านมาอยู่รวมกัน หรือเป็นเพียงกิมมิกสร้างสีสันการตลาดในช่วงเศรษฐกิจซบเซา
หลังเปิดร้านใหม่ได้สัปดาห์กว่าๆ Positioning มีโอกาสเข้าไปเยือนพื้นที่ร้าน Powerbuy x B2S พบว่าภายในจะติดป้ายแยกโซนออกเป็น 12 โซน ได้แก่
1.Vision & Sound Gallery
2.Gadget Paradise
3.Wireless World
4.Cooking Studio
5.Smart Home Living
6.AirZone
7.Gaming Arena
8.Computers
9.CreativeLeisure
10.Play & Learn
11.Passion Library
12.Stationery Gallery
แม้ชื่อจะเป็นชื่อใหม่ แต่การจัดร้านยังคงคล้ายคลึงเดิม คือแยกโซนตามประเภทสินค้าเพื่อให้ลูกค้าหาง่าย โดยสินค้าเกี่ยวเนื่องจะอยู่ใกล้กันอย่าง Vision & Sound Gallery จะเป็นโซนโทรทัศน์กับลำโพง หรือ CreativeLeisure คือโซนสินค้างานศิลปะ ตั้งแต่สี กระดาษ จนถึงไหมพรม การจัดโซนทั้งหมดจะสังเกตได้ว่า ยังคงเป็นฝั่งเครื่องใช้ไฟฟ้ากับฝั่งเครื่องเขียนและหนังสืออย่างชัดเจน
หากจะมีอะไรที่แตกต่างจากเดิมบ้าง คือการวางดิสเพลย์ใหม่ให้น่าสนใจขึ้น จากเดิมที่ทั้ง Powerbuy และ B2S จะวางสินค้าบนชั้นวางเป็นล็อกๆ เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ร้านใหม่จะจัดให้มีความโปร่งมากขึ้น สินค้าหันหน้าออกโชว์ให้ลูกค้าที่เดินผ่านทางเดินตรงกลางเห็นชัด
บางโซนมีจุดสาธิตสินค้าที่ใช้จัดอีเวนต์เล็กๆ ได้ เช่น Cooking Studio มีหน้าบาร์ให้ทดลองสินค้า CreativeLeisure มีจุด Color Bar จัดกิจกรรมศิลปะ Gaming Arena มีจุดทดลองเล่นเกมได้ พร้อมกับมีพื้นที่ร้านกาแฟเล็กๆ กลางร้านและที่นั่งพักในส่วนจุดรับเปลี่ยน-คืนสินค้า
นอกจากนี้ ยังจัดระบบร้านตามคอนเซ็ปต์ Omnichannel ที่เซ็นทรัลกำลังมุ่งไป คือสินค้าใดๆ ที่ไม่มีหน้าร้าน สามารถสั่งออนไลน์กับแท็บเล็ตของพนักงาน หรือหน้าจอทัชสกรีนในร้านได้ และสินค้าที่สั่งจากออนไลน์สามารถใช้ระบบ Click & Collect ได้ตามปกติ
เน้นสินค้าที่ ‘ไม่ใช่’ หนังสือ
การจัดดิสเพลย์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งในตลาดรวมถึงร้านในเครือเซ็นทรัล เพราะ Supersports เคยจัดร้านใหม่ให้ ‘น่าเดิน’ และมีกิจกรรมภายในร้านมากขึ้นมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน เพื่อดึงผู้บริโภคให้ยังอยากมาห้างและมาช้อปในร้าน แม้ว่าจะดันการขายออนไลน์ควบคู่ไปด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การจัดร้านและมีกิจกรรมแบบนี้อาจจะเป็นความแปลกใหม่สำหรับ B2S มากกว่า Powerbuy เพราะถึงแม้จะเคยปรับร้านในคอนเซ็ปต์ใหม่ ‘Think Space’ มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยังมีภาพจำว่าเป็นร้านขายหนังสือ ด้วยภาพของตู้หนังสือที่เรียงรายเต็มร้าน แต่ที่จริงแล้วรายได้ของ B2S มีน้ำหนักจากอย่างอื่นมากกว่าหนังสือ
โดยเมื่อปี 2562 บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน B2S รายงานรายได้ร้านนี้ที่ 4,059 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนมูลค่าการขายสุทธิ (NMV) 49% มาจากเครื่องเขียนและศิลปะ 27% จากไลฟ์สไตล์และสื่อพัฒนาการเรียนรู้ และ 24% จากหนังสือ สองกลุ่มแรกนั้นสัดส่วนเติบโตขึ้นจากปี 2561 ขณะที่กลุ่มหนังสือมีสัดส่วนลดลง
เมื่อมาเป็น Powerbuy x B2S สังเกตได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของโซนฝั่ง B2S อุทิศให้กับเครื่องเขียน ไลฟ์สไตล์ และอยู่ในจุดที่ดึงดูดสายตา ส่วนกลุ่มหนังสือแม้จะอยู่ด้านหน้าร้านแต่ไม่ได้เป็นจุดไฮไลต์มากนัก ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการเติบโตที่ที่จริงแล้วเครื่องเขียนและไลฟ์สไตล์ทำรายได้มากกว่าหนังสือไปมาก
หาความเคลื่อนไหวในตลาด?
ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องเป็น Powerbuy กับ B2S “โลร็องต์ โปซ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีโอแอล ตอบสั้นๆ ว่า เพราะทำให้ “ลูกค้าทั้งครอบครัว” มาเดินด้วยกันได้
ปกติร้าน Powerbuy จะดึงกลุ่มพ่อบ้านเข้ามา ส่วน B2S มักจะเป็นกลุ่มเด็ก วัยรุ่นและผู้หญิง เมื่อมาอยู่ร้านเดียวกันก็ทำให้ทั้งครอบครัวเดินเข้ามาพร้อมกันได้ แม้ว่าพื้นที่ร้านจะใหญ่มากแต่ก็ยังให้ความรู้สึกว่าได้เดินอยู่ในร้านเดียวกัน
โลร็องต์กล่าวว่า บริษัทคาดหวังให้ร้านนี้ทำรายได้เพิ่มขึ้น 20-30% เทียบกับก่อนรีโนเวต ส่วนแผนจะรวมสาขาอื่นเข้าด้วยกันยังไม่มีในตอนนี้เพราะต้องการศึกษาจากสาขานี้ก่อนว่า ‘เวิร์ก’ หรือไม่ (ปัจจุบัน Powerbuy มี 111 สาขา และ B2S มี 122 สาขา)
อย่างไรก็ตาม การปรับร้านใหม่นี้ยังน่ากังขาว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ถึงระดับนั้นจริงหรือ? หรือเป็นเพียงการการตลาดในช่วงเศรษฐกิจซบ และทำให้ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC บริษัทแม่ของ Powerbuy ดูมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างที่บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วควรจะมี