ส่องเศรษฐกิจแดนมังกร GDP “จีน” ปี 2019 โต 6.1% ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 29 ปี

Photo : Shutterstock
สำนักสถิติแห่งรัฐจีนแถลงว่าอัตราขยายตัวเศรษฐกิจจีนในปี 2019 โต 6.1% นับเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 29 ปี ซึ่งตัวเลข GDP นี้สรุปในช่วงปีที่เศรษฐกิจจีนเผชิญกับสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาอย่างหนักหน่วง โดยทั้งสองฝ่ายได้ขึ้นอัตราภาษีการค้าโต้ตอบกันอย่างดุเดือด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เกิดสัญญาณที่ดีในการคลี่คลายข้อพิพาทการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก และเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจหลังจากที่จีนและสหรัฐฯ ได้ลงนามข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าเฟสที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบข่าว กรุงวอชิงตัน โดยข้อตกลงที่โลกรอคอยมานานนี้เป็นสัญญาการพักรบศึกพิพาทการค้า

แม้ตัวเลข GDP จีนทำสถิติต่ำที่สุดนับจากปี 1990 ซึ่งในปีนั้นวิกฤตวุ่นวายทางการเมืองในปักกิ่งได้ฉุดอัตราเติบโตเศรษฐกิจลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% การขยายตัวเศรษฐกิจปีที่แล้วที่ระดับ 6.1% ก็ยังอยู่ในเป้าหมาย 6.0% และ 6.5% ที่รัฐบาลจีนกะเก็งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าระดับ 6.2% ที่ตลาดคาดการณ์

นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังสอดคล้องกับชุดคาดการณ์ของกองทุนการเงินโลก (IMF) และธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ที่ประเมินอัตราเติบโตเศรษฐกิจจีนในปีนี้

Photo : Shutterstock

สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจระหว่างไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว GDP จีนโตที่ระดับ 6.0% เท่ากับตัวเลขของช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.

ส่วนดัชนีหลักตัวอื่นๆ ได้แก่

  • การผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรวัดผลผลิตในภาคการผลิต เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค โต 5.7% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่กระเตื้องขึ้นมาหน่อยจากการประเมินของกลุ่มวิเคราะห์ที่ 5.6% แต่ลดลงจากระดับ 6.2% ในปี 2018
  • ยอดค้าปลีก ดัชนีหลักของการใช้จ่ายผู้บริโภคในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ขยายตัว 8.0% เมื่อปีที่แล้ว ตกจากระดับ 9% ในปี 2018 ซึ่งถือว่าอยู่ในความคาดหมายของตลาด
  • การลงทุนสินทรัพย์ถาวร ขยายตัว 5.4% ในช่วงปี 2019 กระเตื้องขึ้นจาก 5.2% ที่รายงานในเดือน พ.ย. ในแง่การขยายตัวปีต่อปี ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่จีนและสหรัฐฯ ใกล้บรรลุข้อตกลงการค้า สภาพการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมดูสดใสขึ้น กล่าวคือการผลิตอุตสาหกรรมขยับขึ้น 6.9% ซึ่งเหนือการคาดการณ์ของกลุ่มวิเคราะห์ที่เก็งไว้ที่ 5.9% และถือเป็นการขยายตัวที่เร็วที่สุดนับจากเดือน มี.ค.

นอกจากนี้ข้อมูลสถิติที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เผยตัวเลขการส่งออกและนำเข้าช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ การส่งออกจีนขยายตัว 7.6% สูงจากตัวเลข ติดลบ 1.3% ในเดือน ธ.ค. ส่วนการนำเข้าดีดตัวขึ้น 16.3% ในเดือนธ.ค. สูงขึ้นจาก 0.3% ในเดือน พ.ย.

ขณะที่ยอดค้าปลีกในเดือน ธ.ค.โต 8% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 7.9% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพ.ย.

รายงานข่าวของสื่อฮ่องกง เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ระบุว่านักกำหนดนโยบายในปักกิ่งอาจจะโล่งใจที่ตัวเลขอัตราเติบโตของทางการยังอยู่เหนือเส้นจิตวิทยา (psychologically important) 6.0% แต่พวกเขายังต้องเผชิญปัญหาท้าทายใหญ่ที่รออยู่ในปี 2020 นี้ เนื่องจากการลงนามข้อตกลงการค้าเมื่อวันพุธ (15 ม.ค.) อาจลดแรงกดดันลงไปบ้าง ในข้อตกลงฯ จีนกำหนดโครงการซื้อสินค้าครั้งมโหฬารซึ่งจะกระตุ้นการนำเข้าจากสหรัฐฯ มายังจีน แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงอยู่

นอกจากนี้ยังมีหลายกลุ่มสงสัยและรอดูการรักษาสัญญาตามข้อตกลงในอนาคต

“การลงนามสัญญาเฟสที่ 1 นี้เป็นเพียงข้อตกลงเฉพาะกาลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จริงแล้วมันเป็นขั้นตอนผลักดันให้เกิดการเจรจาในขั้นต่อไป สหรัฐฯ จะคงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราที่เป็นอยู่หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเข็นข้อตกลงเฟสที่ 2 ออกมา” Alicia Garcia Herrero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกประจำ Natixis กล่าว

จีนพยายามต้านภาวะชะลอตัวเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้วด้วยมาตรการตัดลดภาษีและมาตรการกระตุ้นทางการเงิน อย่างไรก็ตาม หลังการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 ธนาคารกลางแห่งจีนได้เปิดการประชุมข่าวในวันพฤหัสฯ (16 ม.ค.) แถลงว่าจีนยังนโยบายการเงินอย่าง “รอบคอบ” ในปีนี้

Source