ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทในเครือ รายงานผลประกอบการในปี 2562 โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 32,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2561 โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่ 8.7%
สรุปตัวเลขการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2562
- กำไรสุทธิ: จำนวน 32,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2561 (หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติจำนวน 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2561)
- การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ: เพิ่มขึ้น 8.7% หรือจำนวน 146,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เงินให้สินเชื่อมีการเติบโตครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีสินเชื่อเพื่อรายย่อยเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลัก ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.1% ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจเพิ่มขึ้น 6.6%
- การเติบโตของเงินรับฝาก: เพิ่มขึ้น 9.9% หรือจำนวน 141,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561
- ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM): อยู่ที่ 3.60% ปรับลดลงจาก 3.81% ในปี 2561
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย: เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 31.9% จากปี 2561 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: อยู่ที่ 42.9% ปรับดีขึ้นจาก 47.2% ในปี 2561
(หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในปี 2562 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติของปี 2562 อยู่ที่ 45.1%)
- สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs): อยู่ที่ 1.98% ปรับดีขึ้นจาก 2.08% ในปี 2561
- อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้: ยังคงแข็งแกร่งที่ 163.8%
- อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง: อยู่ที่ระดับ 16.56%
ทั้งนี้ เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจโดยรวมในปี 2563 ว่า “เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังคงเผชิญปัญหาความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ด้วยนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กอปรกับการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับ 2.5% ในปี 2563 กรุงศรีจึงตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อสำหรับปี 2563 ที่ 5 – 7% ด้วยนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่มีความรอบคอบระมัดระวัง”