มองทิศทางสตาร์ทอัพไทย ในวันที่ไร้ ‘Dtac Accelerate’

เป็นข่าวช็อกวงการสตาร์ตอัพ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา Dtac Accelerate โครงการบ่มเพาะ Starup ที่ก่อตั้งมากว่า 7 ปี ได้ประกาศว่าจะเลิกทำ โดยเตรียมขายให้ผู้ที่สนใจรับช่วงต่อ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นใคร ซึ่งจะมีผู้สานต่อจริงหรือไม่นั้นไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ การที่ไม่มี Dtac Accelerate กระทบต่อภาพรวมสตาร์ทอัพไทยแน่นอน

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาคให้ความเห็นว่า ไม่ใช่ว่าดีแทคผิดหรือทำไม่ดี แต่หากมองในมุมนักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพมากว่า 62 ราย แม้จะมีการระดมทุนไปต่อได้ แต่ไม่มีรายไหน Exit แปลว่าเงินที่ลงไปไม่ได้อะไรกลับมา ดังนั้นเลยอยู่ไม่ได้ ซึ่งการขาด Dtac Accelerate ไป ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยจะยิ่งเผชิญความกับท้าทาย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในระดับ Seed

“ถ้าไม่มีดีแทค ก็ไม่มีอีโคซิสเต็มส์ไทยในวันนี้ เพราะ Rise เองก็ได้สตาร์ทอัพดีจากดีแทค เขาเป็นตัวไดรฟ์อีโคซิสเต็มส์จริง ๆ เพราะเป็นเหมือนตัวคัดกรองสตาร์ทอัพที่จะลงทุนต่อ”

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาค

แม้ว่าภาพรวมสตาร์ทอัพไทยแม้ว่าจะเติบโต มีซีรีส์ A และ B เพิ่มมากขึ้น แต่ยังอยู่ในหลักสิบหลักร้อยเท่านั้น ขณะที่ระดับ Seed หรือสตาร์ทอัพหน้าใหม่กลับมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่มีแรงบัลดาลใจให้เป็นสตาร์ทอัพ เพราะไม่มีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จให้เห็น และเมื่อ Dtac Accelerate ที่เป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพในระดับ Seed หายไป แปลว่าไม่มีที่ฟูมฟักเหล่าสตาร์ทอัพ ส่งผลให้สตาร์ทอัพไทยระดับ Seed ที่ลดน้อยลงอยู่แล้วจะยิ่งมีน้อยและเติบโตยาก

เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียที่มียูนิคอร์นอย่าง Gojek ส่งผลให้มีผู้ที่สนใจเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น เมื่อมีสตาร์ทอัพมาก ก็สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้มาก ขณะที่แหล่งเงินทุนขับเคลื่อนสตาร์ทอัพในไทยมาจาก CVC (corporate venture capital) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เน้นลงทุนใน Seed แต่จะลงเงินกับซีรีส์ A และ B ที่มีสินค้า บริการ และลูกค้าที่ชัดเจน ดังนั้นการจะดึงดูดให้ VC (venture capital) ให้มีมากขึ้นและมาลงทุนใน Seed จำเป็นต้องมีสตาร์ทอัพระดับ Seed ที่เก่งพอ ซึ่งปัญหาสตาร์ทอัพก็จะเป็นงูกินหาง เพราะอีโคซิสเต็มส์ยังไม่พร้อม

“อีโคซิสเต็มส์สตาร์ทอัพในไทยยังไม่พร้อม คนเก่ง ๆ ไม่มาทำเพราะไม่มีตัวอย่าง หรือคนที่ทำก็ไม่รอดเพราะไม่มีเงิน ยิ่งตอนนี้ไม่มีที่ฟูมฟักสตาร์ทอัพระดับ seed ยิ่งเกิดยาก ซึ่งตอนนี้ตลาดไทยไม่เอื้อให้สตาร์ทอัพเกิดด้วยตัวเอง ดังนั้นสตาร์ทอัพไทยต้องร่วงกับองค์กรเพื่ออยู่รอด ทำให้เขาได้ไปต่อ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเป็นยูนิคอร์น แต่แค่เป็นได้ในรูปแบบที่ต่างกัน”

สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ (เหม็ง) Managing Director dtac accelerate

ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่การใช้งานโมบายอินเตอร์เน็ตเติบโตสูงที่สุดในโลก ดังนั้นนักลงทุนจึงมองหาสตาร์ทอัพเพื่อลงทุน โดยปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคทั้งหมด 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 80% ลงในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ อีก 20% หรือประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐลงเฉลี่ย 8 ประเทศ ซึ่งไทยได้เงินลงทุนแค่ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2% ดังนั้นสตาร์ทอัพไทยต้องปรับตัวให้เร็ว ต้องสามารถทำงานกับองค์กรให้ได้ โดยมองว่าสตาร์ทอัพไทยด้านการเกษตร ท่องเที่ยว และเฮลท์แคร์ มีโอกาสเติบโตมาก

“เราเองต้องมี VC เยอะขึ้นเพื่อให้ลงทุน Seed แต่ก็จะวนกลับมาปัญหาเดิม Seed ดี ๆ มีน้อย ดังนั้นนี่เป็นปัญหาอีโคซิสเต็มส์ล้วน ๆ ไทยจึงจำเป็นต้องมีต้นแบบความสำเร็จ โดยคาดว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีเป็นอย่างเร็วที่จะได้เห็นจำนวนสตาร์ทอัพระดับ Seed เพิ่มขึ้นอีก แต่เราคงทำแบบดีแทคไม่ได้ เพราะรูปแบบไม่เหมือน “

ชื่นชีวัน วงษ์เสรี ผู้ร่วมก่อตั้ง “โกลบิช” หนึ่งในสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมโครงการ dtac accelerate Batch 5

สำหรับ RISE เป็นสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน 1.RISE Accelerator ซึ่งไม่ได้บ่มเพาะสตาร์ทอัพเหมือนดีแทค แต่เป็นการจับคู่สตาร์ทอัพกับองค์กรธุรกิจ ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพในโครงการกว่า 2,000 รายทั่วโลก 70% สามารถจับคู่ธุรกิจได้ 2.RISE Corporate Innovation Academy ที่จะเทรนด์คนในองค์กร เพื่อให้เกิดแนวคิดการทำสตาร์ทอัพหรือบริษัทลูกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 3.RISE Venture เน้นลงทุนในระดับซีรีส์ A โดยลงทุนแล้วยังไม่ถึงสิบราย และ 4.RISE Experience เน้นการสร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือ เช่น งานคอนเฟอเรนซ์

ทั้งนี้ Rise มีรายได้จากเก็บเงินค่าสมาชิกกับองค์กรทุกราย และได้รับเงินจากรัฐบาลใน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย

#RISE #Dtac #DtacAccelerate #Startup #Positioning