รู้จักม็อบออนไลน์

วิกฤตม็อบเสื้อแดง พลังของ Social Network Facebook กับ Twitter กลายมาเป็นเครื่องมือในสนามรบทางความคิดผ่านข้อความ ข้อมูล รูปภาพ และคลิปข่าวต่างๆ เหนือกว่ายุคของโทรศัพท์มือถือ

ด้วยจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่ทะลุไปถึงกว่า 1 ล้านรายในไทย และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีทวิตเตอร์ทะยานตามมาติดๆ ด้วยยอด 1 แสนราย ทำให้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ กลายเป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์ที่มาแรงที่สุด

ในทางการตลาด เฟซบุ๊ก ถูกนำไปใช้ในการสื่อสาร อัพเดตข้อมูลข่าวสารของแบรนด์ต่างๆ เพื่อทำความรู้จักกับลูกค้าเป้าหมาย สร้างการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนที่มีความสนใจมารวมตัวกัน โดยมีทวิตเตอร์เป็นแรงหนุนทำให้ข้อมูลไปถึงรวดเร็วและทันใจยิ่งขึ้น

ในวิถีของการเมืองก็ไม่ต่างกัน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการสื่อสาร แสดงออกทางความคิดอย่างเสรี จากกลุ่มคนที่มีความสนใจเหมือนๆกัน หรือแตกต่างกัน จนกลายเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ และยังก่อให้เกิดพลังม็อบทางการเมืองในอีกรูปแบบที่เรียกว่า ม็อบออนไลน์

กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง กลุ่มคนไม่ต้องการละเมิดสถาบัน มีทั้งที่ซีเรียส เน้นอุดมการณ์ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงของสถานการณ์ และการตั้งชื่อ ในขณะที่บางกลุ่มตั้งชื่อโดนใจ จนนำไปสู่การรวมตัวของม็อบเสื้อหลากสีในเวลาต่อมา

ม็อบแดง vs รัฐบาล

ฝ่ายเสื้อแดง มีจุดตั้งต้นมาจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตเจ้าพ่อดาวเทียม ได้ใช้เครื่องมือ Social Media ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เพื่อใช้อัพเดตข่าวกับกลุ่มคนเสื้อแดง และยังใช้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ข่าว

เมื่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มขึ้น นอกจากทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน ที่เสื้อแดงใช้เป็นอาวุธในการสื่อสาร และปลุกระดมผู้ชุมนุม Social Media ก็เป็นอีกเครื่องมือที่คนกลุ่มนี้พยายามเพื่อมีส่วนยึดครองบนพื้นที่โลกออนไลน์ โดยเริ่มจากยอด Follower ทวิตเตอร์ @thaksinlive ที่มียอดกว่าหมื่นกว่าคน มาเป็นฐานในการชื่อมโยงมวลชนเสื้อแดงอื่นๆ ในไซเบอร์สเปซให้มารวมตัวกัน เพื่อสร้างพลังในการช่วงชิงพื้นที่สื่อ และไว้ Search ติดตามประเด็นใหม่ๆ ที่สมาชิกคุยกัน โดยใส่คำคีย์เวิร์ดหรือ hashtag ว่า #redtweet หวังจะใช้เป็นแบรนด์หลัก

“คว ามคิดในการรวมกลุ่มเสื้อแดงทวิตเตอร์ เพื่อสร้าง Power ของเครือข่ายมวลชนเสื้อแดง เพื่อติดตามข่าวสาร กิจกรรม ความเคลื่อนไหว ในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างทันท่วงทีจากหลายจุดพื้น” ที่ Social Networking มีหลายอย่างที่เราคุ้นเคยกันก็ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

แต่เราขอเสนอ Twitter อันทรงพลัง ซึ่งจะต่างจาก Social อื่นๆ อย่าง เฟซบุ๊ก และhi5 ที่จะกระจุกตัวเหมือนมหานครในโลกอินเทอร์เน็ต แต่ Twitter จะเป็น Gateway เป็นชุมทางของแหล่งชุมชน และแหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
ไม่ไช่เพียงแต่ข่าวสารข้อมูล แต่ยังเชื่อมโยงผู้คน เป็นการสื่อสารในมิติของคนในสังคมด้วย

ผู้ใช้งาน Twitter ไทยมีทั้งสื่อ ผู้คนในหลายสาขาอาชีพ หลายพื้นที่ คนวงในวงนอก เป็น Leader ในเสื้อแดง เป็นเสื้อแดงในขบวน หลายครั้งมีการจับกลุ่มกัน พบปะ หรือทำกิจกรรมร่วมกันด้วย

นี่คือข้อความบนเว็บบล็อก Redtwett ของกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อบอกถึงการรวมเครือข่าย Redtweet ขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายมวลชนเสื้อแดงในโลกออนไลน์

แม้ว่าในระยะหลัง ทักษิณจะงดใช้ทวิตเตอร์และวิดีโอลิงค์ เพราะหากเปรียบเป็นสินค้า ทักษิณอยู่ในช่วงขาลง มีแต่ถดถอยลง จึงพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ขึ้นมาในม็อบแดงว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเรียกร้องความเท่าเทียมของคนด้อยโอกาส ไม่ใช่สู้เพื่อทักษิณ แต่ทวิตเตอร์ก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่เปลี่ยนจากทักษิณ มาเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการพรรคไทยรักไทย ที่ใช้ชื่อ @chaturon

ส่วนฝั่งประชาธิปัตย์ ที่แม้ในช่วงหลังทวิตเตอร์ของนายกฯ อภิสิทธิ์ จะไม่คึกคักเหมือนในช่วงแรก เช่นเดียวกับ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ดูแลรับผิดชอบสื่อทั้งหมด รวมถึงสื่อออนไลน์ โดยชื่อบนทวิตเตอร์ @ satit trang ก็ห่างหายไปจากโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค แต่ก็ได้มอบหมายให้ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นตัวชูโรง สื่อสารตอบคำถามกับชาวทวิตเตอร์อย่างเหนียวแน่น

ไม่เพียงแต่สองขั้วการเมืองเท่านั้น แต่ Social Media ที่เปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนที่ความสนใจในเรื่องเดียวกันมาอยู่รวมกัน กลายเป็นคอมูนิตี้เล็กๆ ในเฟซบุ๊ก โดยมีเครื่องมือ Fan Page และ Group ที่ทำได้อย่างง่ายดาย

“จุดร่วม” ที่ผ่านมาของกลุ่มต่างๆ บนเฟซบุ๊กมักจะเป็นดารา นักร้อง วงดนตรี แต่ในสถานการณ์ของเมืองไทยเวลานี้ จุดร่วมความสนใจของผู้คนจึงเป็น “ประเด็น” ทางการเมือง เช่น ต่อต้านการยุบสภา, สนับสนุนการยุบสภา, ต่อต้าน นปช. เป็นต้น “ชื่อกลุ่ม” จึงเป็น คีย์เวิร์ดสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ และถูกใช้อย่างแพร่หลายในม็อบครั้งนี้

ความเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จที่สุดของฝ่ายต่อต้านเสื้อแดง ก็คือกลุ่ม “เสื้อหลากสี” เป็นผู้ริเริ่มชื่อกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ชื่อ “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคน …” ที่ต่อมาถูกเลียนแบบไปเป็นเรื่อง อื่นๆ นับร้อยชื่อไปแล้ว เริ่มด้วยกลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้าน ต่อต้านการยุบสภา” ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 4 แสนคนไปแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นให้มีกลุ่มชื่อคล้ายกันทางเดียวกันเช่น “มั่นใจว่าคน ไทยเกิน 20 ล้าน ต้องการยุบ “นปช.” ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 6 หมื่นคน

เมื่อการเมืองยังคงทวีความร้อนแรง เสื้อแดงยังชุมนุมไม่เลิก จนเกิดการปะทะกับทหาร จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต กลุ่มในโลกออนไลน์ที่ต่อต้านเสื้อแดงยิ่งแพร่ขยายมากขึ้น นอกจากกลุ่มเสื้อหลากสีแล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่รวมกลุ่มกัน เช่น “พวกเราชาวไทยไม่ยุบสภาและไม่เอาคนโกงชาติทักษิณกลับคืนมา” ที่มีมากกว่า 8 หมื่นคน และ “I Support PM Abhisit” ที่มีสมาชิกมากกว่า 5 หมื่นคน

ส่วนเสื้อแดง เมื่อกลุ่มเสื้อหลากสีจะมาแรงด้วยจุดเริ่มต้นจากชื่อกลุ่ม “มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคน ไม่สนับสนุนให้ยุบสภา” กลุ่มเสื้อแดงก็ได้ตอบโต้กลับ โดยตั้งกลุ่ม “มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคน สนับสนุนการยุบสภา” แม้ว่าก็มีสมาชิกแค่เพียงไม่ถึง 2 หมื่นคนเท่านั้น

ใช้แสดงจุดยืน

การใช้ประโยชน์จาก Social Media ครั้งนี้ ยังเป็นเรื่องของ “บทบาท” ที่เป็นมากกว่าการเป็นแค่ “เครื่องมือติดต่อสื่อสารส่งข่าวแบบเดิม” เพราะทั้ง Facebook และ Twitter ถูกนำมาใช้แสดงจุดยืน และความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านทั้งสี รูปโลโก้สัญลักษณ์ และคำสั้นๆ ที่เรียกว่า “Tag” หรือ “Hash Tag”

เนื้อหา Content จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เป็นข้อมูลเท่านั้น แต่มีได้ตั้งแต่ รูปประจำตัว (Avatar), คำสั้นๆ (Hash Tag), ชื่อกลุ่มที่เข้าร่วม “เนื้อหา” ที่โพสต์หรือทวีต ถูกส่งต่อหากันได้แบบ “One -to- Many” หลายทอดอย่างฉับไว ระบาดไปเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่หรือการแพร่ขยายแบบไวรัส (Viral)

อวตาร์ หรือ Display Picture ถูกนำมาใช้ในกระแสการเมืองอันเชี่ยวกราก เพื่อแสดงถึงจุดยืนทางการเมือง จะโดนใจคนรับ หรือเข้ากับสถานการณ์ ดูอย่างในกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดอยู่ในเวลานี้ จึงเกิดคิดคำต่างๆ ขึ้นมากมาย (อ่านล้อมกรอบ วาทกรรมประกอบ) จนจุดร่วมทางการเมืองขึ้นมา

#WeLoveThai คำยอดฮิตของชาวทวิตเตอร์ โดยมี ปรเมศร์ มินศิริ เจ้าของเว็บกระปุกดอทคอมเป็นผู้คิดขึ้น เพื่อแสดงออกไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง

ต่อมา คำนี้ถูกต่อยอดออกมาเป็นภาพวาดเรียบง่าย แต่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีผู้คิดค้นอวตาร์รูปดอกไม้สีขาวบนฉากพื้นสีดำ ตรงกลางดอกไม้เป็นสีธงชาติไทย แล้วเขียนว่าคนไทยรักกัน ได้รับการแพร่หลายไปทั่วอย่างรวดเร็ว ทุกคนแทรกคำว่า #WeLoveThai ในทุกครั้งที่โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กด้วย

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล ชาวทวิตเตอร์ร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้ง พร้อมใจกันโหวตคำว่า WeLoveKing เพี่อแสดบออกถึงความจงรักภักดี จนติดอันดับที่ 3 หลังจากที่เคยโหวคำว่า WeLoveKing จนติดอันดับ 1มาแล้วเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา

โลโก้ธงชาติ กำลังนิยมในเวลานี้ คือ การแปะโลโก้ รูปธงชาติ ผ่านเว็บ Twibbon ลงบนหน้า อวตาร์ เพื่อต้องการแสดงออกถึงแสดงออกถึงความ “รักชาติ”

พลังการบอกต่อ

ในวิกฤตม็อบเสื้อแดง พลังของ Social Network Facebook กับ Twitter ถูกนำมาใช้สนามรบทางความคิดผ่านข้อความ ข้อมูล รูปภาพ และคลิปข่าวต่างๆ เหนือกว่ายุคของโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นการบอกต่อแบบวันทูวัน หรือแม้แต่อีเมลก็ตาม การส่งต่อแต่ละครั้ง ยังต้องไล่พิมพ์ชื่ออีเมลเจาะจงผู้รับทีละคน

ในเฟซบุ๊ก การส่งไปยังทุกคนในลิสต์ของเราทำได้ด้วยการกดครั้งเดียว ไม่ต้องระบุผู้รับแต่อย่างใด นั่นทำให้ “วงรอบของการบอกต่อ” หรือ “Viral Process” ใช้เวลาสั้นลงมาก เกิดขึ้นได้หลายรอบในระยะเวลาสั้นๆ ขยายกลุ่มผู้รับรู้ได้กว่าการสื่อสารแบบเดิมๆทั้งหมดอย่างมหาศาล

ยิ่งในยุคของทวิตเตอร์ ด้วยแล้ว การ Retweet หรือ RT ข้อความ ยิ่งทำให้การบอกต่อกว้างและมีพลังมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่กลุ่มเพื่อนที่อยู่ในรายชื่ออย่างในเฟซบุ๊ก แต่ในทวิตเตอร์สามารถแพร่ไปยังคนจำนวนมาก ยิ่งถ้าใครมี Follow มาก ข้อมูลเหล่านั้นยิ่งถูกบอกต่อมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่แค่ One to Many แต่เป็น Many to Many

เหวง แจ้งเกิดที่นี่

คำว่า “เหวง” ที่แปลว่า พูดไม่รู้เรื่อง ที่กลายเป็นคำฮิตชั่วข้ามคืน ก็เกิดมาจากพลังทวิตเตอร์ เมื่อมีกลุ่มผู้เล่นแชตผ่านมือถือ BB บัญญัติศัพท์ใหม่เล่นๆ ให้ “เหวง” แปลว่า “พูดไม่รู้เรื่อง” เมื่อ สุทธิชัย หยุ่น นำไปบอกเล่าในทวิตเตอร์ คำว่า “เหวง” กลายเป็นคำฮิตทั่วเมืองในเวลาชั่วข้ามคืน

ล่าสุด ผู้ที่ส่งข้อความหมิ่นสถาบันฯ ที่ถูกจับได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากการเผยแพร่ และติดตามข้อมูล จนถึงตัวของผู้ทำผิด จากชาวเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รวมถึงกรณีพนักงานสาวของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ส่งข้อความหมิ่นสถาบันฯ มีผู้ติดตามจนเจอต้นตอ และถูกไล่ออกจากงานไปแล้ว รวมผู้ต้องหาล่าสุดที่ถูกตำรวจคดีพิเศษบุกจับกุมอย่างรวดเร็ว