@noppatjak 140 ตัวอักษรก็ฮอตได้

ทุกวันนี้การรายงานข่าวการเมืองจากผู้สื่อข่าวภาคสนามผ่าน “ทวิตเตอร์” กลายเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกันว่าใครเร็วกว่า สดกว่า และที่สำคัญคือมีผู้ Retweet หรือ Mention ถึงมากกว่า ซึ่งทวิตเตอร์ที่น่าจับตามองมากที่สุด จากการจัดอันดับของ Thailand Trending (http://www.lab.in.th/lab/thaitrend/) ในช่วงที่มีสถานการณ์รุนแรง คือ ”นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์” (@noppatjak) หรือ เอม ผู้สื่อข่าวสายการเมืองวัย 26 ปี จากช่องเนชั่น แชแนล ที่แรงถึงขั้นติดอันดับ 2 รองจาก สุทธิชัย หยุ่น (@suthichai) ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวเนชั่นและเป็นเจ้านายของเขาด้วย

“นักข่าวประจำม็อบ” คือฉายาของเอม ด้วยประสบการณ์ภาคสนามที่เกาะติดสถานการณ์ม็อบทุกสีอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์เสื้อเหลืองยึดทำเนียบในปี 2551 ไล่มาจนถึงเสื้อแดงยึดกรุงเทพฯ ในปีนี้ นับเป็นวลาถึง 3 ปีแล้วที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ชุมนุมม็อบทุกสี ด้วยสไตล์การรายงานข่าวที่ตรงไปตรงมา ชัดเจนกับสถานการณ์ที่พบเห็นเบื้องหน้า และยึดหลักที่ว่า “ไม่ได้ทำข่าวเพื่อเอาใจใคร” จึงทำให้เขา “ซื้อใจ” เหล่าแกนนำเสื้อแดงได้ รวมทั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวรายแรกๆ ของเนชั่นที่นำโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมาใช้เป็นช่องทางในการสื่อข่าว

“ผมเริ่มใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ครายงานข่าวครั้งแรกเมื่อคืนวันที่ 13 เมษายนปีที่แล้ว” เอมเล่า ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สงกรานต์เลือดของม็อบเสื้อแดง โดยเหตุผลที่ใช้ไม่ใช่เพื่อรายงานข่าว แต่เพราะ “ความเหงาและเครียด” ที่ไม่รู้จะหันไประบายกับใครได้เพราะคนรอบข้างล้วนเป็นสีแดง นาทีนั้นเขาตัดสินใจเลือกเฟซบุ๊กเป็นช่องทางระบายความรู้สึกและเล่าถึงสถานการณ์ขณะนั้นให้เพื่อนที่อยู่ในลิสต์ฟังมาเรื่อยๆ ส่วนทวิตเตอร์เขาเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2551 ที่เป็นการคุยเล่นในกลุ่มเพื่อนเพียง 20 คนเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา สุทธิชัยเห็นถึงบทบาทของทวิตเตอร์ที่มีต่อการรายงานข่าวจึงมีนโยบายให้นักข่าวในสังกัดทุกคน “ต้องมี” โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คทั้ง 2 ช่องทางไว้ใช้งาน ซึ่งเอมยอมรับว่าเขาเป็นคนแรกๆ ที่สุทธิชัยเรียกไปคุยเรื่องการนำทวิตเตอร์มาใช้รายงานข่าว โดยช่วงเริ่มต้นมีนักข่าวในเครือ 10 กว่าคนที่ใช้ และเพิ่มเป็น 150 คนในปัจจุบัน เหตุการณ์แรกที่ทำให้เขาเห็นผลชัดเจนว่าช่องทางนี้ส่งผลกับงานได้มากแค่ไหนคือตอนถูกควบคุมตัวในคุกที่กัมพูชาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากการไปทำข่าวศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยที่ถูกจับตัวเข้าคุกในกัมพูชาข้อหาขโมยแผนการบินของทักษิณ

เหตุการณ์ครั้งนั้นเขาได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนนักข่าวช่วยเจรจากับข้าราชการระดับสูงในกัมพูชาเพื่อปล่อยตัวเขาออกมา ซึ่งในคืนเดียวกันสุทธิชัยได้สัมภาษณ์เขาถึงเรื่องนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ ทำให้คืนนั้นมีคนตามเขาเพิ่มจาก 500 คนมาเป็น 1,500 คน ที่ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ตามเจ้านายของเขาและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่ไม่ก้าวกระโดด จนกระทั่งเริ่มมีเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีคนติดตามเขากว่า 8,000 รายแล้ว ขณะที่จำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กของเขาเพิ่มเป็นกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ติดตามจากทางทวิตเตอร์ และเขายอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองทำให้คนติดตามมากขึ้น เพราะอยากได้ข่าวจากภาคสนามจริงที่สดและเร็วกว่า SMS

แม้ว่าการใช้ทวิตเตอร์จะช่วยให้การรายงานข่าวรวดเร็วทันสถานการณ์มากขึ้น แต่เขาก็มองว่าเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน การเลือกใช้คำและอ่านอย่างดีก่อนตัดสินใจ “ทวีต” แต่ละครั้งของเขาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดต่อทุกฝ่าย และเพื่อไม่ให้กระทบต่ออาชีพนักข่าวของเขาเองด้วย นอกจากนี้ บางสถานการณ์การใช้ตัวอักษรเพียง 140 คำนั้นไม่เพียงพอต่อการอธิบายภาพตรงหน้าได้ดีเท่า “ภาพถ่าย” ดังนั้น “บีบี” จึงเป็นอาวุธหลักสำหรับนักข่าวกลางสนามรบกลางเมืองกรุงอย่างเขา ที่ “ยิง” ได้ทั้งคำพูดและภาพส่งตรงถึงทวิตเตอร์ได้ทันทีอย่างไม่พลาดเป้า สถิติในการทวีตอยู่ที่วันละประมาณ 70 ครั้ง

ส่วนการใช้เฟซบุ๊กนั้นเขาจะเลือกเฉพาะบางข้อความที่โพสต์บนทวิตเตอร์มาลิงค์ไว้บนนี้ด้วย โดยเลือกจากเนื้อหาที่สามารถเก็บไว้ได้นานกว่า เช่น คำพูดของแกนนำเสื้อแดงหรือนายกที่สามารถย้อนกลับมาอ่านใหม่ในเฟซบุ๊กได้ ส่วนในทวิตเตอร์เขาจะเลือกโพสต์ข้อความที่รายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว นอกจากนี้เขายังเขียนบล็อก (blog.noppajak.com) เพื่อเป็นพื้นที่รายงานข่าวได้อย่างละเอียดมากขึ้น พร้อมทั้งมีวิดีโอรายงานข่าวประกอบด้วย

ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่าการมีคนติดตามเป็นจำนวนมากขนาดนี้ทำให้เขาถูกจัดว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นทางการเมืองค่อนข้างสูง จึงต้องระมัดระวังในการวางตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแสดงความคิดเห็นและการแสดงความรู้สึกทางการเมืองทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพราะอาจส่งผลให้ถูกจัดไปอยู่ในสีใดสีหนึ่งโดยไม่ตั้งใจได้ ซึ่งไม่ใช่ผลดีสำหรับอาชีพนักข่าวสายการเมืองที่เขารัก

จากการชื่นชอบและติดตามจนนำมาสู่กลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่ก่อตั้งแฟนเพจบนเฟซบุ๊กในชื่อ “บ้านอิ่มเอม : Noppatjak Attanon Official Fan Page” สำหรับคนรักนักข่าวหนุ่มผู้มีบุคลิกคล่องแคล่วคนนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง รวมทั้งเป็นพื้นที่นำเสนอผลงานอื่นๆ ของเขา เช่น บทความ บทสัมภาษณ์ ผ่านหน้าแฟนเพจ ที่สำคัญเหล่าแฟนๆ ทั้งหลายยังคอยเป็นหูเป็นตาให้เขาได้ระวังตัวจากกลุ่มคนที่ไม่พอใจอีกด้วย แม้วันนี้จะยังมีสมาชิกไม่ถึง 100 คน แต่คาดว่าจะมีเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เพราะเพิ่งเปิดได้เพียงแค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น ซึ่งเขามีแผนรวมกลุ่มเพื่อนัดทานข้าวพบปะสังสรรค์กับกลุ่มแฟนเหล่านี้ด้วย

นอกจากจะเห็นผลชัดเจนในด้านจำนวนคนนิยมของเขาเองแล้ว เอมยังมองว่าโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมีบทบาทต่อการเมืองไทยอย่างมากในวันนี้ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการชุมนุมของ “เสื้อหลากสี” ที่มาจากการรวมตัวกันบนเฟซบุ๊กในกลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา” ที่ตอนนี้มีสมาชิกกว่า 4 แสนคนแล้วในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งเป็นการรวมตัวที่เร็วมาก โดยเขาประเมินว่า 60-70% ของกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่มาชุมนุมนั้นมาจากช่องทางดังกล่าว ที่ส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 25-35 ปี และมีการบอกต่อไปยังกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ช่องทางนี้แต่มีความเห็นเดียวกันแล้วมารวมตัวกันจนเป็นกลุ่มใหญ่ได้

และเมื่อถามถึงสิ่งที่เขาประทับใจจากการได้สัมผัสกับม็อบทุกสีอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานก็คือ ไม่ว่าจะสีไหนก็ยังมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแกนกลาง ซึ่งรวมถึง “สีแดง” ด้วยเช่นกัน

“เดินไปในม็อบเสื้อแดงก็ยังเจอคนที่ใส่เสื้อเรารักในหลวงอยู่เยอะนะ” เอมยืนยัน

Name : Noppatjak Attanon
Bio : นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ นักข่าวภาคสนามในเครือเนชั่น
Followers : 8,594
Following : 143
Tweets : 10,011

“นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์” ผู้สื่อข่าวภาคสนามวัย 26 ปี เลือดใหม่ของเครือเนชั่นที่น่าจับตา ด้วยการรายงานข่าวที่ตรงไปตรงมา เกาะติดสถานการณ์ม็อบทุกสีมาตลอด 3 ปี เขาสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย แต่เลือกเรียนด้านบริหารธุรกิจภาคอินเตอร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามความต้องการของทางบ้าน เมื่อเรียนจบจึงขอเดินตามความฝันของตัวเองโดยการเป็นนักข่าวสายการเมืองภาคสนาม อนาคตมีแผนเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ในต่างประเทศ