ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการประมูล ‘5G’ ของไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ โดยทาง กสทช. ได้เปิดให้ยื่นรับคำขอรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ในวันนี้ ไปดูกันบ้างว่ามีผู้ประกอบการรายไหนบ้างที่เข้ามายื่นคำขอเข้าประมูล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ มีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทั้งหมดจำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นเอกสารเป็นรายแรกในเวลา 11.00 น. ตามมาด้วยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเอกสารเป็นรายที่สองในเวลา 11.09 น.
สำหรับรายที่ 3 ที่เข้ามายื่นคำขอคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งถือเป็นรายที่หลายคนจับตามองที่สุด เพราะเพิ่งเปลี่ยน CEO ใหม่มาหมาด ๆ ไม่ถึงสัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็เข้ามาในเวลา 12.59 น. ตามด้วยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นเป็นรายที่ 4 ในเวลา 15.15 น. และปิดท้ายด้วยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่เข้ามายื่นในเวลา 15.35 น.
สำหรับคลื่นความถี่ที่นำออกมาประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาทต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ส่วนผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี
และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
ขั้นตอนหลังจากยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติ และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ในวันที่ 10 และ 14 ก.พ. 2563 โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563
#5G #AIS #True #Dtac #ToT #CAT #Positioning