เปิดแผน 2020 ของ “อริยะ พนมยงค์” กับความท้าทายบทใหม่ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในปีนี้บอกเลยว่า ขอพาช่อง 3 กลับมามีกำไร ขอลีนองค์กรให้คล่องตัวด้วยความเร็ว อาจมีปลดคนเพิ่มจากการยุติทีวีแอนะล็อก
Mission 2023 ต้องลีนองค์กรให้คล่องตัว
เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก… เริ่มต้นเข้าสู่ปี 2020 เป็นช่วงที่ทุกองค์กรต่างมีแผนธุรกิจเป็นของตัวเอง สำหรับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีอย่างหนัก มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มากมาย ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ได้ดึงตัว “อริยะ พนมยงค์” MD คนแรกของ LINE ประเทศไทย มานั่งแท่น กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์
การเข้าของอริยะถือเป็นการที่ช่อง 3 ได้เชิญคนนอกตระกูล “มาลีนนท์” ขึ้นบริหารในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะหวังกู้วิกฤตของช่อง จนถึงปัจจุบันอริยะได้อยู่ในครอบครัวช่อง 3 มาแล้ว 9 เดือน
แน่นอนว่าการเข้ามาบริหารช่อง 3 ต้องเจองานหินมากมาย ก่อนหน้านี้อริยะได้เจอภารกิจใหญ่ด้วยการผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ที่มีการปลดคนครั้งใหญ่เกือบ 200 คน รวมไปถึงการปรับโครงสร้างของช่อง มีการขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง 13 แฟมิลี่ และ 28SD เพื่อให้ความสำคัญกับช่อง 33HD เป็นช่องเดียว
ถ้าถามว่าตอนนี้ช่อง 3 “ลีน” หรือมีความหมายที่ว่าได้รีดไขมันส่วนเกินออกไปแล้วหรือยังนั้น อริยะบอกว่าขอลีนด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว
“Vision ใหม่ของ BEC World คือการเป็นผู้นำด้านคอนเทนต์ และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย โดยที่ Mission ภายในปี 2023 ต้องการปรับให้ BEC World เป็นองค์กรที่มีคคล่องตัว เคลื่อนไหวให้เร็ว ยกระดับ DNA ความคิดสร้างสรรค์ของช่อง 3 เพื่อส่งมอบความสดใหม่ด้วยคอนเทนต์ และใช้เทคโนโลยีนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ และต้องเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพทุกช่องทาง เพราะตอนนี้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการดูหลายหน้าจอ ต้องทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่มให้ได้”
6 ยุทธศาสตร์ ต้องครองใจคนทุกวัย
สำหรับแผนของอริยะในปีนี้ ที่จะกอบกู้วิกฤตของช่อง 3 มีด้วยกัน 6 ข้อ ครอบคลุมทั้งเรื่องคอนเทนต์ แพลตฟอร์ม ศิลปิน และธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ช่อง 3 มากขึ้น
1. New Media
มีการปรับสื่อแบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีแค่โฆษณา 15-20 วินาที แต่ต้องสร้างยอดขาย การเข้าถึงผ่านจอ และออนไลน์ได้มากขึ้น ช่อง 3 ได้เริ่มพัฒนารูปแบบสื่อที่สามารถขายสินค้าได้แบบ D2C ได้เริ่มทดลองแคมเปญแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการจับมือร่วมกันกับเซเว่นฯ ในลักษณะที่ว่าระหว่างช่วงเบรกโฆษณาจะมี QR Code ให้ผู้ชมสแกนแล้วได้รับส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าที่เซเว่นฯ เป็นรูปแบบการปรับสื่อให้เข้าหาลูกค้า และดึงทราฟฟิกไปที่เซเว่นฯ มากขึ้นด้วย
ความสำคัญของสื่อรูปแบบใหม่นี้คือการได้ “ดาต้า” ของผู้บริโภค หรือผู้ชม เป็นการหาพาร์ตเนอร์ร่วมกันในการทำแต่ละแคมเปญ จะเป็นช่องทางค้าปลีก หรือแบรนด์สินค้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับโจทย์ของแบรนด์ ทางช่อง 3 ได้มีเตรียมรองรับเรื่องระบบหลังบ้าน ระบบโลจิสติกส์ส่งสินค้าให้ได้ จะเปิดแคมเปญอย่างทางการสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
2. Go Inter
เป็นกลยุทธ์ในการส่งละครช่อง 3 ไปยังต่างแดนมากขึ้น โดยที่ในปี 2019 ได้ส่งละครโกอินเตอร์แล้ว 23 ประเทศในเอเชีย เจาะกลุ่มประเทศเกาหลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในปีนี้ได้เน้นตลาดประเทศจีน และอินโดไชน่ามากขึ้น ยิ่งหลังจากจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่าง WeTV ยิ่งช่วยตีตลาดประเทศจีนได้ง่ายขึ้น สร้างความรู้จักได้มากขึ้น ตั้งเป้าในปีนี้ต้องเติบโต 2 เท่า
3. พลิกโฉม Mellow สู่ 3+
จากแพลตฟอร์ม Mellow ที่เป็นเหมือนแพลตฟอร์มสำหรับดูทีวีออนไลน์ ทีวีย้อนหลังของช่อง 3 ที่เริ่มทำตลาดเมื่อปี 2560 ในปีนี้ได้ทำการยกเครื่องสู่ชื่อใหม่ว่า 3+
อริยะบอกถึงสาเหตุในการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้แบบง่ายๆ ว่า “ชื่อ Mellow ไม่ใช่ชื่อที่ทุกคนจะจำได้ แต่ 3+ จำง่าย เป็นเหตุผลง่ายๆ เลย” ส่วนคอนเทนต์ข้างในมีการปรับเล็กน้อย จะเป็นศูนย์รวมคอนเทนต์ของช่อง 3 ทั้งหมด ได้แก่ ละคร บันเทิง ข่าว จากเดิม Mellow มีแค่ละครรีรันเท่านั้น
3+ จะเป็นแพลตฟอร์มที่บุกด้านดิจิทัลของช่อง 3 จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงเดือนสิ้นเดือนมีนาคม มีการตั้งเป้าเติบโตขึ้น 2 เท่า
4. ปรับคอนเทนต์ ดึงไพรม์ไทม์ลากยาวตั้งแต่ 6 โมง – 4 ทุ่ม
มีการปรับผังรายการโดยเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์ที่เรียกว่าเป็นช่วงโกยเรตติ้ง โกยค่าโฆษณา แต่เดิมช่วงไพรม์ไทม์ของทีวีจะเป็นช่วงละครสองทุ่ม แต่ในปีนี้ช่อง 3 ปรับให้ยืดมาตั้งแต่ช่วง 6 โมง – 4 ทุ่มครึ่ง
โดยที่จะมีรายการเข้ามาใหม่เพื่อดึงผู้ชม ช่วง 6 โมงเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังกลับบ้าน ส่วนกลุ่มครอบครัวจะดูทีวีด้วยกัน และช่วง 1 ทุ่ม – 2 ทุ่ม จะเป็นช่วงพีคที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลากินข้าวพร้อมหน้ากัน คอนเทนต์จึงต้องเป็นตลาดแมสที่ทุกคนต้องดูได้
หลังจากนั้นช่วงหลัง 2 ทุ่ม เป็นช่วงของละคร ผู้ชมจะมีความแตกต่างกัน คอนเทนต์หลากหลาย มีการปรับรูปแบบการนำเสนอ ละครต้องเล่าเรื่องกระชับ เช่น ซ่อนเงารัก ดำเนินเรื่องเร็วขึ้น ส่วนช่วงเวลาอื่นอาจจะไม่ได้เปลี่ยนมาก
5. เพิ่มพื้นที่ให้ศิลปินบนหน้าจอ และออนไลน์
ในอดีตแฟนๆ ของศิลปิน ดาราจะได้ชมผลงานของดาราที่ตัวเองชอบก็ต่อเมื่อมีงานละคร หรือรายการทีวีเท่านั้น แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้ศิลปิน ดารามีช่องทางของตัวเองมากขึ้น ทางช่องก็ต้องปรับตัวให้ดารามีพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่ช่วงละคร
ปัจจุบันช่อง 3 มีศิลปิน ดาราในสังกัดเกือบ 200 คน พบว่าแฟนๆ อยากเห็นศิลปินไม่ใช่แค่ช่วงละคร จึงเริ่มสร้างรายการที่มีดาราเป็นผู้ดำเนินรายการมากขึ้น ได้แก่ The Brother รายการเรียลลิตี้ค้นหาไอดอลชาย ที่จับมือร่วมกับ i AM หรือชื่อเดิมคือ BNK48 Office มีติ๊ก เจษฎาภรณ์, มาริโอ้, อนันดา และนิชคุณ เป็นเมนเทอร์
รวมถึงมีการปรับทาเลนต์ของศิลปิน ดึงความสามารถอื่นๆ นอกเหนือจากแสดง สร้างโอกาสใหม่ๆ และพาศิลปินไปเติบโตในต่างแดนมากขึ้น
6. ต่อยอดจากดาต้า
จากรูปแบบของ D2C ที่ดูคอนเทนต์จากหน้าจอ แล้วดึงทราฟฟิกไปยังร้านค้าพันธมิตรผ่าน QR Code สิ่งที่ได้กลับมาคือดาต้าของผู้ชม เพราะแต่ก่อนได้เพียงแค่เรตติ้งของการชมรายการเท่านั้น ไม่สามารถได้ข้อมูลของผู้ชมเท่าไรนัก การที่ได้ดาต้ามาเพิ่มสามารถต่อยอดในการทำกิจกรรม หรือการปรับคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปีนี้ต้องมีกำไร!
ถ้าพูดถึงเรื่องผลประกอบการของช่อง 3 อริยะอาจจะต้องปาดเหงื่อเล็กน้อย แต่ก็ประกาศกร้าวว่า “ปีนี้จะต้องมีกำไร” โดยที่ผลประกอบการของ BEC World ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2019 ยังคงติดลบ -138 ล้าน ส่วนรายได้ทั้งปียังไม่เปิดงบประมาณ แต่ในปี 2020 จะพากลับมามีกำไรให้ได้
ปัจจุบันช่อง 3 มีสัดส่วนรายได้ 83% จากโฆษณาหน้าจอทีวี และ 17% จากธุรกิจอื่นๆ (ดิจิทัล ต่างประเทศ รูปแบบโฆษณาอื่นๆ) มีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2023 รายได้จากทีวีจะเหลือ 65% และอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 35%
อริยะบอกว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง “รูปแบบธุรกิจจะต้องเป็น Beyond TV ต้องสร้างธุรกิจใหม่อย่างยั่งยืน” และต้องสร้างการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ให้ได้
อริยะทิ้งท้ายว่า “ปีนี้ต้องมีกำไร ต้องเกาให้ถูกจุด อยากให้บุคลากรปรับตัวเร็วกว่านี้ เวลาไม่ได้เข้าข้างเรา ดำเนินธุรกิจพวกนี้ให้เร็วที่สุด ลีนของเรา คือความเร็ว เน้นความคล่องตัว เน้นกระชับ เพราะคนสมาธิสั้น ตอนนี้ไม่ได้มองแค่ทีวีเป็นคู่แข่ง แต่ทุกแพลตฟอร์มที่แย่งเวลาลูกค้าเป็นคู่แข่งทั้งหมด ในปีนี้อาจจะมีลดคนลงบ้างตอนปิดทีวีแอนะล็อก ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานที่อยู่ตามเสาที่ไม่ได้ใช่งานแล้ว”