เปิดใจ มืออาชีพ บี๋-อริยะ พนมยงค์ Next Step ช่อง 3 ต้องเป็นมากกว่าทีวี-ออนไลน์ บนความท้าทายและไว้ใจของตระกูลมาลีนนท์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “บีอีซี เวิลด์” หรือ “ช่อง 3” ตั้งแต่จบประมูลทีวีดิจิทัลปลายปี 2556 และคว้าใบอนุญาตมาได้ถึง 3 ช่อง ใครจะรู้ว่า นี่คือ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

เพราะผ่านมา 5 ปี มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็คแคป) ช่อง 3 จาก 101,000 ล้านบาท  ณ เดือนพ.ค.2562  เหลืออยู่ 17,500 ล้านบาท ความมั่งคั่งที่หายไปจากราคาหุ้นที่ลดลง และผลประกอบการปี 2561 ขาดทุน 330 ล้านบาท  ไตรมาสแรกปีนี้ก็ยัง ขาดทุนอีก 128 ล้านบาท

ทำให้ตระกูลมาลีนนท์ ต้องเปลี่ยนมายด์เช็ต ด้วยการเปิดทางให้มืออาชีพ เข้ามาบริหารแทน แม้พยายามมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่รายได้ยังคงรูดลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จนเกิดภาวะขาดทุนต่อเนื่อง 

ทำให้ต้องปรับโครงสร้างอีกระลอก นำมืออาชีพเข้ามาบริหารงานเป็นครั้งที่ 2 ด้วยการดึงตัว บี๋อริยะ พนมยงค์ เอ็มดีหนุ่มจาก ไลน์ ประเทศไทย ผู้ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นคนนี้ หลังรับตำแหน่ง President  หรือ กรรมการผู้อำนวยการ คนแรกของกลุ่มบีอีซี จึงเป็นจุดเริ่มของ Big step ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

“ผมตัดสินใจอยู่พักใหญ่ หลายคนทักว่าอยู่ดีๆ ทำไมถึงเลือกที่จะไป ทั้งๆที่ทำงานไลน์ ประเทศไทย ก็ไปได้ดี ช่วงที่ บีอีซี และช่อง 3  เรียกเข้ามาคุยด้วย ผมมองว่าน่าสนใจ” หากแจกแจงเหตุผล ก็มาจาก “ความท้าทาย” เป็นโจทย์ใหญ่ และต้องบอกว่า “ไม่ง่าย”

อีกปัจจัยมาจากการมีโอกาสได้พบกับครอบครัว “มาลีนนท์” ก็รู้สึกว่ามี Chemistry เข้ากันได้ คุยกันค่อนข้างลงตัว ถือเป็นจุดสำคัญ เพราะไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน สิ่งสำคัญที่ต้องดูคือเจ้าของ และครั้งนี้  คือการเปิดโอกาสสำคัญให้คนนอกเข้ามาในตำแหน่งบริหารสูงสุดครั้งแรก

ผมได้รับการชักชวนจากบอร์ดบริหาร และตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา การพบปะพูดคุยกับครอบครัวมาลีนนท์ ต้อง ทำการบ้านมากที่สุดในชีวิต ผมได้วางกลยุทธ์และนโยบายการทำงานไว้ในใจ เมื่อได้พูดคุยและเช็คเสียงกับสิ่งที่ต้องการทำในบีอีซี พบว่าครอบครัวมาลีนนท์เปิดโอกาสให้ทำงานเต็มที่ และรู้สึกว่าน่าจะทำอะไรที่ ช่อง 3 ได้อีกเยอะ จึงตัดสินใจมา

นอกจากนี้ ถือเป็นการเดินในเส้นทางมืออาชีพ สวนทางจากคนอื่น ที่ส่วนใหญ่ จะออกไปทำงานให้กับบริษัทต่างประเทศในระดับริจินัล แต่ “อริยะ” ต้องการกลับมาทำงานให้บริษัทไทย หลังทำงานให้ google บริษัทอเมริกา  จากนั้นก็ต้องการช่วยบริษัทเอเชีย จึงมาทำงานกับ LINE ประเทศไทย และมาถึงจุดที่ต้องนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาช่วยบริษัทไทย

7-8 ปี ที่ผ่านมามักมีโอกาสขึ้นเวที พูดเรื่อง  transformation , disruption , Innovation มาอย่างต่อเนื่อง และต้องคอยบอก บริษัทอื่นๆ ให้ปรับตัวเปลี่ยนแปลง วันนี้ในฐานะ กรรมการผู้อำนวยการ บีอีซี ก็มาถึงเวลา “ได้ลงมือทำจริงในสิ่งที่คอยบอกให้คนอื่นทำ”

อีกประการสำคัญเขามองว่าทั้ง “บีอีซี” และ “ช่อง 3” ยังมีพื้นฐานที่ดี Asset ที่มีคือ Content  ที่ทุกคนยอมรับว่า “ละคร” ช่อง 3 โดดเด่น และยอมรับในฝีมือผู้จัดของช่อง 3  รวมทั้งยังมี Asset “ดารา”  จำนวน 200-300 คนที่อยู่กับช่อง 3

ทั้งหมดเป็นเหตุผลและความท้าทายใหม่ ที่มาลงตัวกับ “บีอีซี” ของ “อริยะ”

หลังเริ่มงาน ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา รวมเวลา 1 เดือนเศษ กับการรับฟังความคิดเห็นของทีมงานเป็นหลัก  มาวันนี้  “อริยะ” พร้อมเปิดแผนขับเคลื่อน บีอีซี และช่อง 3  ภายใต้กลยุทธ์การทำงาน 6 เสาหลัก (strategic pillars)  คือ “อนาคต” ของช่อง 3

1. TV Plus สื่อออฟไลน์และออนไลน์ต้องเดินไปคู่กันเพราะไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ทำออนไลน์หรือออฟไลน์อย่างเดียวเพราะเวลานี้แม้แต่ยักษ์อีคอมเมิร์ซยังต้องซื้อธุรกิจรีเทล

“อริยะ” บอกว่า แม้เขาจะเป็นผู้บริหารที่มาจากฝั่งเทคโนโลยีแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการบริหารจะมุ่งไปที่ฝั่งดิจิทัลทั้งหมด เพราะ “ทีวีและออนไลน์” ต้องอยู่ด้วยกัน และหารายได้ ด้วยการ bundle ทุกช่องทาง

2. Distribution หรือ ช่องทาง หัวใจหลักของ ช่อง 3 คือ Content & Entertainment Platform ขณะที่แพลตฟอร์ม ทั้ง TV, OTT ในประเทศและต่างประเทศ คือ “ช่องทาง” ที่อนาคตยังเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงไม่สามารถยึดติดได้ว่า “ช่อง 3” คือ ทีวี  แต่คือธุรกิจ Content ที่สามารถกระจายเนื้อหาไปทุกช่องทาง ทั้ง ทีวีและโอทีที เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในแต่ละช่องทาง

พื้นฐานง่ายๆ คือ ผู้ชมหรือลูกค้าอยู่ตรงไหน เราก็ต้องอยู่ตรงนั้น โดยทีวียังเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญ  และช่อง 3 ไม่ใช่แค่ทีวี แต่เป็นมากกว่านั้น

3. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP)  ตลอดอายุ 49 ปี ของช่อง 3 มี IP จำนวนมาก กลุ่มหลัก คือ “ละคร” เมื่อมีกระแสละครดัง ระดับ talk of the town หรือละครแห่งชาติ ที่ทุกคนพูดถึง ตัวอย่าง บุพเพสันนิวาส ก็มีความต้องการของผู้ประกอบการที่สนใจนำ IP ไปใช้งานจำนวนมากเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสนใจของผู้คน จุดนี้เป็นสิ่งที่ช่อง 3 ต้องทำให้ดีขึ้น เพื่อโอกาสหารายได้เพิ่มขึ้น

4. กลุ่มศิลปิน ดารา ที่มีจำนวน 200-300 คน ถือเป็นพันธมิตรสำคัญของช่อง 3 ที่จะทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกัน เป็น ecosystem รูปแบบใหม่ ที่เติบโตไปด้วยกัน จากการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ให้กับ ศิลปิน พันธมิตร และบีอีซี

5. Content ปัจจุบัน “ละคร” เป็นคอนเทนต์หลักที่โดดเด่นและทำรายได้หลักให้ช่อง 3  แต่นอกจากนี้จะขยายเพิ่มเติมไปยังคอนเทนต์อื่นๆ ที่ช่อง 3 มีศักยภาพ และทำได้ดีโดยเฉพาะ “ข่าว” ซึ่งเป็นอีกพื้นที่สำคัญของแหล่งรายได้  รวมทั้ง กีฬาและ บันเทิง รวมทั้งการสร้างคอนเทนต์ในพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มเติม   

6. Technology เป็นพื้นฐานสำคัญในอนาคตของ บีอีซี  โดยเฉพาะ “แฟลตฟอร์ม” ทั้ง Mello ที่มีอยู่ในปัจจุบันและการทำงานร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ

วางเป้า 3-4 ปี ต้องเห็นรายได้ธุรกิจใหม่ 

ปัจจุบันรายได้หลักของ บีอีซี มาจาก “ทีวี” 90%  แต่หลังจากวางยุทธศาสตร์ 6 เสาหลัก การขยายธุรกิจและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจทีวี แผนดำเนินการที่จะเป็นการทรานส์ฟอร์ม ช่อง 3 ไปยังยุทธศาสตร์ใหม่จะสรุปภายในไตรมาส 2 และเริ่มปฏิบัติในไตรมาส 3

กระบวนการเปลี่ยนแปลงการขยายธุรกิจทั้ง 6 เสาหลัก จะเริ่มเห็นความชัดเจนของโปรดักท์และบริการใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตัวเลขรายได้ เชื่อว่า 3-4 ปีจากนี้  ธุรกิจที่ไปต่อไปในแต่ละ 6 เสาหลัก จะสร้างรายได้ให้องค์กรเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 10%  ที่กำหนดตัวเลขสัดส่วนไว้เช่นนั้น เพราะหากเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า 10% องค์กรและคนทำงานจะไม่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน

“ในธุรกิจเทคโนโลยี การพัฒนาโปรดักท์และเซอร์วิสใหม่ๆ ออกมาทำตลาด มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ หากไม่สำเร็จก็ทิ้งและพัฒนาใหม่ หลักคิดเดียวกันการวางกรอบสร้างแหล่งรายได้ใหม่ไว้ 6 เสาหลัก ก็อาจมีทั้งที่เวิร์กและไม่เวิร์ก หากไม่เวิร์กก็ปรับและพัฒนาใหม่”

คนเดียวไม่รอด ต้อง Partnership และ Consolidation 

การทำงานในทุกๆ อุตสาหกรรม วันนี้ จะมี 2 คำ ที่จะเห็นมากขึ้น คือ Partnership และ Consolidation  โดย Partnership นั้นจะไม่ใช่แค่จับมือถ่ายรูปออกสื่อเท่านั้น แต่

Partnership ของ บีอีซี จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนธุรกิจ  เพราะในยุคนี้ “การเดินคนเดียวอาจไปไม่รอด และเป็นสิ่งทุกอุตสาหกรรมเห็นเหมือนกัน”

เช่นเดียวกับ Consolidation ที่เป็น Global Trend เพราะโอกาสที่จะไป “คนเดียว” ยากขึ้นเรื่อยๆ  สะท้อนได้จากทิศทางที่ผ่านมา จะเห็นการ “ควบรวม” ของธุรกิจต่างๆ มากขึ้น  จากเดิมที่อาจเป็นคู่แข่งหรือพาร์ทเนอร์กันก็ได้

นโยบายการ Consolidation  เป็นแผนระยะยาว ทั้งการวางกลยุทธ์ด้านแพลตฟอร์มและพันธมิตร ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบีอีซี  ดีลที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นการจับมือร่วมกัน “ทรานส์ฟอร์ม” ธุรกิจของช่อง 3  หากทำแล้วต้องเห็น “อิมแพ็ค” และเป็นบิ๊กสเต็ปสำคัญชองกลุ่มบีอีซี

2 โจทย์ใหญ่ปี 62

สำหรับการทำงานปีนี้ มี 2 โจทย์สำคัญ คือ Short term การทำให้ตัวเลขรายได้ให้กลับมา “บวก” หลังจาก บีอีซี เผชิญตัวเลข “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

แผนระยะสั้นต้องทำให้ บีอีซี  มีรายได้เป็นบวก เพื่อส่งสัญญาณให้กับตลาด พันธมิตร พนักงาน ผู้จัด  และทุกคน ที่ทำงานกับช่อง 3 ว่า เรากำลังกลับมา”

สิ่งที่ทำได้เร็ว คือ การเร่งสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว จากแพลตฟอร์มออนไลน์ และการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชัดเจนและเป็นสิ่งที่ บีอีซี ทำได้ดี

อีกโจทย์คือการวางกลยุทธ์ “ระยะยาว” ที่ต้องเริ่มลงมือจากวันนี้เช่นกัน  ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมกับพันธมิตร หรือการควบรวมกิจการ

ช่อง 3 ต้องกลับมาท็อปฟอร์ม

การเข้ามานำทัพช่อง 3 ของ “อริยะ” เป็นจังหวะที่มีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เปิดโอกาสให้ทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” ได้  และรู้กันไปแล้วว่า บีอีซี คืนไลเซ่นส์2 ช่อง  คือ ช่อง 13 Family และช่อง 28 

อริยะ บอกว่าสาเหตุของการตัดสินใจคืน 2 ช่อง  เพื่อต้องการกลับมาโฟกัสช่อง 3 HD  หรือ ช่อง 33  ที่เป็นช่องหลัก เพราะมีฐานผู้ชมแข็งแกร่ง

แม้ช่อง 28  จะมีเรตติ้งอยู่ในกลุ่มท็อปเทน  แต่การตัดสินใจต้องมองภาพรวม เม็ดเงินโฆษณาถดถอยทุกปี  อีกทั้งต้องมองไปล่วงหน้า 10 ปี  เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น  จึงเป็นเหตุผลในการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง เพื่อหันมาทุ่มเทให้กับช่อง 3 ด้วยเป้าหมาย Make Channel 3 Great Again

ส่วนเรื่องของการลดคน ที่เป็นผลจากการคืนช่องนั้น อริยะ บอกว่าไทม์ไลน์การคืนช่องยังต้องใช้เวลาอีก 4 เดือน  ช่วงนี้เป็นจังหวะจัดทำแผนพนักงานของทั้งช่อง 13 และ ช่อง 28 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ใน 2 ช่องนี้ต้องออกทั้งหมด เพราะต้องกลับไปดูที่กลยุทธ์หลักของช่อง 3 กำลังจะขับเคลื่อน  เมื่อมีความชัดเจนเรื่องกลยุทธ์ก็สามารถสรุปเรื่องกำลังพล เร็วเช่นกัน  แต่สิ่งสำคัญไม่ว่าใครจะอยู่หรือจากไป เป็นสิ่งที่บีอีซี ต้องดูแลทุกคนให้ดี จากปัจจุบันมีพนักงาน 1,700 คน

การเข้ามานำทัพ “บีอีซี” ในจังหวะที่สามารถ “คืนใบอนุญาต” ทีวีดิจิทัลได้ ในมุมของ “อริยะ” มองเป็นโอกาส เพราะถือเป็นจุดที่ “พลิกล็อก” สำหรับช่อง 3 และหากสามารถเดินต่อได้ถูกทาง ก็น่าจะเห็นสัญญาณที่ดี

เชื่อว่าหากเดินตามกลยุทธ์ 6 Pillars ที่วางไว้ได้  เพราะยังอีกหลายพื้นที่ที่ ช่อง 3 ยังไม่ได้เข้าไปหาประโยชน์อย่างเต็มที่  โดยเฉพาะฝั่งออนไลน์ที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก วันนี้ ช่อง 3 ไม่ได้มองช่องทางการหารายได้เพียงแค่ทีวี แต่ยังมีพื้นที่ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสื่อให้สร้างรายได้

หากเราสร้างบิสสิเนส โมเดล การหารายได้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เราจะเป็นผู้นำ

ปรับผังช่อง 3 ไตรมาส 3 

ตามกรอบเวลาการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง จะมีถึงเดือน ส.ค. ก่อนจะยุติดออกอากาศทั้ง 2 ช่อง ในจังหวะเวลานี้ จึงเป็นช่วงการดูผังรายการของช่อง 13 และ ช่อง 28  ว่าจะนำรายการใดนำมาไว้ที่ ช่อง 3  ซึ่งจะมีการปรับในช่วงไตรมาส 3 นี้เช่นกัน  นอกจากจะมีทั้งรายการของ 2 ช่องที่คืนใบอนุญาตแล้ว จะมีรายการใหม่เข้ามาเพิ่มเช่นกัน 

หากมองภาพรวมของทีวี หรือ Competitive Landscape ในประเทศไทย แม้ทีวีดิจิทัล คืนใบอนุญาต 7 ช่อง ยังเหลือผู้ประกอบการอีก 15 ช่อง หากมองในมุมการแข่งขัน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ  เพราะช่องเรตติ้ง “ท็อปเทน” ยังเป็นช่องเดิม ครอบคลุมผู้ชม 85% และครองสัดส่วน 80% ของเม็ดเงินโฆษณา

ดังนั้นการแข่งขันของทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่จึงไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะเพิ่มดีกรีมากขึ้น เพราะทุกช่องที่เหลือต้อง “อยู่ให้รอด” ช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นกลยุทธ์ของแต่ละช่องออกมาชัดเจนมากขึ้น

ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาโดยรวมในอุตสาหกรรมสื่อ “หดตัวลง” ทุกปี  ไม่ใช่มาจากปัญหาเรื่อง สื่อดิจิทัลมา Disrupt สื่อออฟไลน์   แต่ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ เมื่อกำลังซื้อลดลงยอดขายสินค้าลดลง ก็ต้องลดต้นทุน สิ่งที่ตัดง่ายที่สุดในทุกยุคทุกสมัย คือ “งบโฆษณา” แม้บางส่วนจะไหลมาที่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ออนไลน์ช่อง 3 ยอด 6,000 ล้านวิว ติดกลุ่มท็อป

ในส่วนของออนไลน์ เมื่อดูจากยอดคนดูผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ของช่อง 3 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 6,000 ล้านวิว ถือเป็นข้อมูลขนาดใหญ่มาก เป็นตัวเลขที่อยู่อันดับท็อปของประเทศไทย และสร้างความอุ่นใจในการต่อยอดหารายได้

แม้ยอดวิวจะเยอะ แต่ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนแค่ 5% ของรายได้ทั้งหมด ถือว่ายังทำรายได้ได้น้อย หลังจากนี้ต้องทำให้ดีมากขึ้น

“คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่า ในโลกออนไลน์ ช่อง 3 มีฐานผู้ชมขนาดใหญ่  หลังจากนี้จึงเป็นอีกหน้าที่ต้องสร้างความเข้าใจให้นักการตลาดเห็นว่า กลุ่มลูกค้าที่สินค้าและแบรนด์ต่างๆ ต้องการ อยู่กับ ช่อง 3 แต่บริโภคคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มที่ต่างกันตามพฤติกรรมแต่ละวัย”

เป้าหมายของช่อง 3 คือการเป็นที่ 1 ไม่ใช่แค่โลกทีวีอย่างเดียว แต่ต้องไปได้ไกลมากกว่านั้น นั่นคือในโลกออนไลน์ ที่ตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า ช่อง 3 มียอดวิวออนไลน์กว่า 6,000  ล้านวิวในปีที่ผ่านมา วันนี้อันดับ (ranking) ของเรตติ้งช่อง 3 เป็นเบอร์ 2 แต่นั่นคือผู้ชมที่ดูผ่านจอทีวีเท่านั้น แต่หากนำยอดออนไลน์มารวมด้วยจะมีฐานผู้ชมที่เพิ่มขึ้น แต่อันดับเรตติ้งก็ไม่สำคัญเท่าการแปลงสิ่งที่มีอยู่กลับมาเป็น “รายได้” และบีอีซี จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด

ออฟไลน์-ออนไลน์ไปด้วยกัน

กลยุทธ์ของบีอีซี ต่อจากนี้จะมุ่งไปที่คอนเทนต์ “ออฟไลน์และออนไลน์” โดยคิดมาจากพื้นฐานของผู้บริโภค  มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ 2 กลุ่ม และมีพฤติกรรมชัดเจน

อายุ 35 ปีขึ้นไป  คิดเป็นสัดส่วน 73% ของผู้ชมผ่านหน้าจอทีวีช่อง 3  ดูทีวีเป็นสื่อหลักที่บริโภคมากสุดใน 1 สัปดาห์

อายุ 34 ปีลงมา สัดส่วน 71-80%  ของผู้ชมดูคอนเทนต์ช่อง 3 ผ่านสื่อออนไลน์  แต่สื่อหลักที่บริโภคมากสุดใน 1 สัปดาห์ จะมีทั้งออนไลน์และทีวี

“พฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของผู้ชมวันนี้เปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่บริโภคไม่ได้เปลี่ยนไป ต้องถือเป็นโอกาสของช่อง 3 ที่ผู้ชมยังนิยมดูละครเป็นหลัก และเราโดดเด่นในเรื่องนี้มากที่สุด”

สำหรับความเชื่อที่ว่า OTT จะมา Disrupt ทีวี  หากดูจากพฤติกรรมผู้ชมคอนเทนต์ทีวี 2 กลุ่มหลัก OTT วันนี้ก็ไม่ใช่ “อนาคต” ของทีวี อย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วก็คือการเสพย์คอนเทนต์เดียวกันไม่ว่าจะมาจากช่องทางใด  แต่แตกต่างกันที่พฤติกรรมการบริโภค

จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ “ทีวี” ยังต้องมีอยู่ การดูผ่านออนไลน์ ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะจ่ายได้ ขณะที่ “ทีวี”ยังเป็นช่องทาง”ดูฟรี” ดังนั้นทั้งออฟไลน์และออนไลน์จะต้องไปด้วยกัน

หากทรานส์ฟอร์มสำเร็จถือเป็น “รายแรก”

ก่อนตัดสินใจมาร่วมงานกับ บีอีซี  อริยะ บอกว่าได้พยายามหารูปแบบการทรานส์ฟอร์มทีวี ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เพื่อศึกษาแนวทางการทำงาน แต่ก็ไม่มีตัวอย่างให้ดู

การที่ต้องก้าวมาเป็นแม่ทัพ ช่อง 3  นอกจากการสร้างรายได้ระยะสั้นและวางแผนระยะยาวแล้ว การเดินหน้า  transformation องค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยาก ในอุตสาหกรรมทีวีเอง ยังไม่มีใครทรานฟอร์มได้สำเร็จ จึงเป็นอีกความท้าทาย

หากทรานส์ฟอร์มช่อง 3  ให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้ จะถือเป็นรายแรกของของโลก และสามารถใช้เป็น case study ช่องทีวีต่างๆ ทั้งในไทยและทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่เช่นกัน

ต้องเริ่มด้วยการ “ฟัง”

หากมองเรื่องประสบการณ์การทำงานในวัยอายุ 45 ปี  “อริยะ” บอกว่าเป็นวัยที่สามารถบริหารคนสื่อสารได้กับทั้งผู้ใหญ่ และคนรุ่นใหม่  เพราะมีประสบการณ์การทำงานที่เรียนรู้เรื่องคนมามากพอสมควร  เพราะทำงานมากับทุกสัญชาติ  จึงสามารถทำงานและเข้าใจกับทุกกลุ่มได้

ตามหลักการทำงานแล้วก็คงต้องเริ่มจากการ “ฟัง” ให้มากที่สุดก่อน  เพราะหากไม่เริ่มต้นจากการฟัง แต่ลุยเปลี่ยนทุกอย่าง คนทำงานคงไม่เคารพการตัดสินใจ

แต่การเข้ามาทำงานในสถานการณ์ที่ “ทุกคน” คาดหวังจะเห็นผลที่เร็ว ปี 2562 ถือเป็นปีที่สำคัญ อย่างน้อยก็ต้องทำให้เห็นผล

โดยปกติการทำงาน 3 เดือนแรกเป็นช่วง Honeymoon เป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้ธุรกิจ ทีมงาน และวางกลยุทธ์ หลังจากนั้นก็ต้องลงมือทำแผน  เมื่อไรที่เริ่มเห็นผลที่ดี ก็จะมี momentum เริ่มสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อในสิ่งที่พูดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้จริง และทำให้เกิดพลังในการทำงาน

ดังนั้นการทำงานในปีแรกเป็นปีที่สำคัญ  ต้องทำทั้งเรื่องการวางแผนกลยุทธ์  แผนการฟื้นตัวระยะสั้น การบริการจัดการเรื่องบุคลากร เป้าหมายที่ต้องการเห็น คือแผนที่ลงมือทำเริ่มเห็นผล และส่งสัญญาณบวก จากการเปลี่ยนแปลงที่ดี  ถือเป็นกำลังใจให้พนักงานบีอีซี ที่อยู่กันมานาน มีความรักความผูกพันกับช่อง 3  และทุกคนอยากเห็น “บีอีซี” กลับมาเติบโตอีกครั้ง.