Google ประเทศไทยพอใจ Google My Business (GMB) ช่วยผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า ดันธุรกิจ SME เติบโต ช่วยกระตุ้นยอดขาย สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า การช่วยเหลือ SMEs ให้มีการเจริญเติบโตในโลกออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักของ Google ที่ผ่านมาจึงมีการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงผู้บริโภคให้เข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั้งยังง่ายกับการค้นหา โดยในช่วงปลายปี 2017 Google ออก Google My Business (GMB) โดยวางตัวให้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยธุรกิจที่มีหน้าร้านโดยเฉพาะ SME สามารถสร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้ง่ายๆ ผ่านการใช้งานในมือถือสมาร์ทโฟน และบนคอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการสร้างเรื่องราวเพียงไม่กี่ขั้นตอนและใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ซึ่งผลปรากฏได้รับความพึงพอใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก มีลูกค้าสมัครเข้าใช้งานหลากหลายธุรกิจและบริการ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Google ประเทศไทย ระบุว่า ผลจากการที่ผู้บริโภคในปัจจุบันใช้ออนไลน์ในการค้นหาสิ่งที่ต้องการ ก่อนตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการ โดยคำค้น “ใกล้ฉัน” ในปี 2019 มีจำนวนการค้นหาที่เติบโตขึ้นเกือบเท่าตัว GMB จึงถือเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้สามารถค้นหาข้อมูลผ่าน Google Search และ Google Maps ของผู้บริโภคได้พบกับธุรกิจที่เข้าร่วมกับ GMB โดยเจ้าของธุรกิจสามารถใส่ข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านเนื้อหาและภาพลงไป สร้างความโดดเด่นกว่าการค้นเจอโดยทั่วไป เมื่อเจอแล้วยังสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม หรือรับข้อมูลความคิดเห็น ทั้งยังได้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญคือการอัพเดทข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือ เวลาเปิด-ปิด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ผู้บริโภคต้องการรู้เมื่อค้นหาบริการต่างๆ อย่างทันท่วงที
ข้อมูลจากการสำรวจยังพบอีกว่า ธุรกิจที่ใส่รูปภาพลงไป จะได้รับคำขอเส้นทางจากลูกค้าเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ลูกค้า 90% จะเลือกใช้บริการในธุรกิจที่มีรูปภาพบน Google Search และ Google Maps โดยทุกเดือน Google ช่วยเพิ่มยอดเข้าชมเว็บไซต์และธุรกิจมากถึง 1 แสนล้านครั้ง ทั้งยังช่วยให้ลูกค้าติดต่อธุรกิจได้โดยตรงมากกว่า 3 พันล้านครั้ง โดย 66% ให้ความสำคัญกับการอ่านรีวิวก่อนไป
ไมค์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจที่ใช้บริการ GMB ประสบความสำเร็จคือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้บริโภคนั่นเอง ดังนั้น ธุรกิจที่จะสมัครใช้บริการ GMB จำเป็นต้องได้รับการยืนยันตัวตนพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้อง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Google ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์ ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อลงทะเบียนและยืนบันบัญชีใน Google My Business
“ความสำเร็จที่ค้นพบ ทำให้เราตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีนี้ 2020 นี้จะมีธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย มาใช้บริการ Google My Business 1 ล้านกิจการภายในปีนี้”
ด้าน กมลเลศน์ กอสกุล ผู้บริหาร ร้านแดงอาหารทะเล จ.สมุทรสงคราม ทายาทรุ่นที่ 2 กล่าวว่า แม้จะเป็นร้านอาหารที่อยู่มานาน 40 ปีลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำที่กินกันมานาน แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วม GMB ทำให้คนรู้จักร้านมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้นยังแสดงตัวตนของร้านแดงอาหารทะเล ท่ามกลางร้านอาหารที่มีชื่อใกล้เคียงกัน ด้วยรูปภาพ การรีวิวของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจริง
ส่วน สุรกานต์ อังสุโชติ เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ Hidden Tree Garden จ.สมุทรสงคราม บอกว่า รู้จักและใช้ใช้ Google Search มาตั้งแต่ช่วงเรียนหนังสือ เมื่อมาเปิดร้านได้รู้จัก GMB จึงสมัครบริการ โดยใช้มาประมาณ 1 ปี ได้ผลดีมีการปักหมุดสถานที่ตั้งของร้านค้าบน Google ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นนักท่องเที่ยวสามารถหา Hidden Tree Garden จากคำว่า “ร้านกาแฟใกล้ฉัน” และ “ร้านกาแฟในอัมพวา”
สุรกานต์ และ กมลเลศน์ ยังบอกอีกว่า เขาชอบรีวิวจากลูกค้าใน GMB เพราะเป็นความคิดเห็นที่มาจากความจริง ซึ่งคำติชมเหล่านั้นเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นความจริง เพื่อที่จะได้นำมาแก้ไข พัฒนา ปรับปรุงร้านให้ดีขึ้น
ทสม์ เจริญช่าง เจ้าของธุรกิจ สวนมะนาวโห่ลุงศิริ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า สวนมะนาวโห่ลุงศิริ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สืบทอดมาจากรุ่นคุณพ่อ-คุณแม่ โดยได้เริ่มใช้ Google My Business เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเป็นคนชอบด้านไอที จึงเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ปัจจุบันสวนมะนาวโห่ มีทั้งสวนปลูกมะม่วงหาวมะนาวโห่ ร้านจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ร้านกาแฟ และกิจกรรมท่องเที่ยว โดยหลังจากใช้ Google My Business ทำให้มีคนรู้จักส่วนของเขามากขึ้น