วิกฤตซ้ำ! “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” วอนพนักงาน 27,000 คนลาหยุดงาน หลังยกเลิกไฟลท์เข้าจีน 90%

สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิค ของฮ่องกงตกอยู่ในวิกฤตซ้ำซ้อน หลังเหตุไวรัสโคโรนาทำให้ต้องยกเลิกไฟลท์เข้าประเทศจีน 90% หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของเที่ยวบินทั้งหมดของสายการบินนี้ ล่าสุดคาเธ่ย์ แปซิฟิคขอให้พนักงาน 27,000 คน “ลาหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง” เพื่อช่วยองค์กรรักษากระแสเงินสด ซีอีโอเผย วิกฤตต่อเนื่องประท้วงฮ่องกง-ไวรัสโคโรนาเทียบเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2009

Augustus Tang ซีอีโอ คาเธ่ย์ แปซิฟิค เปิดเผยในคลิปวิดีโอสื่อสารถึงพนักงานในองค์กรถึงมาตรการรักษากระแสเงินสด ของบริษัท เช่น ขอให้ซัพพลายเออร์ลดราคาสินค้า หยุดการจ้างงานเพิ่ม ชะลอการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และหยุดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด

สำหรับการขอให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง คาเธ่ย์ฯ แจ้งไว้ในแถลงการณ์ถึงพนักงานว่า บริษัทจะยินดีอย่างยิ่งหากพนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 30 มิ.ย. 2020

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2020 สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค เพิ่งประกาศแผนระงับไฟลท์บิน 30% ของทั้งหมดในช่วง 2 เดือนข้างหน้า โดยไฟลท์ที่ระงับไปคือเที่ยวบินประมาณ 90% ที่เคยบินเข้า-ออกจีนแผ่นดินใหญ่

ประชาชนในกวางโจวสวมหน้ากากเพื่อป้องกันไวรัส (Photo by Stringer/Anadolu Agency via Getty Images)

คาเธ่ย์ฯ ต้องรับศึกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีก่อน หลังจากการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงเป็นบางครั้งส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวในประเทศเกิดปัญหา เมื่อผสมโรงกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาซึ่งวันนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมเกือบ 500 ราย และทางการฮ่องกงยังประกาศให้ผู้โดยสารทุกรายที่เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ต้องถูกกักตัวเพื่อควบคุมโรค 14 วัน ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่ปกติจะเข้ามาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินฮ่องกงลดลงไปอีก

“นี่เป็นหนึ่งในเทศกาลตรุษจีนที่สาหัสที่สุดที่เราเคยเผชิญ” Tang กล่าวในคลิปวิดีโอ “เราไม่รู้ว่า (ปัญหา) จะเกิดขึ้นยาวนานแค่ไหน ด้วยการคาดการณ์ที่ไม่แน่นอน ทำให้การรักษากระแสเงินสดไว้คือกุญแจในการป้องกันธุรกิจของเรา”

Tang กล่าวด้วยว่า การขอให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างนี้ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับแต่บริษัทสนับสนุนอย่างยิ่งให้ลาหยุด

“เราได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากพนักงานของเราในปี 2009 ซึ่งช่วยสร้างความแตกต่างอย่างมาก สถานการณ์ขณะนี้วิกฤตไม่ต่างกัน และผมขอร้องให้คุณช่วยเหลือองค์กรในอนาคต” Tang กล่าวในคลิปวิดีโอ

ในแง่ผลประกอบการของบริษัท นักวิเคราะห์มองว่าสายการบินจะขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ก่อนจะกลับมาทำกำไรในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเทียบเคียงจากสถานการณ์โรคซาร์สเมื่อปี 2003 ซึ่งการเดินทางจะกลับมาคึกคักหลังจัดการโรคระบาดได้

Source