สายการบินดัง Cathay Pacific ช้ำใจประกาศยอดผู้โดยสารรายเดือนหดตัวทั่วโลกติดกันหลายเดือน โดยเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางเข้าเกาะฮ่องกงนั้นลดลง 46% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โชคยังดีที่สัดส่วนลูกค้าเปลี่ยนเครื่องหรือ transit เติบโตขึ้น ทำให้ Cathay Pacific พอจะหายใจหายคอได้บ้างหลังจากรับพิษการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนที่รุนแรงในฮ่องกงช่วงเดือนพฤศจิกายน
Cathay Pacific ไม่ใช่สายการบินเดียวที่รับผลกระทบเต็มที่จากม็อบฮ่องกง ยังมีอีกหลายสายการบินฮ่องกงที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่นสายการบิน Hong Kong Airlines ที่ถูกลุ้นว่าอาจตกอยู่ในภาวะล้มละลายหากไม่สามารถกู้สถานการณ์ได้ดีพอ
ในภาพรวม ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงรายงานว่าจำนวนผู้เดินทางเข้าฮ่องกงช่วง พ.ย. 62 ลดต่ำย่ำแย่ที่สุดที่สุดในรอบ 10 ปี คำนวณยอดลดลงได้ 969,000 ราย เรียกเป็นตัวเลขกลมๆ ว่านักท่องเที่ยวฮ่องกงหายวับไปเกือบ 1 ล้านราย
เครื่องบินไม่เต็ม
ภาวะโคม่าของ Cathay Pacific เห็นชัดจากสัดส่วนผู้โดยสารรายเดือนที่ลดลงต่อเนื่องทั่วโลก ซึ่งลดลง 9% เหลือ 2.62 ล้านคน โดยอัตราที่นั่งโดยสารที่จำหน่ายได้นั้นลดลงเหลือ 80.1% จากที่เคยทำได้ 83.3%
Ronald Lam Siu-por หัวหน้าฝ่ายลูกค้าและฝ่ายการพาณิชย์ของสายการบิน Cathay Pacific กล่าวว่าเดือนพฤศจิกายนนั้นเป็นเดือนที่ “ท้าทายมาก” สำหรับ Cathay Pacific เหตุผลสำคัญคือ sentiment หรืออารมณ์ของตลาดในธุรกิจการเดินทางนั้น “อ่อนแอ” ต่อเนื่อง โดยรวมแล้วความคาดหวังของ Cathay Pacific คือส่วนที่เหลือของปี ซึ่งจะยังคงท้าทายอย่างมากไม่แพ้กัน
ทางรอดที่ Cathay Pacific มองคือการขยายตลาดผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของฐานผู้โดยสารรวม แต่แม้จะพยายามเท่าไร สายการบินหลักของฮ่องกงก็รู้ชะตากรรมของตัวเองดี จนออกมาคาดการณ์ผลกำไรในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ว่าจะ “น้อยกว่าครึ่งปีแรก อย่างมีนัยสำคัญ“
ยอดทราฟฟิกสู่ฮ่องกงช่วงพฤศจิกายนของ Cathay Pacific ที่หดตัวมากกว่า 46% ถือว่าหนักหนากว่า 35% ที่หดตัวมาก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม ขณะที่สิงหาคมและกันยายน มียอด inbound traffic หดตัว 38% ต่อปี
Hong Kong Airlines ถูกยึดเครื่องบิน
นอกจากจ่าฝูงในตลาดการบินฮ่องกงอย่าง Cathay Pacific ผู้เล่นเบอร์รองอย่าง Hong Kong Airlines ตกเป็นข่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่สนามบินฮ่องกงได้ยึดเครื่องบิน 7 ลำ หลังจากสายการบิน Hong Kong Airlines ไม่สามารถชำระเงินค่าธรรมเนียมบางอย่างได้
สถานการณ์ของ Hong Kong Airlines ถือว่าหนักกว่า Cathay Pacific ซึ่งรู้ตัวและชิงปรับโครงการองค์กรและรัดเข็มขัดจริงจังตั้งแต่ปี 2560 เวลานั้น Cathay Pacific ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงาน 600 ตำแหน่งในฮ่องกง ตามแผนในโครงการปฏิรูปองค์กร 3 ปี เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันจากสายการบินจีน ซึ่งไม่ไว้หน้าใครด้วยการเพิ่มเที่ยวบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปมากขึ้น พร้อมกับการลดจุดยืนของฮ่องกงให้เป็นเพียงศูนย์กลางการ transit เครื่องสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
สำหรับ Hong Kong Airlines นาทีนี้สายการบินได้แต่ยืนยันว่ามีเงินสดสำรองเพียงพอจ่ายเป็นค่าแรงพนักงาน โดยนักวิเคราะห์มองว่าหาก Hong Kong Airlines ต้องล้มละลายและหยุดให้บริการ Cathay Pacific ก็จะไม่ได้รับผลดีหรืออานิสงส์ใดๆ เพราะตลาดยังมีการแข่งขันดุเดือดเลือดสาดรออยู่.