Hitachi วิจัยระบบ “เช็กความสุข” ของ “พนักงาน” ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ AI

Hitachi เปิดผลงานการวิจัยระบบตรวจสอบความสุขของพนักงานในองค์กร โดยใช้อุปกรณ์จับ “ความเคลื่อนไหว” ของอวัจนภาษา เมื่อพนักงานมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน นำดาต้าวิเคราะห์ด้วยระบบ AI พบความเชื่อมโยง ทีมงานที่มีความสุขมากกว่าจะสร้างผลงานและรายได้ที่ดีกว่า 27-30%

การทำงานอย่างมีความสุขเป็นสิ่งที่องค์กรหลายแห่งให้ความสำคัญมากขึ้น ทำให้ Hitachi คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อจะเข้าใจถึงระดับความสุขของพนักงานได้แม่นยำขึ้น

“คาซูโอะ ยาโนะ” ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI and Happiness จาก Hitachi เปิดเผยถึงงานวิจัยของบริษัทที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อวัดระดับความสุขของพนักงานได้สำเร็จ โดยเขากล่าวถึง “ความสุข” ว่า ที่มาของการมีสุขนั้นแตกต่างกัน เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่มนุษย์เมื่อได้รับความสุขแล้วจะมี “ปฏิกิริยาในร่างกาย” เหมือนกัน เช่น ระดับความดันเลือดเปลี่ยนแปลง ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง จนถึงลักษณะกล้ามเนื้อที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม การวัดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายไม่สามารถทำได้ทุกส่วน แต่ส่วนที่เขาเลือกมาใช้เป็นมาตรวัดคือ  การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อ เนื่องจากเป็นสิ่งที่วัดได้จากภายนอกในทันที

“คาซูโอะ ยาโนะ” ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI and Happiness จาก Hitachi

Hitachi ได้ทดลองติดตามความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อโดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับในป้ายพนักงานหรือสายรัดข้อมือ มีการเก็บดาต้าทั้งหมด 468 คน เป็นเวลารวมกัน 5,000 วัน ร่วมกับการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อวัดระดับความสุข จากนั้นนำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากพนักงาน หาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเคลื่อนไหวกับผลทางจิตวิทยาที่ได้

สิ่งที่เขาค้นพบคือ ทีมงานที่มีความสุขจะแสดงรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่นเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ในทีมเดียวกัน และเหมือนกันทั้งทีม ขณะที่ทีมงานที่ไม่มีความสุข คนในทีมจะมีการเคลื่อนไหวเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ โดยมีเพียงคนเดียวในทีมที่แตกต่างออกไปและมีการเคลื่อนไหวมากที่สุดซึ่งมักจะเป็นหัวหน้าทีมนั่นเอง

ยาโนะอธิบายว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อคนในทีมพูดคุยกัน และการพูดคุยกันมนุษย์เราจะเกิด “อวัจนภาษา” เสมอ เมื่อคนเราสามารถพูดคุยได้อย่างเท่าเทียม อวัจนภาษาของเราจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้อย่างยืดหยุ่น ขณะที่คนที่ไม่สามารถพูดคุยกันในทีมได้อย่างสะดวกใจจะทำให้อวัจนภาษามีความเป็นระเบียบแบบแผน

“เหมือนกับการประชุมที่มีหัวหน้าพูดอยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นได้แต่นั่งฟัง” ยาโนะกล่าว เขายังเสริมด้วยว่า การทดลองเหล่านี้ Hitachi ขยายไปทดลองในบริษัทอเมริกันและเยอรมันด้วย และเขาพบว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างของตะวันออกกับตะวันตกไม่มีผลต่ออวัจนภาษา เหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใต้สำนึก “แม้แต่ทารกเกิดมาก็สามารถใช้อวัจนภาษาสื่อสารได้ และทารกเหมือนกันทั่วโลก”

ตัวอย่างการติดตามการเคลื่อนไหวของคน 4 คน จะเห็นว่าแต่ละคนมีรูปแบบไม่เหมือนกัน โดยสีฟ้าหมายถึงการไม่เคลื่อนไหวนั่นคือขณะนอนหลับ ไล่ไปจนถึงสีแดงคือเคลื่อนไหวสูง เช่น เดินหรือวิ่ง

Hitachi ยังเปรียบเทียบกลุ่มทีมงานที่มีความสุขกับไม่มีความสุขด้วย โดยในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานขายแบบคอลเซ็นเตอร์ พบว่าทีมที่มีความสุขจะมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่า ในรอบ 1 ปี กลุ่มนี้ทำรายได้ได้มากกว่าทีมที่ไร้สุขถึง 27% หลังจากนั้นยังทดลองกระตุ้นให้ทีมพนักงานขาย (เซลส์) สร้างความสุขให้มากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย พบว่าทีมเซลส์สามารถทำยอดขายได้มากกว่าเดิม 30%

อีกประเด็นที่ยาโนะค้นพบจากการวิจัยนี้คือ เขาพบว่าในทีมงานทีมหนึ่ง หากมีพนักงานเพียงคนเดียวไม่มีความสุขกับการทำงาน จะส่งผลให้คนในทีมไม่มีความสุขไปด้วย

ดังนั้นพนักงานที่มีความสุขจึงมีผลกับทั้งประสิทธิภาพการทำงานของคนๆ นั้นเอง และมีผลกับทีมงานทั้งทีมด้วย การสร้างความสุขให้พนักงานทุกคนจึงสำคัญยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า “ความสุข” เป็นเรื่องปัจเจกภายใน ทำให้การสร้างสุขไม่ได้ง่ายเหมือนกับการให้สิ่งของภายนอก แต่จากการทดลอง ยาโนะพบว่ามีหลักที่สามารถให้พนักงานไปปรับใช้เป็นทักษะสร้างความสุขได้คือหลัก “HERO” หมายถึง H-Hope มีความหวังในการหาทางแก้ปัญหา E-Efficacy มั่นใจในการทำงาน R-Reilience สามารถเผชิญหน้าความยากลำบากได้ และ O-Optimism มองทุกสถานการณ์ในด้านบวก

HERO ทักษะสร้างสุขให้กับคนทำงาน

ผลงานเหล่านี้เป็นการวิจัยในแผนก Future Investment ของ Hitachi แผนกที่มีจุดประสงค์เพื่อหาผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบใหม่ให้กับองค์กร ดังนั้นโซลูชันส์ด้าน AI and Happiness นี้จะเริ่มชิมลางให้ผู้ใช้นอกองค์กร Hitachi ได้ใช้จริง โดยปีนี้จะเปิดให้ผู้ใช้รายย่อยทดลองฟรี เพื่อติดตามความสุขของตนเอง ส่วนลูกค้าองค์กรแบบ B2B ที่ต้องการนำระบบ AI ไปวิเคราะห์พนักงานของตนเองด้วย Hitachi คาดว่าจะเริ่มเปิดบริการในญี่ปุ่นก่อนโดยยังไม่มีแผนขยายให้องค์กรประเทศอื่นใช้งาน

สำหรับอุปกรณ์ที่จะใช้วัดความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ยาโนะกล่าวว่าปัจจุบันอุปกรณ์เช่น สมาร์ตวอชต์ หรือ สมาร์ตโฟน สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกายได้แล้ว ดังนั้นผู้ใช้สามารถใช้อุปกรณ์ที่ตนเองมีอยู่ได้เลย และใช้ร่วมกับแอปพลิเคชัน Happiness Planet ซึ่งจะสั่งการให้อุปกรณ์ตรวจเช็กการเคลื่อนไหวทุก 10 นาที อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าถ้าหากใช้สมาร์ตโฟน ความแม่นยำอาจจะลดลงเนื่องจากไม่ใช่ของที่สวมใส่ติดตัวตลอดเวลา

เทรนด์ความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการดูแลสุขภาพจิตของตนเองเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคย ดังนั้นองค์กรที่ต้องการดึงดูดพนักงานและต้องการประสิทธิผลที่ดีขึ้นควรจับตามองและตามให้ทัน!