สภาพัฒน์ มองปีนี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.5-2.5% จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สภาพัฒน์​ เผยจีดีพีปี 2562 โต 2.4% หลังไตรมาสที่ 4 ขยายตัวแค่ 1.6% ส่วนปีนี้หั่นคาดการณ์จีดีพีเหลือ 1.5-2.5% เท่านั้น จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 (%QoQ SA)

รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับร้อยละ 4.2 ในปี 2561 เเละเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยย่อตัวลงมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ได้แก่ ผลกระทบสงครามการค้าและการส่งออกที่ลดลง ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 63 ล่าช้า เกิดปัญหาภัยแล้ง และเงินบาทแข็งค่า

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 3.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.8 ของจีดีพี

หั่นเป้าจีดี​พี​ปีนี้เหลือเเค่ 1.5 – 2.5 % จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 สศช.คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 (หรือเฉลี่ย 2% ต่อปี) ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ

ทั้งนี้ การประเมินจีดีพีดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสถานการณ์ไวรัสมรณะจะจบลงภาย 3 เดือน หรือราว เม.ย.-พ.ค. ทำให้มีนักท่องเที่ยว 37 ล้านคนสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.73 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง

(2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 – 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของจีดีพี

โดย สศช. เเนะประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ที่ควรให้ความสำคัญ ได้เเก่

(1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง

(2) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับ

  • การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของ ไวรัส
  • การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
  • การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี
  • การพิจารณาวันหยุด เพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเเละการติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดยการขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563 ดังนี้

  • การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัส
  • การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน
  • การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ ากว่าร้อยละ 91.2 ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 75.0 ตามลำดับ

(5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การเร่งรัด การเจรจาความร่วมมือทางการค้าเเละการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ

(6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยว กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำ

 

ที่มา : สภาพัฒน์