SCB EIC ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 2.5% เท่านั้น อย่างไรก็ดียังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น “ฟื้นช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน” และเปรียบเหมือนเศรษฐกิจไทยนั้นเหมือนกับป่วยเป็นมะเร็ง และมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 1 ครั้ง
SCB EIC ได้มองถึงเศรษฐกิจโลกเติบโตดีกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข GDP จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตดีส่งผลทำให้มีการลดดอกเบี้ยเลื่อนออกไปอีก
อย่างไรก็ดีสำหรับมุมมองเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง SCB EIC ชี้ว่าปัญหาของเศรษฐกิจจีนรวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างโลกลดลง การจ้างงานน้อยลง ในท้ายที่สุดปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้น้อยลง
เศรษฐกิจไทย “ฟื้นช้า เปราะบาง ไม่แน่นอน”
สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยเปรียบได้กับคนที่ป่วยค่อยๆ ซึมลง เหมือนกับการป่วยเป็นโรคมะเร็ง
เขายังเปรียบว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้เหมือนกับร่างกายอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงชัดเจน หรือเกิดวิกฤตอะไรเกิดขึ้น ไทยจะเกิดวิกฤตหรือไม่ก็ผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยจะหนักมากขึ้นกว่าเดิม เปรียบได้เหมือนติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะยากมากขึ้น
สมประวิณ มองว่าเศรษฐกิจหลายประเทศมีตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แตกต่างกับไทยที่มีตัวเลือกน้อยลง และเขามองปัญหาเศรษฐกิจไทยจากที่ผ่านมานั้นเป็นปัญหาจากนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ยังมองว่าไทยนั้นเหลือเครื่องจักรสำคัญก็คือภาคการท่องเที่ยว ทั้งที่ได้ปัจจัยนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือแม้แต่การส่งเสริมให้มีการเที่ยวเมืองรองที่ยังช่วยเศรษฐกิจไทยได้ ขณะที่เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็น ภาคการส่งออก ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก หรือแม้แต่การเบิกจ่ายภาครัฐ
สำหรับในปี 2024 นี้ SCB EIC คาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตได้แค่ 2.5% เท่านั้น ซึ่งปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3% โดยมองว่าปัจจัยสำคัญที่เศรษฐกิจไทยแตกต่างจากเศรษฐกิจโลกนั้นมาจากภาคการบริโภคในประเทศถือว่าอ่อนแอ ต่างกับหลายประเทศ
SCB EIC มองว่าต้องลดดอกเบี้ย
สมประวิณยังเล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินไทยกับภาคเศรษฐกิจจริงๆ โดยยกตัวอย่างผลกระทบจากตลาดรถยนต์มือสองขึ้นมา โดยมองว่าตลาดรถยนต์มือสองมีราคาลดลง ส่งผลทำให้มีการรับซื้อรถยนต์มือสองในราคาที่ถูกลง ทำให้ขายรถยนต์ได้ยากขึ้น
ผลกระทบคือสถาบันการเงินเองขายรถยนต์มือสองได้ยากขึ้น หรือไม่ก็ต้องขาดทุนจากผลกระทบ ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยานยนต์ลดลง
ขณะเดียวกัน สมประวิณ ยังมองว่าความเปราะบางของครัวเรือนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น เงินสำรองฉุกเฉิน หรือแม้แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะส่งผลมากขึ้น อย่างในกรณีของภาคธุรกิจไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวนั้นจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย
SCB EIC มีการศึกษาว่าถ้าหากมีการลดดอกเบี้ยจะทำให้คนก่อหนี้เพิ่มหรือไม่ โดยมุมมองธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจะทำให้เกิดการก่อหนี้ในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น แต่สมประวิณมองว่าจริงๆ แล้วธนาคารอาจไม่ปล่อยสินเชื่อให้ก็ได้ (ซึ่งไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น) ซึ่งเรื่องใหญ่กว่านั้นคือการหารายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น
สมประวิณยังกล่าวเสริมว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังสามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจผ่อนคลาย คนมีรายได้มากขึ้น กล้าลงทุนมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะกลับมาส่งผลต่อเรื่องหนี้ในครัวเรือนไทย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ SCB EIC มองว่าช่วงปลายปี 2024 จะมีการลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง และในปี 2025 อีก 1 ครั้ง
เมื่อโลกเปลี่ยนไป ภาคการผลิตของไทยก็ต้องเปลี่ยนตาม
ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis ของ SCB EIC ได้กล่าวถึงภาคการผลิตของไทย สามารถที่จะคว้าโอกาสท่ามกลางโลกแบ่
1) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก
2) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน
3) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น
4) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน
SCB EIC มองว่าในช่วงเวลาในเรื่องการค้าโลกที่เปลี่ยนไป 2 มหาอำนาจมีความขัดแย้งกันนั้น ไทยเองควรที่สอดแทรกโอกาสดังกล่าวเข้าไป และจะต้องคิดเรื่องดังกล่าวใหม่ทั้งหมดแบบกลับหัวกลับหาง เช่น ในอดีตไทยส่งสินค้าไปประกอบที่จีน แต่ปัจจุบันจีนกลับส่งสินค้ามาให้ไทยประกอบแล้วส่งออกไปยังประเทศอื่น