“พานาโซนิค” ขอขยับจากธุรกิจไฟฟ้า ลงสนามสมาร์ทโฮม โกยโอกาสจากสินค้า IoT

พานาโซนิค วางเเผนรุกตลาดอาเซียน มองโอกาสประชากรโต – ตลาด IoT รุ่ง ชิงลงสนามสมาร์ทโฮม ขนทัพเครื่องใช้ในบ้านจากญี่ปุ่นมาวางขาย หาพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น จับมือธุรกิจอสังหาฯ ขยายตลาด “นวัตกรรมที่อยู่อาศัย” ตั้งเป้าดันยอดขายเเตะ 2.78 หมื่นล้านบาทในปี 2021

ประชากรอาเซียนโต ก่อสร้างมากกว่าญี่ปุ่น 5 เท่า 

Daizo Ito รองประธานกรรมการอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ไลฟ์ โซลูชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ในปี 2020 นี้ พานาโซนิคให้ความสำคัญกับตลาดในอาเซียนเป็นพิเศษ เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทั้งเรื่องจำนวนประชากรจำนวนครัวเรือน และจีดีพีของทั้ง 3 ตลาดมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย

จากข้อมูลพบว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังการเติบโตไปด้วยเช่นกัน โดยคาดการณ์กันว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 580 ล้านคนในปี 2563 เป็น 640 ล้านคนในปี 2573 โดยมีจำนวนการก่อสร้างบ้านเรือนในปี 2564 ประมาณ 4.41 ล้านหลัง หรือคิดเป็น 5 เท่าของประเทศญี่ปุ่น

“คนในอาเซียนเริ่มให้ความสนใจกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเเละกำลังมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นบริษัทจึงตั้งใจจะรุกตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยอย่างจริงจัง”

โอกาสเจาะตลาด IoT ลงสนามสมาร์ทโฮม 

การเติบโตของ  “Internet of Things (IoT)” ทำให้บริษัทเทคโนโลยีเจ้าเก่าทั้งหลาย ขยับมาสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นเดียวกันกับ “พานาโซนิค” ที่เปลี่ยนเเผนจากเดิมที่เคยเน้นที่อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่นปลั๊กไฟ สายไฟ มาพัฒนาเครื่องใช้ในบ้านเเละออฟฟิศที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต

เเม้สินค้าขายดีของพานาโซนิคไลฟ์ฯ อันดับ 1 ในไทยยังจะเป็น “อุปกรณ์เดินสายไฟ” เเต่การปรับตัวเข้าสู่เทรนด์ “สมาร์ทโฮม” ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของบริษัทเเม่ ที่ต้องการมีไลน์อัพสินค้าครบทุกกลุ่มจาก 4 หน่วยธุรกิจ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอุปกรณ์แสงสว่างและระบบต่าง ๆ ในที่อยู่อาศัย หรืออีโคโซลูชั่นโซลูชั่นธุรกิจ-อุตสาหกรรมและชิ้นส่วนยานยนต์

ขณะที่กระแสสมาร์ทโฮมในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็กำลังต้องการนวัตกรรม IoT เพราะต้องการ “สร้างจุดขาย” รับมือการแข่งขันที่สูง

ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2019 ระบุว่า ตลาดทั่วโลกมีจำนวนสินค้า IoT กว่า 8.4 พันล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เเละคาดว่าในปี 2020 จะมีบริษัทมากกว่า 65% ที่ใช้ผลิตภัณฑ์และโซลูชัน IoT ขณะที่แนวโน้มในปี 2025 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้า IoT ทั่วโลกมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เเละในประเทศไทย ปี 2025 ก็จะมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ IoT ถึง 5 แสนล้านบาท

สินค้าที่จะนำมาเจาะตลาดในปีนี้ หลักๆ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่อาศัยเเละการนำเครื่องใช้ในบ้านที่ญี่ปุ่นมาวางขายในอาเซียน เช่นห้องครัวอัจฉริยะ และห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ชูจุดเด่นด้านคุณภาพ และการติดตั้ง การก่อสร้างที่ใช้เวลาลดลง รวมถึงการนำเสนอโซลูชั่นใหม่ในออฟฟิศเเละสถานที่สาธารณะต่างๆ เเละแพ็กเกจการตกแต่งภายในด้วย” 

ผู้บริหารพานาโซนิค เผยอีกว่า ความต้องการของตลาดในเอเซียนเเตกต่างกันไปตามเเต่ละประเทศ เช่นในอินโดนีเซียจะให้ความสำคัญเรื่องการใช้เเสง จึงต้องเน้นนวัตกรรมที่มีเเสงที่ผ่อนคลาย ส่วนในไทยนั้นต้องการนวัตกรรมด้านอากาศ จึงต้องตอบโจทย์ตลาดด้านโซลูชั่นเครื่องฟอกอากาศและน้ำ

ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็มีปัญหาทางสังคมที่เด่นชัดขึ้นเช่นกัน พานาโซนิคจึงได้พัฒนาสินค้าใหม่ เช่น ด้านสุขภาพ ได้พัฒนาสินค้าใหม่คือ “ระบบกรองน้ำส่วนกลาง” ที่ช่วยทำความสะอาดน้ำที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ ส่วนด้านการขาดแคลนแรงงาน กำลังจะวางจำหน่าย “บ้านสำเร็จรูป” สำหรับหอพักและอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาก่อสร้างเเละลดปริมาณงาน โดยได้เริ่มจำหน่ายในประเทศจีนเมื่อปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับที่ดี

ด้านสังคมผู้สูงอายุ นำเสนอสินค้าฝักบัวพร้อมเก้าอี้นั่ง “เดอะชาวเวอร์” และเตียงนอน “ริโชเนะ” เตียงโรโบติกที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์มีวางจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว เเละกำลังจะนำมาวางจำหน่ายในไทย นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมในกลุ่มสินค้ากลุ่มอุปกรณ์เดินสายไฟ โดยอาศัยกลยุทธ์และองค์ความรู้ด้านการขายที่เคยทำในตลาดญี่ปุ่น

หาพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น จับมือธุรกิจอสังหาฯ 

เมื่อกำลังซื้อผู้บริโภคลดลงจากเศรษฐกิขชะลอตัว บริษัทจึงปรับกลยุทธ์ในตลาดอาเซียน จากเดิมที่เน้นโมเดลธุรกิจเเบบ B2C (Business to Consumer) มาเพิ่มในส่วน B2B (Business to Business) มากขึ้น โดยจะร่วมมือกับดีเวลอปเปอร์และบริษัทพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นในภูมิภาคนี้มาร่วมงานกว่า 600 บริษัท

Masashi Yamada รองประธานกรรมการอาวุโส และผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ Housing Systems กล่าวว่าในปีนี้จะมีการนำเสนอโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น โดยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์และสร้างเครือข่ายเเบบ Co-creation partner ร่วมกับพันธมิตรในแต่ละพื้นที่ เพื่อจะได้เสนอผลิตภัณฑ์ด้วยความเข้าใจในท้องถิ่นจริงๆ

“ในประเทศไทย เราได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการตู้ล็อคเกอร์ในการทดสอบ “smart box” ซึ่งเป็นตู้สำหรับรับพัสดุไปรษณีย์แบบ IoT (Internet of Things) สามารถควบคุมการทำงานได้ด้วยสมาร์ทโฟน รวมถึงการพัฒนาห้องอาบน้ำสำเร็จรูปที่ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 2 วัน เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มหลักคือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตและให้บริการในไทยได้เร็วๆ นี้”

สำหรับฐานผลิตหลักในอาเซียน ได้เเก่ โรงงานในไทยจะเป็นการผลิตใช้ภายในประเทศ ส่งออกไปยังฟิลิปปินส์เเละประเทศในตะวันออกกลางเเละตะวันออกใกล้ ส่วนโรงงานในอินโดนีเซียจะเน้นการบุกเบิกช่องทางไปยังเขตพื้นที่เมืองใหญ่ในประเทศ เเละโรงงานในเวียดนามจะเน้นส่งออกสินค้าเพื่อบุกเบิกตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน อย่างลาวเเละกัมพูชา

“จากกลยุทธ์เหล่านี้ พานาโซนิคคาดว่าจะสามารถบรรลุยอดขาย 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.78 หมื่นล้านบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ภายในปี 2021 และบรรลุยอดขาย 1 ล้านล้านเยนได้ในปี 2030”

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2018 ของพานาโซนิค ไลฟ์ โซลูชั่นส์ มียอดขายอยู่ที่ 2.0361 ล้านล้านเยน (ราว 5.77 แสนล้านบาท) เเบ่งเป็นยอดขายในประเทศไทย 3 พันล้านบาท