หลายบริษัทอสังหาฯ กำลังพยายามฉีกแนวธุรกิจเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ช่วยกระจายความเสี่ยง และมี “เอสซี แอสเสท” เป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยเลือกจับกลุ่มบริการ “Living Solutions” เป็นธุรกิจแห่งความหวัง ผ่านการเปิด “รู้ใจคลับ” แพลตฟอร์มจัดหาสารพัดบริการตั้งแต่เรื่องบ้านจนถึงเรื่องชีวิตประจำวัน ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัย
โมเดลธุรกิจของบริการนี้เป็นอย่างไร ต้องฟังคำอธิบายจาก “ดิเรก ตยาคี” หัวหน้าฝ่าย Living Solutions บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เขากล่าวว่า บริการเหล่านี้ปัจจุบันเอสซีฯ มีให้ลูกบ้านมากกว่า 10 รายการ เช่น ล้างแอร์ แม่บ้าน ทำสวน ล้างรถ ส่งถังแก๊ส ส่งน้ำดื่ม ช่างตัดผม จนถึงรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านก็ช่วยติดต่อธนาคารให้ได้
โดยรู้ใจคลับของเอสซีฯ ทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ติดต่อกับพาร์ตเนอร์ที่มีมาตรฐานเข้ามาให้บริการ เช่น Fixzy (แอปฯ หาช่างซ่อมบ้าน เอสซีฯ ร่วมลงทุนในแอปฯ นี้ด้วย) หรือ Sprinkle บริษัทน้ำดื่ม ลูกค้าที่สนใจสามารถกดเลือกใช้บริการต่างๆ และชำระเงินได้ในแอปฯ รู้ใจคลับโดยตรง และมีให้เลือกทั้งแบบรายครั้ง หรือแบบรายเดือนซึ่งคนอยู่อาศัยในบ้านต้องใช้ประจำเช่นบริการแม่บ้านหรือล้างรถ
วิธีการหารายได้ของรู้ใจคลับ คือการคิดราคาลูกบ้านเท่าๆ กับราคาทั่วไปที่พาร์ตเนอร์คิดอยู่ แต่เนื่องจากรู้ใจคลับจะจัดหาลูกค้าให้จำนวนมาก ทำให้ต่อรองได้ราคาถูกกว่าและได้รับเงินส่วนต่าง พูดง่ายๆ คือเสมือนว่ารู้ใจคลับได้ค่านายหน้าจากแอปฯ ต่างๆ ที่เป็นผู้ให้บริการนั่นเอง
แล้วทำไมลูกบ้านต้องมาใช้บริการผ่านรู้ใจคลับ? ดิเรกอธิบายว่า ด้วยราคาค่าบริการไม่ต่างกัน เช่น ค่าบริการแม่บ้าน 2 ชั่วโมง ราคา 299 บาท (ราคารายครั้ง) และลูกบ้านยังสะดวกสบายกว่า หลายอย่างเมื่อเรียกใช้บริการผ่านเอสซีฯ
หนึ่งคือไม่ต้องดาวน์โหลดสารพัดแอปฯ มาใช้งาน สองคือรู้ใจคลับจะประสานงานกับนิติบุคคลโครงการให้อำนวยความสะดวกกับเหล่าแม่บ้านและช่างที่จะเข้ามาทำงานได้เลย ลูกบ้านไม่ต้องวุ่นวายกับการขอทำบัตรผ่านประตูหรืออธิบายแผนที่บ้านว่าอยู่ตรงไหน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นเหล่านี้ ทำให้ลูกบ้านน่าจะสนใจเรียกบริการผ่านรู้ใจคลับมากกว่า
ดิเรกกล่าวว่า ปัจจุบันลูกบ้านเอสซีฯ มีทั้งหมด 60,000 ราย หลังเปิดบริการ Living Solutions มาประมาณ 6 เดือน มีลูกค้าใช้บริการรายครั้งแล้วกว่า 1,800 ครั้ง และมีผู้สมัครใช้บริการรายเดือนประมาณ 300-400 คน หากคำนวณจากลูกบ้านที่ดาวน์โหลดแอปฯ 1 ใน 6 ของคนที่ติดตั้งแอปฯ จะใช้บริการจริง
เป้าหมายของเอสซีฯ คือการดึงลูกบ้านทั้งหมดให้มาใช้บริการเหล่านี้ และจะเปิดหาพันธมิตรบริการใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากมีการใช้บริการมากขึ้น บริษัทหวังว่าจะสามารถนำ “ดาต้า” มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นอีก เช่น ปรับราคากับคุณภาพให้เหมาะสมกับความต้องการ หรือเข้าใจพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนมากขึ้น
“ยกตัวอย่างเรื่องที่เราแปลกใจจากการเก็บดาต้ามาคือ ก่อนหน้านี้เราคิดว่าคนอยู่บ้านเดี่ยวน่าจะต้องการใช้บริการเหล่านี้มากกว่าคนอยู่คอนโดฯ แต่พอเริ่มทำไปกลายเป็นว่ากลับกัน คนอยู่คอนโดฯ ใช้บริการเสริมเยอะกว่าคนอยู่บ้าน” ดิเรกกล่าว
ขณะนี้ Living Solutions ยังเป็นทีมธุรกิจทดลองของเอสซีฯ และยังไม่เปิดเผยรายได้ แต่แม่ทัพ “ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์” ซีอีโอ เอสซี แอสเสท หมายมั่นปั้นมือว่าธุรกิจนี้จะเป็น New S-Curve ให้บริษัท เพราะไม่ได้ตั้งใจจะเป็นตัวกลางแค่เพียงโครงการของเอสซีฯ แต่ต้องการจะขยายไปสู่โครงการของบริษัทอื่นด้วยในอนาคต