โรงงานรถยนต์สหรัฐฯ จะเปลี่ยนมาผลิต “เครื่องช่วยหายใจ” ไอเดียช่วยชาติที่ดีแต่ทำจริง “ไม่ง่าย”

โรงงานรถยนต์อเมริกันเป็นผู้ช่วยเหลือชาติมาตลอดเมื่อมีซัพพลายขาดแคลนในช่วงสงคราม  Ford สร้างเครื่องบินทิ้งระเบิด GM สร้างเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตขาดแคลน “เครื่องช่วยหายใจ” ในสหรัฐฯ จากการระบาดของไวรัส COVID-19 โรงงานรถยนต์จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออีกครั้ง

ขณะนี้ Ford, GM, Toyota และ Tesla ซึ่งปิดโรงงานชั่วคราวไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์แล้วว่าพวกเขาจะเปลี่ยนโรงงานมาใช้ผลิตเครื่องช่วยหายใจแทน

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังใช้อำนาจตาม กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกัน (Defense Production Act) เพื่อใช้บังคับให้ GM “ยอมรับ, ปฏิบัติการ และให้ความสำคัญ” กับสัญญาต่อรัฐที่จะผลิตเครื่องช่วยหายใจ

กฎหมายนี้น่าจะช่วยเร่งให้การผลิตเร็วขึ้น แต่การเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์มาเป็นเครื่องช่วยหายใจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเครื่องช่วยหายใจเป็นเครื่องจักรที่มีความซับซ้อน ต้องการซอฟต์แวร์ระดับสูงและชิ้นส่วนพิเศษ บริษัทหลายแห่งที่ต้องการจะเปลี่ยนมาผลิตเครื่องช่วยหายใจต้องพบเจอกับอุปสรรคความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แรงงานทักษะที่ฝึกฝนมาเป็นพิเศษ การได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ และการพิจารณาเรื่องความปลอดภัย

โรงงานประกอบยนต์ของ Ford จะเปลี่ยนมาช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจแทนได้หรือไม่?

จนถึงปัจจุบัน เหล่าผู้ผลิตรถยนต์ต่างประกาศให้ความร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ผลิตได้มากขึ้น และโรงงานอย่าง Ford กับ GM ยังกำลังหาทางผลิตเครื่องช่วยหายใจในโรงงานตัวเองอยู่ด้วย

แต่กระบวนการเหล่านี้คือการแข่งขันกับเวลา

จำนวนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลไปเรียบร้อยแล้วในรัฐนิวยอร์ก และรัฐนี้กำลังหวาดกลัวสถานการณ์แบบเดียวกับในอิตาลีที่อาจจะมาถึง เมื่อเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ บีบให้แพทย์ต้อง “เลือก” ว่าผู้ป่วยรายใดมีสิทธิรอดมากที่สุดและควรจะใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยรายนั้น

“จำนวนเครื่องช่วยหายใจที่เราต้องการนั้นมหาศาลมาก” แอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก กล่าวเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และเสริมว่า บางโรงพยาบาลเริ่มหาทางแก้แบบทดลองกันแล้ว เช่นทดลองให้ผู้ป่วยสองรายใช้เครื่องช่วยหายใจเครื่องเดียวกัน

ในสหรัฐฯ นั้นมีเครื่องช่วยหายใจทั้งหมด 160,000 เครื่อง แต่ศูนย์ความปลอดภัยทางสุขภาพ Johns Hopkins ประเมินว่าประเทศนี้จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 740,000 เครื่อง!

เครื่องช่วยหายใจเป็นสิ่งจำเป็นที่สามารถช่วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถหายใจเองได้ อุปกรณ์นี้จะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้ และทำให้ปอดของผู้ป่วยได้พักขณะที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับไวรัส

 

หาทางให้ผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาช่วยได้เร็วที่สุด

เครื่องช่วยหายใจไม่ได้เหมือนกันหมดทุกเครื่อง บางเครื่องจะซับซ้อนกว่ารุ่นอื่น สำหรับผู้ป่วยจากการติดเชื้อ COVID-19 ที่อาการหนักที่สุด ปอดของพวกเขาอาจจะตึงตัวจนต้องใช้อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ซึ่งราคาสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง (ประมาณ 1.63 ล้านบาท) เพราะอุปกรณ์ระดับนี้จะสามารถปรับค่าให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างเฉพาะเจาะจง และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ฝึกการใช้เครื่องนี้มาโดยเฉพาะมาดำเนินการ

เครื่องช่วยหายใจระดับไฮเอนด์ที่ซับซ้อนในการผลิตของ Medtronic (photo: CNN)

ดังนั้น การผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์จะดีที่สุดหากให้ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจที่เชี่ยวชาญเป็นผู้จัดการ

“เพราะนี่คืออุปกรณ์เพื่อช่วยชีวิตคน มันไม่สามารถผิดพลาดได้ การฝึกฝนและประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนจึงสำคัญอย่างมาก” วาฟา จามาลี รองประธานบริษัท Medtronic หนึ่งในไม่กี่บริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ กล่าวกับ CNN

ทำให้ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องต้องใช้พนักงานที่มีประสบการณ์ของ Medtronic ไม่สามารถให้โรงงานอื่นภายนอกช่วยผลิตได้ แม้แต่โรงงานรถยนต์ก็ไม่สามารถทำได้ หรืออย่างน้อยต้องใช้เวลาฝึกฝนก่อนระยะหนึ่ง

Medtronic เองเพิ่มกำลังผลิตไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเพิ่มจากปกติได้ 40% โดยปัจจุบันโรงงานดำเนินการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง และบริษัทยังวางแผนในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าโรงงานจะเพิ่มกำลังผลิตอีก 200% โดยการเพิ่มพนักงานผลิตอีกเท่าตัว

เป้าหมายของบริษัทคือการผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้ 500 เครื่องต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากก่อนหน้านี้

รัฐนิวยอร์กเริ่มสร้างที่เก็บศพชั่วคราวไว้นอกโรงพยาบาลหลายแห่งตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 หลังจากผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดย ณ วันที่ 29 มี.ค. 63 รัฐนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิตทะลุ 1,000 รายแล้ว จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 59,513 ราย มากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในมหานครนิวยอร์ก (photo: Ron Adar / Echoes Wire/Barcroft Media via Getty Images)

แต่การเพิ่มเป็น 500 เครื่องก็ยังไม่เพียงพอ เพราะทีมแพทย์กำลังต้องการเครื่องช่วยหายใจเพิ่มอีกหลักพันเครื่อง ทำให้บริษัทยอมตอบรับไอเดียของโรงงานรถยนต์ที่จะเข้ามาช่วยผลิต โดย Medtronic เริ่มคุยกับ Tesla, GM และ Ford แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการผลิตร่วมกันอย่างเป็นทางการออกมา

อย่างไรก็ตาม GM ยังคุยกับผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจเจ้าอื่นด้วย โดยบริษัทประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนจับมือกับ Ventec Life Systems เพื่อช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้บริษัทนี้แล้ว และคาดว่าจะทำให้เพิ่มกำลังผลิตเครื่องช่วยหายใจไปถึง 10,000 เครื่องต่อเดือนได้ โดยลอตแรกจะออกสู่ตลาดภายในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ โรงงาน GM ที่จะนำมาช่วยผลิตคือโรงงานประกอบยนต์ในเมืองโคโคโม รัฐอินเดียนา และขณะนี้กำลังเริ่มจัดจ้างพนักงานเพิ่ม

ขณะที่ Ford จับมือกับ GE Healthcare เพื่อช่วยเพิ่มกำลังผลิต จิม บอมบิก รองประธานบริษัท Ford กล่าวว่า บริษัทเข้าไปช่วยดูสายการผลิตของ GE เพื่อทำให้มันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (Ford คือบริษัทผู้คิดค้นระบบสายพานการผลิตเป็นครั้งแรก) และช่วยหาซัพพลายเออร์เพิ่มเติมสำหรับบางชิ้นส่วนที่ใช้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ เพื่อไม่ให้เกิดคอขวดในการผลิตของ GE บริษัท Ford ยังเสนอให้ GE เปลี่ยนชิ้นส่วนบางอย่างด้วยเพื่อให้หาซัพพลายเออร์ได้ง่ายขึ้น

GE ไม่ได้ให้ข้อมูลจากฝั่งของบริษัทว่าทำงานร่วมกับ Ford อย่างไรบ้าง บอกแต่เพียงว่าบริษัทคาดว่าจะเพิ่มกำลังผลิตเป็นเท่าตัวได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ด้าน Toyota ประกาศการจับมือกับผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ 2 แห่งเพื่อช่วยบริษัทเหล่านั้นเพิ่มกำลังผลิตเช่นกัน แต่ Toyota ไม่ได้เปิดเผยชื่อบริษัทที่ร่วมมือด้วย

 

ช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจรุ่นที่ซับซ้อนน้อยกว่า

บริษัท Medtronic ยังผลิตเครื่องช่วยหายใจรุ่นสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าด้วย และบริษัทกำลังพิจารณาเปิดแบบเครื่องช่วยหายใจ 1-2 รุ่นให้เป็นแบบ open source เพื่อให้โรงงานอื่นสามารถนำไปใช้ผลิตได้เลย

สำหรับเครื่องรุ่นที่ซับซ้อนน้อยกว่านี้ จามาลีเชื่อว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์น่าจะสามารถผลิตได้สำเร็จ

แต่เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า “คำถามก็คือ ‘กรอบเวลาของจังหวะเริ่มต้นผลิตจนถึงเมื่อคุณสามารถนำเครื่องช่วยหายใจออกวางตลาดได้จะเป็นเมื่อไหร่’ ”

ส่วนการจับมือกันของ Ford กับ GE Healthcare เองก็กำลังตอบโจทย์นี้เช่นกัน โดยกำลังร่วมกันดีไซน์เครื่องช่วยหายใจรุ่นใหม่ที่เน้นให้ผลิตง่าย โดยบอมบิกกล่าวว่านักออกแบบกำลังใช้เครื่องดมยาสลบเป็นต้นแบบ เพราะเครื่องนี้มีแกนกลางสำคัญคือการเป็นเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นถ้านำส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการช่วยหายใจออก ก็น่าจะทำให้ได้เครื่องช่วยหายใจแบบไม่ซับซ้อน

บอมบิกกล่าวว่าหากดีไซน์สำเร็จจะทำให้มีแบบเครื่องช่วยหายใจที่ผลิตในโรงงานอื่นนอกจาก GE ได้ แต่ Ford ยังไม่ได้ให้ตารางเวลาว่าเมื่อไหร่จะสามารถเริ่มผลิตได้

ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐผู้กำกับดูแล องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) กล่าวว่า หน่วยงานได้เปลี่ยนกฎระเบียบครั้งใหญ่ เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์และโรงงานที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์อื่นๆ สามารถเข้ามาช่วยงานการผลิตครั้งนี้ได้

“ข้อความจาก FDA นั้นชัดเจนมาก” FDA ประกาศในวันที่ 22 มีนาคม 2563 “ถ้าคุณต้องการช่วยขยายกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตชาวอเมริกันจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ เราจะทำงานร่วมกับคุณเพื่อกำจัดกำแพงขวางทางทุกอย่างออกให้”

ตัวอย่างการผ่อนปรนของ FDA เช่น หน่วยงานจะไม่บังคับใช้กฎที่ว่า ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจต้องได้รับการอนุมัติจาก FDA ก่อนทุกครั้งก่อนที่จะมีการปรับแก้แม้เพียงเล็กน้อยในตัวอุปกรณ์

FDA กล่าวว่า การผ่อนปรนกฎนี้จะทำให้ผู้ผลิตที่ต้องการขึ้นไลน์ผลิตเพิ่ม หรือเพิ่มแหล่งผลิตชั่วคราว ซึ่งอาจจะมีอุปกรณ์ผลิตแตกต่างไปจากเดิม สามารถทำงานได้สะดวกขึ้น

 

อุปสรรคสำคัญคือทรัพย์สินทางปัญญา

บริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจบางแห่งยังลังเลที่จะทำงานกับบริษัทภายนอก เพราะพวกเขากังวลว่า หากเกิดข้อผิดพลาดในการผลิต “มันจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ถ้าหากคุณกระจายอุปกรณ์พวกนั้นออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว” จามาลีกล่าว “คุณอาจจะสร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่สุด”

เครื่องช่วยหายใจของ GE Healthcare

นอกจากนี้ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เพราะการออกแบบเครื่องช่วยหายใจ ซอฟต์แวร์ที่ใช้ หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องนั้น ปกติแล้วจะมีการจดสิทธิบัตรหรือเกี่ยวข้องกับความลับทางการค้า

โดยอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์นั้น “มีประวัติที่ชัดเจนว่าเป็นอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวอย่างมากต่อประเด็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา” เด็บบี้ หวัง นักวิเคราะห์จาก Morningstar กล่าว “และฉันไม่คิดว่าประเด็นนี้จะหายไป แม้กระทั่งเมื่อโลกต้องเผชิญกับการระบาดใหญ่”

แพทริก คีน ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา เห็นตรงกันว่า ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะทำให้ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ลังเลที่จะทำงานร่วมกับบุคคลภายนอก

แต่กฎหมายการผลิตเพื่อการป้องกันที่ทรัมป์ลงนามแล้วนั้น จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังจากรัฐเพื่อให้ทำเนียบขาวเป็นผู้ชี้ทางการผลิตเครื่องมืออันสำคัญยิ่ง กล่าวคือบริษัทที่ได้รับคำสั่งให้ผลิตเครื่องช่วยหายใจตามกฎหมายฉบับนี้ พวกเขาจะไม่ต้องรับผิดเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรในภายหลังหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไปแล้ว

ปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์กำลังถูกกดดันจากหลายฝ่ายให้เริ่มใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้เสียที เพื่อให้การประสานงานและร่วมกันผลิตเครื่องช่วยหายใจทำได้ดีขึ้น เพื่อช่วยยกภูเขาออกจากอกให้กับบรรดาผู้ว่าการรัฐ อย่างเช่น คูโอโมแห่งรัฐนิวยอร์กที่กำลังเข้าตาจนกับการหาเครื่องช่วยหายใจเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วประเด็นปัญหาจะกลับมาที่การเติมซัพพลายให้ทัน และเป็นการแข่งขันกับเวลา ไลน์ผลิตเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอกับความต้องการอย่างมาก และการเปิดไลน์ผลิตใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

Source