โปรตุเกสปลดล็อกให้ “ผู้อพยพ” ได้สิทธิเป็นผู้พำนักชั่วคราว เพื่อให้เข้าถึงระบบสาธารณสุข

โปรตุเกสปลดล็อกให้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างยื่นขอสิทธิการอยู่อาศัย จะได้รับสิทธิเป็นผู้พำนักถาวรในโปรตุเกสชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อให้คนต่างชาติเหล่านี้เข้าถึงระบบสาธารณสุข ระหว่างการระบาดของไวรัส COVID-19

คณะรัฐมนตรีแห่งโปรตุเกสประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563 ว่า ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างยื่นขอสิทธิการอยู่อาศัยในประเทศกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะได้รับสิทธิเป็นผู้พำนักถาวร (Permanent Resident) ในโปรตุเกสชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อการันตีสิทธิของชาวต่างชาติเหล่านี้ได้ชัดเจนว่าพวกเขาจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขเสมือนชาวโปรตุเกสแต่กำเนิด

คณะรัฐมนตรีโปรตุเกสอธิบายถึงการตัดสินใจนี้ว่า เกิดขึ้นเพื่อ “ลดความเสี่ยงทางสุขภาพสาธารณะ” ทั้งของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัย หากยังนัดหมายเพื่อดำเนินการพิจารณาสิทธิพำนักอาศัยอยู่ อีกนัยหนึ่งคือเป็นความพยายามลดการแพร่ระบาดด้วยการลดการพบเจอกันของผู้คนให้มากที่สุด

การประกาศนี้จะทำให้ผู้อยู่ระหว่างยื่นขอสิทธิพำนัก เพียงแสดงเอกสารหลักฐานว่าเป็นผู้อยู่ระหว่างยื่นขอสิทธิพำนัก จะสามารถเข้าใช้ระบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม เปิดบัญชีธนาคาร ทำงาน และทำสัญญาเช่าต่างๆ ได้ในระยะเวลาดังกล่าว

“คนไม่ควรจะถูกตัดสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพและบริการสาธารณะเพียงเพราะเอกสารของพวกเขายังดำเนินการไม่เสร็จ ในห้วงเวลาพิเศษเช่นนี้ สิทธิของผู้อพยพต้องได้รับการรับประกัน” คลอดิโอ เวโลโซ โฆษกกระทรวงมหาดไทยของโปรตุเกสกล่าว

สำหรับจำนวนผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างยื่นขอสิทธิพักอาศัยนั้นไม่ได้ประกาศออกมาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่สำนักข่าว Independent รายงานอ้างอิงตัวเลขผู้ได้สิทธิพำนักถาวรตลอดปี 2562 ของโปรตุเกสมีทั้งหมด 1.35 แสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวบราซิล

ประเทศโปรตุเกสนั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และสถานการณ์ฉุกเฉินจะบังคับใช้นาน 15 วัน

จนถึงปัจจุบัน โปรตุเกสมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว 6,408 ราย มีผู้เสียชีวิต 140 ราย และผู้ป่วยรักษาหาย 43 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อของโปรตุเกสถือว่าต่ำกว่าเพื่อนบ้านติดกันอย่างสเปนมาก เพราะสเปนกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 87,000 คน และผู้เสียชีวิตกว่า 7,700 ราย

Source: CNN, Independent