เยอรมนีมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1 แสนราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 1,584 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1.58% เทียบกับประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 92,000 คน กลับมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 8.7% น่าสนใจว่าทำไมสถิติผู้เสียชีวิตในเยอรมนีจึงยังอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักแสนคนแล้ว
(ข้อมูลผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต วันที่ 5 เม.ย. 63 อ้างอิงจาก worldometers.info)
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อัตราการตายในเยอรมนีนั้นต่ำมาก เกิดจาก การระดมปูพรมตรวจหาเชื้อ “ในบางประเทศ เช่น อิตาลี ผู้ที่ได้รับการตรวจจะมีเฉพาะกลุ่มที่แสดงอาการรุนแรงเท่านั้น แต่ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี กลยุทธ์ระดมตรวจแบบปูพรมถูกนำมาใช้” ดร.เดียทริช รอธเท่นเบเคอร์ ผู้อำนวยการสถาบันระบาดวิทยา มหาวิทยาลัย Ulm ในเยอรมนี กล่าวกับสำนักข่าว TIME
นั่นหมายความว่า แม้เยอรมนีจะมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่มีโอกาสน้อยกว่าที่จะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการตรวจหลงเหลืออยู่ หากเทียบกับประเทศที่ตรวจเฉพาะเคสอาการหนักเท่านั้น
ระบบราชการช่วยให้ผลิตชุดตรวจได้เร็ว
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 63 ขณะนั้นเยอรมนีมีอัตราการตรวจหาเชื้อ 2,023 คนต่อประชากร 1 ล้านคน อัตรานี้ยังตามหลังอยู่ 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย
แต่ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค. 63 โลธาร์ วีลเลอร์ ประธานสถาบัน Robert Koch สถาบันที่เป็นแกนหลักในการดูแลสาธารณสุขของเยอรมนี กล่าวว่า แล็บทดลองเยอรมนีพร้อมแล้วที่จะตรวจหาเชื้อได้ถึง 1.6 แสนครั้งต่อสัปดาห์ จากก่อนหน้านั้นหากจะตรวจได้ถึงระดับนี้ต้องใช้เวลา 2 เดือน
ย้อนกลับไปถึงเดือนมกราคม เยอรมนีคือหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้สำเร็จ เนื่องจากระบบการปกครองที่นี่ไม่ได้ถูกกดทับด้วยระบบราชการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ระบบสาธารณสุขจะถูกกำกับควบคุมในกฎหมายระดับรัฐ ทำให้บริษัทเอกชนได้รับอนุญาตและทำงานได้เร็วกว่าเพื่อผลิตชุดตรวจจำนวนมาก มีสถิติระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินสามารถผลิตชุดตรวจได้อย่างน้อย 1.4 ล้านชิ้นเพื่อให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กระจายต่อไปทั่วโลก
เทียบกับระบบรวมศูนย์ส่วนกลางอย่างในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการอนุมัติเวชภัณฑ์ขึ้นอยู่กับองค์การอาหารและยา (FDA) เท่านั้น ทำให้กว่าจะมีบริษัทได้รับอนุญาตให้ผลิตชุดตรวจเองก็เป็นช่วงต้นเดือนมีนาคมแล้ว ทำให้ชุดตรวจไม่เพียงพอ
ยิ่งตรวจมาก ตัวเลขอัตราการตายยิ่งต่ำ
“เพราะเยอรมนีสามารถผลิตชุดตรวจได้เร็วมาก นั่นทำให้ประเทศนี้มีแนวโน้มที่จะเลือกตรวจเคสที่อาการไม่รุนแรงได้มากขึ้น” ดร.เลียม สมีธ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าว
เขาเสริมว่า ในทางกลับกัน ประเทศที่ไม่มีชุดตรวจมากเท่าจึงถูกบีบโดยปริยายให้ตรวจเฉพาะเคสที่มีอาการรุนแรง แยกคนที่มีอาการไม่รุนแรงออกจากสถิติการตรวจหาเชื้อ ดังนั้นยิ่งตรวจคนที่มีอาการน้อยจำนวนมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้อัตราการตายออกมาน้อยลง
แม้ว่าเยอรมนีและอิตาลีจะมีกลุ่มอายุประชากรใกล้เคียงกัน โดยเป็นสองประเทศที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ค่าเฉลี่ยอายุประชากรของเยอรมนีที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 กลับต่ำกว่ามากโดยอยู่ที่อายุ 46 ปี ขณะที่อิตาลีอยู่ที่ 63 ปี อย่างไรก็ตาม สมีธกล่าวเช่นกันว่าน่าจะเกิดจากการระดมตรวจแบบปูพรมนั่นเอง
“หากคุณตรวจหาเชื้อมากขึ้น คุณก็น่าจะได้ค่าเฉลี่ยอายุของเคสผู้ติดเชื้อต่ำลง” สมีธกล่าว “สถิตินี้ไม่ได้หมายความว่าค่าเฉลี่ยอายุผู้ติดเชื้อในความเป็นจริงจะต่างกันเสมอไป”
เตียงรับเคสโคม่าจำนวนมาก
เยอรมนียังเป็นประเทศที่มี “เตียงผู้ป่วย” จำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลไม่เต็มจนล้นจากเคสผู้ป่วย COVID-19 เหมือนกับในอิตาลีตอนเหนือ
จากงานวิจัยเมื่อปี 2555 พบว่าเยอรมนีมีเตียงผู้ป่วยอาการหนักสูงถึง 29.2 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน เกือบจะเป็นเท่าตัวของอิตาลีซึ่งมีจำนวนเตียงเพียง 12.5 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน และปกติแล้วเตียงผู้ป่วยหนักในเยอรมนีจะมีการใช้งานอยู่ที่ 70-80% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีเตียงผู้ป่วยหนักเพียงพอสำหรับรับผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เข้ารักษาเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม สถิติผู้เสียชีวิตที่ต่ำของเยอรมนีอาจไม่เป็นเช่นนี้ไปตลอด เพราะ COVID-19 อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักได้นานหลายสัปดาห์ก่อนที่จะคร่าชีวิตผู้ป่วย และเยอรมนียังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของโรคระบาดเท่านั้นหากเทียบกับสถานการณ์ในอิตาลี
“เยอรมนียังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการระบาดเท่านั้น” รอธเท่นเบเคอร์กล่าว “จำนวนผู้เสียชีวิตมักจะช้ากว่าสถานการณ์จริงในปัจจุบันเสมอ ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ตัวเลขอาจจะแตกต่างจากนี้”