-
Freshket สตาร์ทอัพส่งวัตถุดิบให้ร้านอาหารแบบ B2B พลิกมาทำธุรกิจ B2C รับมือการระบาดของ COVID-19 ทำให้ยอดสั่งซื้อจากร้านอาหารลดลง 60%
-
ชูกลยุทธ์ “Triple Win” รับวัตถุดิบสภาพดีจากร้านอาหารย้อนกลับเข้าระบบเพื่อส่งขาย B2C ร้านได้ระบายสต็อก Freshket ได้ขาย ผู้บริโภคได้ของดีราคาถูก
-
เตรียมเฟส 2-3 รับร้านอาหารรายเล็กเข้าระบบ ส่งซัพพลายถึงร้านแก้ปัญหาตลาดสดปิดหรือของขาด พร้อมเป็นตัวกลางโปรโมตอาหารเดลิเวอรี่ให้ผู้บริโภค
หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 คือธุรกิจ “ร้านอาหาร” ซึ่งถูกสั่งปิดการขายแบบนั่งรับประทานในร้าน เหลือเพียงแบบสั่งกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ที่ยังให้ขายได้ ถึงอย่างนั้นเอง หลายร้านอาจไม่มีความพร้อมที่จะปรับไปขายแบบเดลิเวอรี่หรือประเภทอาหารไม่เหมาะกับการจัดส่งเดลิเวอรี่
“พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์” ผู้ก่อตั้ง Freshket สตาร์ทอัพตัวกลางจัดส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร จึงต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ได้เป็นโมเดลธุรกิจที่พาตัวเองรอดผู้เดียว แต่คิดถึงทั้งซัพพลายเชนด้วย
“ปกติเราทำธุรกิจ B2B มีฐานลูกค้าร้านอาหารอยู่ 3,000 ราย แต่พอถึงวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ยอดขายลดทันที 60% เพราะร้านอาหารถูกสั่งปิด แต่เราก็ต้องทำธุรกิจต่อไป ทำให้หันมาเปิดขายแบบ B2C แทน” พงษ์ลดากล่าว
ปกติแล้ว Freshket จะรับคำสั่งซื้อจากร้านอาหารต่างๆ และจัดหาวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ จากซัพพลายเออร์ในมือ จากนั้นนำส่งให้ถึงร้าน โดยบริษัทไม่เคยมีการขายแบบ B2C มาก่อน จึงต้องปรับระบบภายในให้รองรับโดยปัจจุบันใช้เวลาขนส่งให้ผู้บริโภคเฉลี่ยประมาณ 2 วัน
พงษ์ลดาไม่ระบุว่าการเปิดขาย B2C ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 63 มีลูกค้ามากแค่ไหน แต่บอกว่าผลตอบรับดีเกินคาดจนคลังสินค้าของบริษัทต้องขยาย 300% ภายในสัปดาห์เดียว
ในระหว่างปรับแผนธุรกิจ พงษ์ลดาได้ไอเดียจากรุ่นพี่ในแวดวงสตาร์ทอัพว่ามีร้านอาหารบางแห่งกำลังประสบวิกฤตต้นทุนจมจากการถูกสั่งปิดร้าน ทำให้มีวัตถุดิบค้างในสต็อกจำนวนมาก ทำให้พงษ์ลดาเพิ่มโมเดลช่วยเพื่อนในซัพพลายเชนให้รอดไปด้วย คือการรับวัตถุดิบคุณภาพดีจากร้านอาหารกลับเข้ามาในระบบเพื่อส่งขายแก่ลูกค้า B2C
“เราอยากจะช่วยกระจายวัตถุดิบตรงนี้ออกไป ซึ่งจะเป็น Triple Win คือ หนึ่ง เราได้ของขายให้ B2C เพิ่ม เป็นการนำกระแสเงินสดเข้ามาทำธุรกิจต่อ สอง ร้านอาหารได้ระบายสต็อก สาม ลูกค้าปลายทางได้วัตถุดิบคุณภาพดีในราคาถูก” พงษ์ลดากล่าว
You & I จึงเป็นรายแรกที่ได้ขายในระบบ Freshket โดยผลตอบรับเป็นไปตามคาด ร้านสามารถขายวัตถุดิบได้เฉลี่ยวันละ 200-250 รายการ ตามมาด้วยอีก 3 ร้านที่ผ่านการคัดคุณภาพ คือ Sushi Hiro, Have a ซี้ดดด และ Tomyumkung Signature ที่ตามเข้าระบบมาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 63
นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารที่อยู่ระหว่างเจรจาแผนอีก 8-10 ราย พร้อมเปิดรับเพิ่มได้จนกว่าระบบของ Freshket จะเต็มกำลังผลิต โดยร้านที่สามารถสมัครเข้ามาต้องผ่านการคัดคุณภาพสินค้าในสต็อกว่ายังอยู่ในสภาพดี ยังไม่ใกล้วันหมดอายุหรือเน่าเสีย และพร้อมรับเงื่อนไขการตัดแต่งสินค้าเพื่อจัดแพ็กขาย เนื่องจากลูกค้า B2C มักจะต้องการ pack size ขนาดเล็ก
สำหรับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบสูงในช่วงนี้ พงษ์ลดาให้ข้อมูลว่า ร้านอาหารที่หยุดสั่งซื้อ 60% ของ Freshket ล้วนเป็นร้านระดับพรีเมียมและมักจะตั้งอยู่ในศูนย์การค้า “ร้านอาหารฟิวชั่น ร้านอาหารอิตาเลียน หรืออย่างร้านชาบู คงขายแบบซื้อกลับบ้านไม่ได้” เธอกล่าว
ขยับขายให้กลุ่มร้านอาหารรายย่อย
แผนขั้นต่อไปของ Freshket คือต้องการจะบุกกลุ่ม “ร้านอาหารรายย่อย” ที่ขณะนี้ยังเปิดทำการได้อยู่ผ่านการขายแบบซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ แต่อาจจะมีอุปสรรคคือของในตลาดสดเริ่มขาดหรือปิดไป โดยโครงการนี้คาดว่าจะรองรับร้านอาหารได้ 300 ราย
พงษ์ลดากล่าวว่าบริษัทกำลังขยายไลน์คัดแยกสินค้าในโกดังขึ้นเป็น 400% จากปกติ โดยจะเพิ่มไลน์ต่างหากสำหรับรองรับร้านอาหารขนาดเล็กโดยเฉพาะ ทำให้การทำงานของโกดังจะเพิ่มเวลาทำการจาก 20.00 – 07.00 น. มาเปิดทำการเร็วขึ้นเป็น 16.00 – 07.00 น.
- รวมมิตร “ร้านอาหาร” โลคอล จัดโปรฯ ส่งฟรีในย่าน ปรับตัวสู้ COVID-19
- ‘วงใน’ เผย ร้านอาหาร ‘Go ออนไลน์’ ทะลุ 1.5 หมื่นร้าน เติบโต 5 เท่าใน 1 สัปดาห์
ปัจจัยที่มองว่าร้านอาหารรายย่อยน่าจะสนใจบริการ นอกจากการจัดหาวัตถุดิบทดแทนในกรณีแผงขายในตลาดสดลดลง คือบริษัทสามารถช่วยวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบ (supply planning) เพื่อลดต้นทุนให้ร้านได้
มองภาพระยะไกลกว่านั้น เธอคาดหวังว่าหลังเปิดรับลูกค้าร้านอาหารรายย่อยแล้ว Freshket จะช่วยเชื่อมต่อร้านอาหารเหล่านี้เข้ากับผู้บริโภค B2C ได้ด้วย เพราะระหว่างนี้บริษัทจะมีฐานผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น สามารถช่วยโปรโมตอาหารเดลิเวอรี่จากร้านอาหารให้กับผู้บริโภคได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับผลตอบรับดีจากการขาย B2C แต่ Freshket จะเปิดขายแบบ B2C ถึงแค่ 30 เม.ย. 63 หรือเฉพาะช่วงสถานการณ์ COVID-19 เท่านั้น
“ผลตอบรับดีแต่ว่าเราคงยังไม่ทำ B2C อย่างน้อยก็ใน 2 ปีนี้ เรายังต้องการโฟกัสกลุ่มร้านอาหารเหมือนเดิม เพราะลูกค้าที่เรามี 3,000 ราย ยังน้อยมากถ้าเทียบกับร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่มีถึง 60,000 ราย” พงษ์ลดากล่าว