ถอดบทเรียนสิงคโปร์ ทำไมตอนแรกเหมือนคุม COVID-19 ได้อยู่หมัด แต่กลับเริ่มระบาดหนักขึ้น

Photo : Shutterstock
หลังจากในช่วงต้นๆ ได้รับคำยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประเทศแบบอย่างซึ่งสามารถรับมือได้ดีกับการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 แต่มาถึงเวลานี้สิงคโปร์ส่งสัญญาณแสดงว่ากำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสยบการพุ่งพรวดระลอกใหม่ของไวรัสนี้

ผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ

สิงคโปร์เคยอยู่ในระดับมาสเตอร์ เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นโมเดลที่ชาติอื่นๆ พึงกระทำตามมาก่อน ในเรื่องวิธีจัดการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ก่อนที่เชื้อโรคร้ายแรงนี้จะได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ สิงคโปร์ก็สั่งเข้มงวดกวดขันจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งมีการปฏิบัติการอย่างได้ผลทรงประสิทธิภาพในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งสามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสไม่ให้ปะทุรุนแรงได้

ทว่าในระยะไม่กี่วันหลังๆ มานี้ จำนวนของเคสที่ยืนยันว่าติดเชื้อกลับขึ้นทะยานลิ่ว วันที่ 9 เม.ย.กลายเป็นวันซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดนั่นคือ 287 ราย มากกว่าวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งเจอ 142 เคส แล้วก็สูงกว่าวันที่ 10 เม.ย. ที่มี 198 ราย

ส่วนใหญ่ที่สุด ผู้ติดเชื้อรายใหม่เหล่านี้มาจากย่านที่พักอาศัยอันแออัดยัดเยียดของพวกคนงานอพยพ

หลังจากพยายามหลีกเลี่ยงมาได้เป็นเวลานับเดือน ถึงตอนนี้สิงคโปร์กำลังต้องบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางส่วน โดยที่โรงเรียนสถานศึกษาและพวกธุรกิจซึ่งไม่มีความจำเป็น จะต้องปิดทำการ และประชาชนได้รับการขอร้องให้อยู่กับบ้าน

สิงคโปร์ทำอะไรบ้างในช่วงแรกซึ่งทำให้ได้รับยกย่องว่าเป็นตัวอย่าง?

สิงคโปร์เจอผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรกของประเทศตั้งแต่ตอนต้นๆ ของการระบาดแล้ว เคสนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมาจากเมืองอู่ฮั่นในวันที่ 23 มกราคม วันเดียวกับที่เมืองศูนย์กลางการระบาดของไวรัสในจีนแห่งนั้นถูกประกาศล็อกดาวน์ เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงที่โรคอันเกิดจากไวรัสนี้ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ นั่นคือ “COVID-19” มันก็มีการแพร่กระจายไปในหมู่ประชากรของประเทศร่ำรวยเล็กๆ เสมือนเป็นนครรัฐแห่งนี้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่การตอบโต้รับมือซึ่งผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดีก็พรักพร้อมใช้งานได้เช่นเดียวกัน

Photo : ROSLAN RAHMAN / AFP)

นอกเหนือจากการตรวจเช็กสุขภาพที่สนามบินแล้ว สิงคโปร์ยังดำเนินการตรวจเทสต์อย่างกว้างขวางโดยมุ่งให้ครอบคลุมผู้ต้องสงสัยทุกๆ ราย, ติดตามสืบหาใครก็ตามที่มีการสัมผัสติดต่อกับเคสที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ, และจำกัดให้พวกที่สัมผัสติดต่อเหล่านี้อยู่แต่ในบ้านของพวกตนจนกว่าจะได้รับการเคลียร์ว่าปลอดเชื้อ

หลายสัปดาห์ต่อจากนั้น สิงคโปร์ทุ่มเทความพยายามในการคงจำนวนเคสในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำและสามารถติดตามสอบสวนโรคได้ โดยมีผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน (cluster) เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ ซึ่งง่ายต่อการควบคุมปิดกั้น แต่ไม่ได้มีการใช้มาตรการจำกัดควบคุมอย่างแท้จริงต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติของประชาชน

ศาสตราจารย์ เดล ฟิชเชอร์ (Dale Fisher) กรรมการคนหนึ่งของเครือข่ายเตือนภัยและตอบโต้ระดับทั่วโลก (WHO’s Global Outbreak Alert and Response Network) ขององค์การอนามัยโลก และเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอกว่า ในตอนนั้น เมื่อใดก็ตามที่เขาได้ยินคนพูดกันว่าสิงคโปร์กำลังทำได้ดี เขาก็ต่อให้ว่า “เท่าที่เป็นอยู่จนถึงตอนนี้นะ”

“นี่เป็นเชื่อโรคที่ยากลำบากแก่การจำกัดควบคุมจริงๆ” เขาบอก

แล้วเมื่อไหร่ที่อะไรต่อมิอะไรเริ่มต้นเลวร้ายลง?

ระบบที่วางไว้ทำงานไปได้จนกระทั่งถึงกลางเดือนมีนาคม ศาสตราจารย์ยิกยิง เตียว (Yik-Ying Teo) คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ซอว์ สวี ฮก (Saw Swee Hock School of Public Health) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ บอก

นั่นเป็นช่วงเวลาซึ่งเมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้นตลอดทั่วโลกแล้ว ประเทศต่างๆ ก็เริ่มต้นเรียกร้องให้พลเมืองของพวกตนเดินทางกลับบ้าน

ผู้คนจำนวนหลายพันเดินทางกลับสิงคโปร์จากพวกประเทศซึ่งไม่ได้มีมาตรการป้องกันแข็งขันอะไร ปรากฏว่าในหมู่ผู้คนเหล่านี้ มีกว่า 500 คนซึ่งนำเอาเชื้อไวรัสกลับมาพร้อมพวกเขาด้วย

ตอนนั้นเองที่มีการประกาศใช้มาตรการบังคับให้พวกซึ่งเดินทางกลับมาต้องอยู่บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ทว่าคนอื่นๆ ในครอบครัวของพวกเขาได้รับแจ้งว่าสามารถที่จะดำเนินชีวิตของพวกเขาได้ต่อไป ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครแสดงอาการป่วยไข้ใดๆ

Photo : Shutterstock

ช่วงนี้เองเคสผู้ติดเชื้อใหม่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงกลางเดือนมีนาคมก็กลายเป็นวันละหลายสิบราย ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศหรือเชื่อมโยงพัวพันกับเคสที่มาจากต่างประเทศ ทว่าตอนนั้นเป็นครั้งแรกซึ่งไม่สามารถติดตามสอบสวนเคสภายในประเทศทุกๆ เคสได้อย่างสะดวกง่ายดายอีกแล้ว

ศาสตราจารย์เตียวกล่าวว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะพูดในตอนนี้ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยไปแล้ว ว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่จำกัดการติดต่อพบปะผู้คนกระทั่งคนในครอบครัวของผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงก็คือ “มาถึงเวลานี้ เรามีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเกี่ยวกับโรคนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม”

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การแพร่โรคจากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนั้นเป็นเรื่องซึ่งเป็นไปได้อย่างแน่นอน และอาจจะเป็นตัวขับดันตัวหลักของการติดต่อของ COVID-19 ทีเดียว” ศาสตราจารย์เตียว บอก

ศาสตราจารย์เตียว กล่าวด้วยว่า การออกมาตรการต่างๆ มาใช้นั้น หลายๆ อย่างเป็นการวิวัฒนาการขึ้นจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ว่าผู้ติดเชื้อกำลังแพร่มาจากที่ไหน แต่บทเรียนของสิงคโปร์ก็คือ เราควรใช้ท่าทีระมัดระวังให้มาก อย่าได้พึ่งพาอาศัยข้อมูลข่าวสารที่เรามีอยู่ในเวลานี้ให้มากจนเกินไป ตัวอย่างเช่น การเชื่อว่าผู้ที่หายจากโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถป้องกันการติดโรคในอนาคต ในขณะที่เรื่องเช่นนี้ยังห่างไกลจากความแน่นอนชัดเจน

การแพร่ระบาดที่พุ่งพรวด มีสาเหตุจากอะไร?

ปัญหาเรื่องผู้ติดเชื้อที่อิมพอร์ตมาจากต่างแดน เวลานี้สิงคโปร์กำลังดูแลแก้ไข ด้วยการกำหนดให้ผู้มาถึงใหม่ทุกๆ คนต้องถูกส่งตรงไปยังสถานกักกันโรคของรัฐบาล และเนื่องจากเวลานี้มีคนเดินทางมาเพียงแค่จำนวนน้อยอยู่แล้ว ดังนั้นตัวเลขของเคสอิมพอร์ต จึงลดลงเหลือตัวเลขหลักเดียวในระยะไม่กี่วันหลังๆ มานี้

ในคืนวันที่ 7 เม.ย. สิงคโปร์ยังออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการล็อกดาวน์กันทั่วทั้งประเทศเป็นบางส่วนบางระดับ เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำๆ นี้เท่านั้น

Photo : ROSLAN RAHMAN / AFP

ทุกๆ คนถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกนอกบ้านยกเว้นเพื่อกระทำกิจกรรมที่มีความจำเป็น โดยผู้ละเมิดอาจถูกปรับสูงสุดถึง 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 230,000 บาท) หรือจำคุก 6 เดือน

ศาสตราจารย์เตียวให้ความเห็นว่า มาตรการนี้น่าจะได้ผล พร้อมย้ำว่าขณะที่ตัวเลขต่างๆ น่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอีกในระยะสั้น ทว่านั่น “คือการสะท้อนภาพของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในระยะ 7 วันที่ผ่านมา มันยังไม่ได้หมายความว่ามาตรการต่างๆ ที่ใช้อยู่นั้นไม่ได้ผล”

การเพิ่มทะยานขึ้นอย่างน่ากลัวของเคสผู้ป่วยรายใหม่ในช่วงสัปดาห์สิ้นเดือนมีนาคมต่อกับต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ารวมศูนย์อยู่ที่ประชากรคนงานอพยพของสิงคโปร์ นั่นคือ ผู้ใช้แรงงานชายจำนวนหลายแสนคนซึ่งเดินทางมาจากพวกประเทศยากจน โดยส่วนใหญ่ถูกว่าจ้างให้ทำงานในกิจการการก่อสร้าง, การเดินเรือ, และการซ่อมบำรุง

สิงคโปร์ในปัจจุบันต้องพึ่งพาอาศัยคนงานเหล่านี้เป็นอย่างมาก ในการประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ปรากฏว่าการงานของพวกเขาทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมแทบเป็นไปไม่ได้เลย

เรื่องที่แย่ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ กฎหมายของสิงคโปร์กำหนดให้คนงานเหล่านี้ต้องพักอาศัยกันในหอพัก ซึ่งดำเนินการโดยเอกชนและพวกเขาถูกจัดสรรให้อยู่กันอย่างแออัด บางกรณี 12 คนต่อห้อง โดยต้องใช้ห้องน้ำรวม เช่นเดียวกับต้องแบ่งกันใช้สถานที่ประกอบอาหารและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

มันจึงดูเหมือนแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หอพักเหล่านี้จะต้องกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อซึ่งแพร่ให้ผู้คนป่วยไข้ติดต่อกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน แล้วความเป็นจริงก็เป็นเช่นนี้แหละ มีเคสที่เวลานี้ยืนยันแล้วเกือบๆ 500 รายทีเดียวซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อนตามหอพักเช่นนี้หลายๆ แห่ง โดยที่มีกลุ่มหอพักกลุ่มหนึ่งกลายเป็นจุดซึ่งพบผู้ป่วยถึงราว 15% ของทั่วทั้งสิงคโปร์

รัฐมนตรีเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ ลอว์เรนซ์ หว่อง แถลงในวันที่ 9 เม.ย. ว่า ถ้าหากเป็นที่ทราบกันก่อนหน้านั้นว่าไวรัสนี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วแค่ไหน “ผมก็คงจะทำอะไรต่ออะไรแตกต่างไปจากนี้” ทว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ คนงานจำนวนมากยังคงทำงานต่อไปทั้งๆ ที่มีอาการป่วยไข้

Photo : Shutterstock

เรื่องที่หวาดกลัวกันก็คือ ประมาณสัปดาห์หน้า จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นแบบทะยานขึ้นฟ้ากันทีเดียว

สิ่งซึ่งทางการสิงคโปร์ดำเนินการเพื่อสกัดกั้นปัญหาไม่ให้บานปลายออกไปอีก ได้แก่ การเร่งรัดกักกันโรคคนงานอพยพ รวมเป็นจำนวนราว 50,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อพยพมาจากอินเดียและบังกลาเทศ โดยให้พวกเขาอยู่กันแต่ในห้องพักภายในหอพักเหล่านี้ ทางการระบุว่าเป็นมาตรการอันจำเป็นเพื่อลดทอนการติดต่อแพร่เชื้อในระหว่างผู้คนภายในสิงคโปร์เอง

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ และจากพลเมืองชาวสิงคโปร์ ขณะที่รายงานของสื่อต่างๆ เผยให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดยัดเยียและไม่มีสุขอนามัยของหอพักเหล่านี้ ซึ่งข่าวบอกว่ามันอัดแน่นจนกระทั่งเรียกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้พักอาศัยแต่ละคนจะอยู่ให้ห่างจากกันอย่างน้อย 1 เมตร

“พวกเขาอยู่กันในหอพักที่แออัด และเบียดเสียดกันยังกับปลากระป๋อง” ทอมมี่ โก๊ะ ศาสตราจารย์และคณบดีของวิทยาลัยเทมบุซุ (Tembusu College) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ที่ได้รับการแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง “หอพักพวกนี้เหมือนกับระเบิดเวลาที่รอจะตูมตามขึ้นมา”

กลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ก็สำทับว่า การกักกันโรคให้อยู่ในหอพัก กลายเป็นการสร้าง “จุดอันตราย” สำหรับการแพร่เชื้อ และรบเร้ารัฐบาลให้ตรวจเทสต์คนงานทั้งหมด และโยกย้ายผู้เจ็บป่วยไปยังสถานรักษาพยาบาล

หลังจากนั้น ได้มีคนงานกว่า 5,000 คนถูกโยกย้ายไปสู่สถานที่ซึ่งปลอดภัยมากขึ้น และจำนวนมากยิ่งขึ้นจะได้โยกย้ายในวันต่อๆ ไป รัฐมนตรีหว่องกล่าวในการแถลงข่าววันที่ 9 เม.ย. ขณะที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ก็บอกว่า มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วยบุคลากรของฝ่ายรัฐบาล, ทหาร, และตำรวจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหอพักเหล่านี้ และคนงานซึ่งพำนักอาศัย

“เรากำลังทุ่มเทความพยายามอย่างชนิดไม่มีกั๊ก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในหอพักคนงานต่างชาติ”

จะคุมได้ไหม?

ถึงแม้มีบางคนบางฝ่ายกล่าวหาว่า สิงคโปร์เชื่องช้าเกินไปในการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน แต่ศาสตราจารย์ฟิชเชอร์แก้ต่างให้ว่า อันที่จริงแล้วสิงคโปร์ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ก่อนหน้าประเทศอื่นๆ นานทีเดียวด้วยซ้ำ ขณะที่จำนวนเคสยังคงอยู่ในระดับเกินกว่าวันละ 100 รายไม่มาก

แต่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้ได้ผลนั้น เขาชี้ว่าจำเป็นต้องทำ 3 เรื่องให้สำเร็จ ประการแรกต้องยุติการแพร่เชื้อให้ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกๆ คนอยู่กับบ้าน จากนั้นระบบดูแลรักษาสุขภาพจำเป็นต้องมีเวลาและมีที่ทางสำหรับการฟื้นตัว เป็นต้นว่าพอจะมีเตียงว่างกันบ้าง และบุคลากรทางการแพทย์สามารถหาเวลาสำหรับหยุดพัก และประการที่สามคือ ระบบทุกๆ อย่างต้องพรักพร้อม ทั้งเรื่องสถานที่กักกันโรค, ความสามารถในการกักกันโรค, อำนาจทางกฎหมายข้อบังคับต่างๆ, การติดตามหาผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อ

“ถ้าคุณแค่ทำอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง จากนั้นก็เปิดเมืองขึ้นมาอีกครั้ง ประวัติศาสตร์ก็จะต้องเกิดซ้ำรอยแน่ๆ” เขาเตือน

สิงคโปร์ยังถือว่ามีบุญกว่าในแง่มุมนี้ ตัวอย่างเช่น ไม่เหมือนในอังกฤษหรือในสหรัฐฯ ระบบการแพทย์ของสิงคโปร์ยังไม่ได้ไปถึงจุดที่คนป่วยท่วมท้นรับมือไม่ไหว

นอกจากนั้นสิงคโปร์ยังมีพรรคการเมืองที่มีฐานะครอบงำเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว และมีสื่อมวลชนที่โอนอ่อนตามรัฐบาล

ภายในสองวันแรกที่บังคับใช้กฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องว่ากล่าวตักเตือนพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายมากกว่า 10,000 ครั้ง เป็นต้นว่า การนั่งรับประทานอาหารในโรงอาหารข้างล่างของแฟลต แทนที่จะซื้อห่อกลับไป ตลอดจนการสังสรรค์กันในที่สาธารณะ

จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เวลานี้ ทุกๆ ประเทศต่างกำลังมองหาสิ่งที่สามารถถือเป็นสัญญาณของความหวัง ทว่าบทเรียนซึ่งสรุปได้จากสิงคโปร์ก็คือว่า เราไม่สามารถที่จะเผลอเพลินนิ่งนอนใจได้เลย และทุกๆ ประเทศต้องเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับการเผชิญกับระลอกการระบาดครั้งที่ 2 รวมทั้งความเป็นไปได้ที่อาจจะมีระลอกที่ 3 หรือกระทั่งระลอกที่ 4

(เก็บความจากเรื่อง Coronavirus: Should the world worry about Singapore’s virus surge? ของบีบีซีนิวส์ โดยเพิ่มเติมข้อมูลจากเรื่อง Singapore had the coronavirus under control. Now it’s locking down the country ในเว็บไซต์ CNET ตลอดจนจากแหล่งอื่นๆ)

Source