เฟซบุ๊กเพจ “โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า” แจงทำไมค่าไฟช่วงนี้แพงขึ้น แม้จะบอกว่าใช้ไฟเท่าเดิม ชี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้า 4 ประเภทที่ทำงานหนักกว่าปกติ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น ที่คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น ชี้ “เครื่องฟอกอากาศ” แทบทุกยี่ห้อกินไฟ
ในช่วงหลายวันนี้หลายคนได้บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ค่าไฟในช่วงเดือนที่ผ่านมาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งอากาศร้อน และมาตรการ Work from Home ที่ทำให้ทุกคนต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น แต่ก็พบว่าบางคนได้บอกว่า ทั้งๆ ที่ใช้ไฟเท่าเดิม แต่ค่าไฟกลับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทำให้เฟซบุ๊กเพจ “โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า” ได้ออกมาไขข้อสงสัยให้ทุกคนได้ทราบ ถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมีนาคม 2563 สูงขึ้นมากกว่าปกติว่า ที่ผ่านมาการไฟฟ้าแห่งหนึ่งคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้ามาตลอด แบบใช้เยอะจ่ายเยอะ โดยตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ยืนยันว่าการไฟฟ้าฯ ไม่ได้กระทำการใดๆ กับมิเตอร์ของลูกค้า
ทั้งนี้ หากดูพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของแต่ละบ้าน แม้จะกล่าวว่าใช้ไฟเท่าเดิม แต่หากพิจารณาจากการเปิดเครื่องปรับอากาศ พบว่าตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยเร็วขึ้นอยู่ที่คอมเพรสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นเร็ว เพราะคอมเพรสเซอร์ทำงานหนัก ถ้าเปิดแอร์พร้อมกัน เสียงคอมเพรสเซอร์ดังนานขึ้น มิเตอร์กำลังหมุนอย่างแรง เท่ากับเงินที่จ่ายไป ไม่นับรวม “เครื่องฟอกอากาศ” แทบทุกยี่ห้อกินไฟ ที่โฆษณาว่าประหยัดไฟนั้นไม่จริง
ส่วนตู้เย็นจะกินไฟแบบเงียบๆ เพราะหน้าที่ของตู้เย็นคือทำความเย็นในช่องแช่อาหารตามอุณหภูมิที่กำหนด โดยมีคอมเพรสเซอร์หลังตู้เย็นที่เป็นตัวทำงาน หากเปิดตู้เย็นบ่อยๆ จะเปลืองไฟเพราะตู้เย็นสูญเสียอุณหภูมิตอนเปิด และหากแช่ของแบบไม่คิด ยัดเข้าไปก็เปลืองไฟ จึงต้องจัดระเบียบตู้เย็นกันบ้าง
บ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าส่วนมาก จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่
1. เครื่องปรับอากาศ พร้อมคอมเพรสเซอร์
2. เครื่องฟอกอากาศ
3. พัดลมไอน้ำ
4. ตู้เย็น ยิ่งอัดของเยอะ คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นที่ดังตลอดเวลา
ตู้เย็นที่ประหยัดไฟคือตู้เย็นที่แช่แค่เครื่องดื่มไม่เกิน 5 ขวดเท่านั้น ถึงจะได้จ่ายราคาต่อปีตามที่ร้านโฆษณา สรุปคือ ไฟฟ้าไม่ได้ปรับหรือทำอะไรทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วย ไม่ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น
ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฯ การรันตีราคา ได้แก่ ใช้ไปหน่วยที่ 0-150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท, ใช้ไปหน่วยที่ 151-400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท และใช้ไปหน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยละ 4.4217 บาท หากใช้ไฟมากกว่า 400 หน่วย ให้คำนวณตามสูตรก็คือ 150 หน่วยแรก 487.26 บาท บวกกับ 250 หน่วยถัดมา 1,055.45 บาท หน่วยที่เหลือ ให้นำราคา 4.4217 คูณเข้าไป ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ค่าบริการ หักส่วนลดค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ)
อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเน็ตถามว่าค่าเชื้อเพลิงพลังงานที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าถูกลง ทำไมค่าไฟถึงไม่ลดลงตาม คำตอบก็คือ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านครึ่งหนึ่ง