“หมอบุญ-ดร.ศุภวุฒิ” ชวนมองระยะยาว พลิกวิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสประเทศไทย

จะปิดต่อไปหรือทยอยเปิดทำการร้านค้า? คือคำถามสำคัญท่ามกลางความเสี่ยงทางสุขภาพในยุค COVID-19 พ่วงกับสภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้นเข้าไปทุกที ไปติดตามมุมมองจาก “บุญ วนาสิน” แห่ง THG และ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษาของ KKP ว่าประเทศไทยควรวางนโยบายอย่างไรจากนี้

“นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ร่วมด้วย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เปิด Live สตรีมมิ่งวิเคราะห์ประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาด

มองถึงภาพรวมขณะนี้ก่อนว่า ด้วยจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ชะลอตัวลงเป็นลำดับ ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ไว้วางใจได้หรือยัง ต่อประเด็นนี้ “นพ.บุญ” ให้ความเห็นว่า แม้จะดูมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่ยังการ์ดตกไม่ได้ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้มีการศึกษาแล้วว่า ผู้ได้รับเชื้อ 80% จะไม่แสดงอาการ ขณะที่ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการตรวจเชื้อไม่มาก อัตราอยู่ที่ 1,500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ดังนั้นอาจมีผู้ป่วยอีกนับแสนคนที่ปะปนอยู่ในสังคมโดยไม่รู้ตัว และยังมีคนไทยในต่างแดนอีกนับล้านคนที่อาจจะทยอยกลับบ้าน

ด้วยเหตุนี้ มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง รวมถึงการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นเวลา 14 วัน เห็นควรว่าจะต้องทำต่อไปก่อน มิฉะนั้นอาจจะเกิดการระบาดซ้ำ

(ซ้าย) “นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG และ (ขวา) “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

ด้าน “ดร.ศุภวุฒิ” ฉายภาพในทางเศรษฐกิจว่า ขณะนี้เหมือนเครื่องยนต์ทุกตัวถูกดับเครื่องหมด งบประมาณภาครัฐที่เยียวยาประชาชนเป็นเหมือนชูชีพที่พยุงไว้เท่านั้น เพราะภาคการผลิตไม่เกิดการผลิต และมองว่า หากมีการปิดล็อกดาวน์โดยไม่ผ่อนคลายใดๆ เลยไปอีก 2 เดือน ระบบเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่ “เอาไม่อยู่”

สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ หากผ่อนคลายล็อกดาวน์ได้ในไตรมาส 2 จีดีพีประเทศไทยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ -10% ดีที่สุดที่เป็นไปได้คือ -5% โดยเป็นสมมติฐานในกรณีที่ไม่มีการระบาดซ้ำระลอกสองเกิดขึ้น

ดังนั้น ดร.ศุภวุฒิมีความเห็นว่า การจัดนโยบายของภาครัฐจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการควบคุมความเสี่ยงสาธารณสุขกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยไม่เห็นด้วยที่จะมีการปิดระบบเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดต่อไป

 

มองระยะยาว ไทยควรปรับภาคท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม

ในแง่ของการวางนโยบายระยะยาว ทั้งหมอบุญและดร.ศุภวุฒิเห็นตรงกันว่าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19 ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี และมีโอกาสที่จะพัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จด้วย แม้แต่การผลิตชุดตรวจในราคาต่ำมากพอที่จะปูพรมตรวจเชื้อคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้น การใช้ชีวิตแบบ New Normal อาจจะเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่คาด

โดยดร.ศุภวุฒิมองถึง 2 กลุ่มธุรกิจที่ประเทศไทยควรเร่งปรับตัว และอาจจะพลิกให้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสได้ คือ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม

เสนอปรับจุดขายของการท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)

สำหรับ ธุรกิจท่องเที่ยว จากการล้มกระดานธุรกิจสายการบิน และมาตรการรักษาความสะอาดปลอดภัยที่จะมีต่อเนื่อง ทำให้ในเที่ยวบินหนึ่งจะจุผู้โดยสารได้น้อยลง ค่าตั๋วโดยสารจะแพงขึ้น แม้กระทั่งในโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว อาจจะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้จุนักท่องเที่ยวได้น้อยลงเช่นกัน

ผลสุดท้ายคือต้นทุนการท่องเที่ยวต่อคนจะสูงขึ้น การเจาะเป้าหมายไปที่กลุ่ม Mass Tourism จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมแล้ว ในทางกลับกัน ประเทศไทยควรชูจุดเด่นด้าน Medical Tourism ให้มากขึ้น เพราะเป็นส่วนที่ประเทศไทยมีจุดเด่นทั้งด้านการแพทย์ เวลเนส หรือสภาพภูมิอากาศจนถึงอัธยาศัยของผู้คน สนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ดี

นพ.บุญเสริมว่า สถานการณ์การระบาด COVID-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ไทยอาจได้โอกาสในวิกฤตนี้ เนื่องจากจุดหมายปลายทางการรักษาโรคของคนต่างชาติที่เคยอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือเยอรมนี เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ไทย เนื่องจากประเทศไทยควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ก่อน อย่างไรก็ตาม การจะเปิดรับชาวต่างชาติกลุ่มนี้เข้ามาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล

สนับสนุนชูจุดแข็งของภาคการผลิต-อุตสาหกรรมไทย มีแรงสนับสนุนคือภาคสาธารณสุขที่เข้มแข็ง รับมือการระบาดของโรคในอนาคตได้ ทำให้ซัพพลายเชนไม่ขาดตอนหากลงทุนในประเทศไทย

อีกธุรกิจหนึ่งคือ ภาคอุตสาหกรรม ดร.ศุภวุฒิชี้ให้เห็นว่า ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา โลกได้เผชิญการระบาดของไวรัสมาแล้ว 5 ครั้ง ตั้งแต่ไข้หวัดสเปน ไข้หวัดนก ซาร์ส เมอร์ส และ COVID-19 การระบาดแต่ละครั้งมีผลกระทบกับภาคการผลิตอุตสาหกรรม ต้องหยุดการผลิตทำให้ซัพพลายเชนขาด ในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่า ความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจและการผลิต

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยซึ่งมีระบบสาธารณสุขเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก สามารถจัดการโรคระบาดได้ดี อาจชูจุดเด่นส่วนนี้ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เราอาจจะได้ “ค่าพรีเมียม” ในการเป็นตัวเลือกแหล่งผลิตซัพพลายเชนระดับโลก หรือ Global Supply Chain ได้