Next Normal วงการสื่อหลังยุค COVID-19 “สิ่งพิมพ์” เร่งตาย คนไม่อยากจับของ แต่สื่อในบ้านจะโตขึ้น

มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ มองภาพวงการสื่อโฆษณาในยุค COVID-19 พายุลูกใหญ่ที่เข้ามาซ้ำเติมให้หนักมากขึ้น “สื่อสิ่งพิมพ์” จะยิ่งเร่งตาย เพราะคนเริ่มไม่อยากจับสิ่งของ ส่วนสื่อในบ้าน ทีวี และออนไลน์ ยังโตขึ้น แต่ยังมีจุดอ่อนที่นักการตลาดต้องกุมขมับ

สื่อโฆษณาส่อติดลบ 15-20% หนักสุดเป็นประวัติการณ์

จากวิกฤต COVID-19 ได้แผลงฤทธิ์ไปทั่วโลก ทำให้ทุกธุรกิจต่างหยุดชะงัก ทำให้สื่อโฆษณาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะแบรนด์ก็ใช้งบน้อยลง ส่วนทางผู้บริโภคเองก็ไม่มีกำลังซื้อ เรียกว่าปีนี้เป็นปีแห่งความยากลำบากของวงการสื่อ

จริงๆ วงการสื่อโฆษณาส่อแววหนัหน่วงมาหลายปีแล้ว มียอดการหดตัวอยู่ตลอด พอเจอวิกฤต COVID-19 ยิ่งตอกย้ำภาวะตลาดที่ซบเซามากขึ้นไปอีก เป็นสถานการณ์ที่หนักสุดในรอบประวัติการณ์

มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ได้เปิดเผยตัวเลขงบสื่อโฆษณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มีตัวเลขลดลง 6.02% มีมูลค่า 19,892 ล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าทั้งปี้จะมีมูลค่างบสื่อโฆษณาทั้งหมด 77,124 ล้านบาท หดลงมากถึง 15-20% จากปีก่อน โดยที่งบโฆษณาทางทีวีจะเหลือเพียงแค่ 40,000 ล้านบาท

ไวรัส… ตัวเร่งตายสื่อสิ่งพิมพ์

คำพูดที่ได้ยินกันเยอะมากที่สุดในตอนนี้คือ New Normal หรือบรรทัดฐาน การใช้ชีวิตแบบใหม่ หลังยุค COVID-19 แน่นอนว่าจะต้องเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง ในวงการสื่อโฆษณาก็เช่นกัน สิ่งที่เปลี่ยนไปมีทั้งพฤติกรรมการเสพสื่อ และแลนด์สเคปของสื่อเองด้วย

ประเด็นนี้ “ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ได้ให้คำจำกัดความว่า Next Normal เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลัง COVID-19

“วงการสื่อโฆษณาได้ผ่านจุดยากมาหลายปี โดยที่ COVID-19 เป็นเหมือนพายุลูกใหญ่ ที่ไม่เข้ามาเปลี่ยนสถานการณ์ แต่เข้ามาซ้ำเติม เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้สถานการณ์ยิ่งยากขึ้น”

Next Normal ที่เห็นได้ชัดที่สุด และบาดใจที่สุด “สื่อสิ่งพิมพ์” หนังสือพิมพ์ นิตยสาร จะเร่งตายเร็วขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่อยากจับแตะต้องสิ่งของที่เป็น Physical แต่สื่อที่อยู่ในบ้านจะมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นสื่อทีวี หรือออนไลน์ เพราะคนอยู่บ้านมากขึ้น ทำกิจกรรมบ้านมากขึ้น สื่อที่บ้านมีบทบาทเยอะขึ้น

“สื่อออนไลน์” ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาหลายปีก็ยังคงเป็นที่นิยม เพียงแต่จะมีความท้าทายเกิดขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มใช้หลายแพลตฟอร์ม นักการตลาดต้องจับพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้ แล้วทำการสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

คนอยู่บ้าน กลับมาดูทีวีมากขึ้น

จากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ “ทีวี” จึงได้รับอานิสงส์ คนกลับมาดูทีวีมากขึ้น 15% เสพคอนเทนต์ข่าวมากขึ้น เพราะต้องการแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

ภวัต บอกว่า มาตรการ Social Distancing ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีการดูข่าวมากขึ้น 20% เพราะผู้บริโภคยังชอบดูข่าวผ่านทีวี เพราะอยากได้แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ที่ผ่านมาในโลกออนไลน์มี “เฟคนิวส์” เยอะ ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ

ปัจจัยเสริมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทีวีมีราคาถูกลง ทั้งสมาร์ททีวี และทีวีจอใหญ่ ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน

เมื่อผู้บริโภคมีการดูข่าวมากขึ้น สถานีต่างๆ ได้ใช้กลยุทธ์ขยายช่วงเวลาข่าวมากขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มผังรายการ เพื่อให้ได้โฆษณามากขึ้น แต่ไม่ได้ปรับขึ้นราคา แต่การขยายช่วงเวลาข่าว ก็ไม่ได้ทำให้สถานีมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพราะการแข่งขันในวงการก็ยังคงสูงอยู่ โดยที่ 5 ช่องที่มีเรตติ้งรายการข่าวสูงที่สุด ได้แก่ ช่อง 7, ช่อง 3, ช่อง ONE, อัมรินทร์ และไทยรัฐทีวี

ภวัต เสริมว่า ตอนนี้ช่องทีวีเหลืออยู่ 15 ช่อง ยังเป็นตัวเลขที่มากไปอยู่ เมื่อเทียบกับเม็ดเงินโฆษณามูลค่า 4-5 หมื่นล้าน มองว่าการมีเพียงแค่ 6 ช่องเป็นตัวเลขกำลังดี

“ปัจจุบันทั้ง 15 ช่อง เหนื่อยหมด เจ็บตัวหมด ขาดทุนกันมาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะถอดใจหรือไม่ หรือว่ามีกฎหมายพิเศษออกมา เชื่อว่าต้องมี 4-5 ช่องต้องออกมาอีกแน่ COVID-19 ทำให้ทีวีได้รับความนิยมโดยเฉพาะรายการข่าว แต่ไม่ได้มีโฆษณามากขึ้น แต่กลับกันเม็ดเงินทีวีหดตัวด้วยซ้ำ คิดว่ามีแค่ 6 ช่องน่าเหมาะสมกับเม็ดเงินที่มีอยู่ในตลาด 4-5 หมื่นล้าน”

จากการประเมินของ MI นั้น มองว่า หลังจากที่มีการปลดล็อกดาวน์ต่างๆ สินค้ากลุ่ม Low Involvement หรือกลุ่มของใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ สกินแคร์ เครื่องสำอาง จะกลับมาใช้งบโฆษณามากขึ้น แต่กลุ่ม High Involvement ที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของผู้บริโภค อาจจะทำการตลาดเจาะกลุ่มบุคคลไป

ส่วนงาน “อีเวนต์” หรือการทำกิจกรรมออนกรานด์ อาจจะต้องหยุดพักไปจนถึงปลายไตรมาส 3 หรืออาจจะเริ่มได้ในไตรมาส 4 เลยทีเดียว