ประเทศไทยวันนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้กดปุ่มเริ่มต้นสู่โหมด “ปฏิรูป” เพื่อไม่ให้วิกฤตบ้านเมืองที่เจ็บปวดที่เกิดขึ้นมาแล้วต้องเกิดซ้ำอีก
แต่ความคาดหวังเห็นการ “ยกเครื่องประเทศไทย” สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ เพื่อแก้วิกฤตอย่างถาวร จะเป็นจริงแค่ไหน?
เพราะต้องยอมรับว่า ที่เห็นและเป็นไปภายหลังวิกฤตการณ์ม็อบเสื้อแดงคลี่คลาย สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการหลายเรื่อง ยังเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่เป็นปัญหาใหญ่และฝังตัวอยู่ในสังคมไทยมาหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนสถานการณ์เรื่องนี้ยังไม่ดีขึ้น
รวมทั้งเรื่องที่น่าหวั่นเกรง กับการก่อเหตุรุนแรง ที่เหมือนจะซาลงไปในช่วง โดยเฉพาะเหตลอบวางบอบยิงระเบิด เริ่มมีสัญญาณอันตรายกลับมา
“ไฟเผาเมือง” ที่เพิ่งมอดดับ รอสุมเชื้อฟืนแล้วปะทุขึ้นอีก?
ขณะที่หันมาดูแนวทาง “ดับไฟถาวร” กับแนวทางสร้างความสมานฉันท์ “แผนปรองดองแห่งชาติ” ที่อภิสิทธิ์จุดพลุขึ้นมา มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างบ้าง
เท่าที่เห็นก็มีแต่ คณะกรรมการ คณะกรรมการ และคณะกรรมการ
“สูตรสำเร็จ” ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ไล่ตั้งแต่คณะกรรมการตรวจสอบข้อและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
คณะกรรมการชุดนี้จะต้องเร่ง “ทำความจริงให้ปรากฏ” เพราะหลังวิกฤตยังมีความแคลงแคลงสงสัยในการปฏิบัติการกระชับวงล้อม19พฤษภาฯที่ผ่านมา
คนตาย90คน บาดเจ็บอีกเกือบ2พันราย กลายเป็นประเด็นร้อนที่แกนนำเสื้อแดง พรรคฝ่ายค้าน และทักษิณ ชินวัตร หยิบยกมาโจมตีนายกฯ “มือเปื้อนเลือด”
ฉะนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่จะต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อต่อสู้หักล้างกับข้อคลางแคลงสงสัย และบางเรื่องที่ถูก “บิดเบือน”
นอกจากนั้น คณะกรรมการอื่นๆ ทั้งคณะกรรมการประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่มี ศ.ดร.สมบัติ ธำรง ธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นประธาน
คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วสิฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน คณะกรรมการปฏิรูปสื่อที่นำโดย รศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ
รวมทั้งที่รัฐบาลตั้ง คัมภีร์ แก้วเจริญ อดีตอัยการสูงสุด มาสานต่อคณะกรรมการติดตามาตรวจสอบคดีฆ่าตัดตอน2,500ศพ สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ
และที่ต้องโฟกัสคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่นายกฯอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้น และมีเป้าหมายในการทำงานให้สัมฤทธิ์ผลในเบื้องต้น อย่างน้อยในช่วงปลายปี
จะมีแนวทางยกเครื่องประเทศ เพื่อเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้คนไทย
ชื่อของประธานคณะกรรมการ อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯที่จะเข้ามาดูแลคณะกรรมการปฏิรูป และ นพ.ประเวศ วะสี ที่เป็นประธานสมัชชาปฏิรูป
2ผู้อาวุโส “ยาสามัญประจำประเทศ” เป็นที่พึ่งหวังได้
เพียงแต่ยังต้องตั้งข้อสงสัยในหลายเรื่อง ทั้งตัวกรรมการที่จะถูกแต่งตั้งเข้ามา มีความหลากหลายแค่ไหน หรือจำกัดวงเฉพาะกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อาวุโส บุคคลชั้นนำ
เช่นที่ “หมอประเวศ” ยกโมเดลของการจะพัฒนการเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ในบ้านเมือง ต้องใช้พลัง3ด้าน คือพลังปัญญา พลังสังคม และพลังอำนาจ เกื้อหนุน
เป็นโมเดล “3เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ถึงจะทำให้งานปฏิรูปประเทศครั้งนี้สำเร็จ
หากไม่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มในสังคมร่วมขับเคลื่อน ไม่มีการสร้างความรู้ที่ตรงประเด็น อำนาจรัฐไม่เข้ามาบรรจบให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
การก้าวเดินไปข้างหน้าของประเทศไทยก็ยากจะสำเร็จ!
ไม่เท่านั้น ที่วางเป้าหมายของคณะกรรมการในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากร เรื่องอาชีพ รายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา กฎหมาย การเมือง การปกครอง ประชาธิปไตย และสื่อมวลชน
เป็นกรอบการทำงานที่ใหญ่ กว้าง และลึก เพราะเป็นปัญหาที่ฝังรากในบ้านเมืองมานาน จะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทั้งชาติ
ชนิดที่ต้องยกเป็น “วาระประเทศ”
และก็เป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐบาลวางกรอบให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้งสองชุดนี้ โดยให้อิสระในการทำงาน ออกระเบียบสำนักนายกฯรองรับ เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องในกำหนดเวลา3ปี ถึงจะเปลี่ยนรัฐบาลไป
รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนปีละ200ล้านบาท 3ปี รวม600ล้านบาท
ตรงนี้เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศโดยส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย และคาดหวังต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดยคณะกรรมการชุดนี้
เพียงแต่ปัญหาของประเทศที่เรียกว่าอยู่ในภาวะ “วิกฤตรุนแรง” ที่ไม่สามารถรีรอการแก้ไขปัญหาในระยะเวลายาวนานได้
จึงไม่แปลกที่คณะกรรมการชุดต่างๆ ร่วมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จะถูกมองว่าตั้งขึ้นมาเพื่อ “ยื้ออำนาจ” และ “ซื้อเวลา” เพื่อรัฐบาลจะได้อยู่บนอำนาจต่อไป
เพราะวิกฤตที่ผ่านไป หากไม่ต้องการให้เกิดซ้ำขึ้นอีก จะต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างรีบด่วน ควบคู่กันไปกับงานใหญ่ในระยะยาว
รัฐบาลที่มีอำนาจบริหารอยู่ในมือสามารถทำได้ทันที ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย จัดการกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มแข็ง
โดยเฉพาะกับการจัดการ ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์รุนแรง ถึงขั้น “ก่อการร้าย”
แม้ต้องแยกแยะ กลุ่มมวลชน กับผู้ก่อเหตุ กระนั้นก็ตามผู้กระทำความผิดจะต้องถูกส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม “ชดใช้กรรม”ที่ก่อโดยรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ต้องเร่งทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องกับประชาชน ใช้สื่อเพื่อลดความบาดหมาง สร้างสมานฉันท์ในสังคม
ที่สำคัญเลย นายกฯ และรัฐบาลจะต้องบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพ ดูแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งเรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่
และต้องควบคุมคณะรัฐมนตรี ให้ปราศจากการคอรัปชั่น ไม่มีเรื่องโกงกิน
หากทำงานเข้าตาประชาชน ต่อให้อดีตผู้นำ หรือแกนนำรายใดปลุกปั่น ก็ไม่สามารถดึงคนออกมาร่วมป่วนเมืองได้
ขณะที่งานด้านอื่นๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น ทั้งปรับโครงสร้างตำรวจ ปฏิรูปสื่อ การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการฆ่าตัดตอน ทุกเรื่องรัฐบาลมีอำนาจดำเนินการอยู่แล้ว
โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตบ้านเมืองที่ผ่านไป รัฐบาลมีกระแสประชาชนให้การสนับสนุนจนเรียกว่า “กระชับอำนาจ” มาอยู่ในมือเพิ่มขึ้น
ดังนั้นหากจะ “ตีเหล็ก” ต้องตีช่วงไฟยังร้อนยังแรง
ไม่ใช่บริหารบ้านเมืองกันแบบรีรอ ทำงานเสมือนอยู่ในภาวะปกติ รูทีน โดยเฉพาะการใช้สูตรสำเร็จซื้อเวลา รอผลสรุปของสารพัดคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น
ถึงที่สุดก็จะเจอ “บทเรียนซ้ำซาก” อย่างที่เคยได้รับจากเหตุการณ์เมษาฯ2552 จนมาเกิดเหตุพฤษภาฯ2553 ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
ถ้าไม่บริหารประเทศแบบ “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”