ดูเหมือนจะเป็นทางรอดของร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่นำเอาเบียร์สดมาบรรจุใส่แพ็กเกจจิ้งใหม่ “กระป๋องใส” พร้อมกับเปิดรับพรีออเดอร์ว่อนโลกโซเชียล แต่เกมพลิกเพราะเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายเข้าอย่างจัง และสินค้าอาจจะไม่ได้คุณภาพ เพราะเบียร์สดเมื่อโดนแสงทำให้รสชาติเปลี่ยน
ไอเดียบรรเจิด ยอดแชร์กระฉูด
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาในบนโลกโซเชียลเต็มไปด้วยการแชร์ต่อกันถึงภาพ “เบียร์สดกระป๋อง” เป็นอีกหนึ่งไอเดียทางรอดของเหล่าบรรดาเอเย่นต์ขายเบียร์ แม้ว่าตอนนี้ทางรัฐบาลจะปลดล็อกให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว แต่สินค้ากลุ่ม “เบียร์สด” ยังคงค้างสต็อก เพราะร้านเหล้า หรือสถานบันเทิงยังไม่เปิดให้บริการ
ทีนี้ร้านเหล่านี้จึงต้องหาทางออกด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขายออนไลน์ เดลิเวอรี่ หรือการเล่นแร่แปรธาตุให้เบียร์สดอยู่ในแพ็กเกจจิ้งอื่นๆ ซึ่งใครที่เป็นคอเบียร์จะทราบอยู่แล้วว่าเบียร์สดเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก มีกระบวนการเยอะ ทางที่ดีควรที่จะดื่มที่ร้าน หรือสถานที่ที่มีอุปกรณ์ครบ มิเช่นนั้นทำให้รสชาติผิดเพี๊ยนแน่นอน
แต่ “ว.มาร์ทเบียร์สด” เป็นเอเย่นต์รายใหญ่ในการขายเบียร์สดของผู้ผลิตเบียร์เจ้าใหญ่ๆ ในไทย ได้เริ่มไอเดียในการเอาเบียร์สดมาลงกระป๋องใส ปริมาณ 650 มิลลิลิตร พร้อมกับติดโลโก้แบรนด์เบียร์ต่างๆ เตรียมการจัดส่งเดลิเวอรี่ถึงบ้านลูกค้า เริ่มต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน
ว.มาร์ทได้ซุ่มเริ่มต้นบริการนี้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว โดยมีเบียร์สดเกือบทุกยี่ห้อ ราคาเริ่มต้นที่ 85 บาท ไปจนถึง 230 บาท พร้อมกับคิดค่าส่งตามระยะทาง แพงกว่าเบียร์ที่ขายตามท้องตลาด และอ้างว่าเก็บไว้ได้นาน 4-7 วัน
แต่ในช่วงไม่กี่วันมานี้เริ่มเป็นประเด็นมากขึ้นเพราะมีคนแชร์ต่อๆ กัน ทั้งในส่วนของผู้บริโภคเองที่ต้องการดื่มเบียร์สด และมองว่าเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ดี มีแพ็กเกจจิ้งใหม่ที่ทันสมัย แถมยังส่งถึงบ้าน อีกส่วนหนึ่งก็คือฝั่งผู้ขาย พบว่ามีตัวแทนจำหน่ายว่อนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นทางเอเย่นต์เอง และบุคคลทั่วไป เปิดรับพรีออเดอร์กันสนุกสนาน บางเจ้ามีการอัพราคาขึ้นไปถึงหลักร้อย!
จากโอกาสสู่วิกฤต เสี่ยงผิดกฎหมายเต็มๆ
ดูเหมือนว่าเคสนี้จะเป็นกรณีศึกษาในยุค COVID-19 ได้เช่นกัน จากตอนแรกที่ดูเหมือนว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่จริงๆ แล้วเป็นการพลิกโอกาสสู่วิกฤตเสียมากกว่า
เพราะมีหลายประเด็นที่ดูแล้วจะผิดกฎหมาย และผิดหลักโภชนาการอยู่มากมาย โดยที่มีหลายเพจ หลายคนได้ตั้งข้อสงสัยทั้งเรื่องลิขสิทธิ์ แพ็กเกจจิ้ง กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “ลลิตา มีสุข” ได้ตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ ได้แก่
- แพ็กเกจจิ้งไม่ได้การรับรองจากเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง ผิดเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์
- การแยกแอลกอฮอล์บรรจุขาย ต้องผ่านกรมสรรพสามิต (เช่นเดียวกับร้านขายยาดอง)
- ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือ โฆษณาอันเป็นเท็จ (เพราะในกรณีนี้ ผู้ขายไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ และสร้างแพ็กเกจจิ้งขึ้นมาเองโดยเจ้าของแบรนด์ไม่รับทราบ
- กฎหมายการฟอกเงิน เพราะไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่ ปปง. มีสิทธิ์อายัดเงินในบัญชีเจ้าของเอาไว้ตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้
พบว่าเบียร์สดกระป๋องเหล่านี้มีการแปลงบรรจุภัณฑ์ ไม่มีอากรแสตมป์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องใบขออนุญาตในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการโฆษณาบนโลกออนไลน์
เมื่อดูตามข้อกฎหมาย พบว่า การแบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บรรจุขาย ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 157 ซึ่งห้ามเปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อการค้า เว้นแต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตสุรา หรือผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 (ร้านค้าที่จำหน่ายสุราต่ำกว่า 10 ลิตร) เฉพาะกรณีผู้ซื้อได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุราเพื่อดื่มในขณะนั้น
ซึ่งจากการที่หลายๆ คนได้สอบถามไปยังเจ้าของแบรนด์เบียร์ พบว่าเจ้าของไม่ได้รู้เรื่องราวในการขายครั้งนี้ เป็นไอเดียของตัวแทนจำหน่าย แต่ในตอนนี้ยังไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ใดๆ ถึงประเด็นดังกล่าว
แต่ก็พบว่าหลายๆ โพสต์ที่มีการโพสต์ขาย หรือพรีออเดอร์ หรือแม้แต่ของว.มาร์ทเอง ก็ได้ทำการลบโพสต์ขายออกไปแล้วเรียบร้อย
เบียร์ไม่ได้คุณภาพ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญนอกจากเรื่องทางกฎหมาย คือ คุณภาพของสินค้า หรือคุณภาพของเบียร์สดนั่นเอง หลายคนได้แชร์ความเห็นทางเทคนิคมากมาย การบรรจุเบียร์ต้องละเอียดอ่อนมากๆ ต้องบรรจุในกระป๋อง หรือขวดสีทึบ เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดด และรักษารสชาติและสีของเบียร์ รวมทั้งต้องเก็บในที่เย็น
การที่นำเบียร์สดมาบรรจุในกระป๋องใสแบบนี้ อาจจะทำให้คุณภาพเบียร์เสื่อมลงอย่างแน่นอน บางคนบอกว่ารสชาติจะไม่นุ่ม ไม่ซ่า รสชาติเหมือเบียร์สดแบบค้างคืน
บางคนก็มองว่าเป็นการนำของค้างสต็อกมาเร่ขายให้ผู้บริโภค รสชาติคงจะไม่ได้มาตรฐานอย่างแน่นอน
จริงๆ แล้ววิกฤต COVID-19 ทำให้เห็นความทุข์ร้อนของหลายๆ ธุรกิจ และการปรับตัวของหลายๆ คนเช่นกัน แต่ไอเดียและความรับผิดชอบต่อสังคมก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องถึงประเด็นนี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะจบลงเช่นไร