ZEN รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ พบรายได้ไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 644 ล้านบาท ลดลง -11.9% ขาดทุน -44 ล้านบาท พลิกกลับด้านจากปีก่อนที่ยังทำกำไร เหตุจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำพิษต้องปิดร้านอาหาร แม้พยายามตัดค่าใช้จ่ายและหันมาส่งเดลิเวอรี่ก็ยังอยู่ยาก
บมจ.เซ็น คอร์ปอเร์ชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร ZEN, ตำมั่ว, เขียง ฯลฯ รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายได้ไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 644 ล้านบาท ลดลง -11.9% ขาดทุน -44 ล้านบาท พลิกกลับด้านจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ยังทำกำไร 32.1 ล้านบาท
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการเป็นไปตามคาด นั่นคือ ZEN ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ร้านอาหารทุกแห่งต้องปิดการบริการภายในร้านตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 จนรายได้จากธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักลดลง -13.2% แม้ว่าการให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารจะเติบโตขึ้น 24% ก็ตาม
ก่อนหน้านี้ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อกลางเดือนมีนาคมว่า ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เริ่มมีผลมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงและความหวั่นกลัวต่อโรคของคนไทย ทำให้ยอด walk-in เข้าร้านอาหารในเครือลดลงเฉลี่ย 20%
สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบของไวรัส COVID-19 ต่อร้านอาหารไม่ใช่เพียงช่วงปลายเดือนมีนาคมเท่านั้น แต่กินระยะเวลารวมกว่า 2 เดือนในช่วงไตรมาสแรกของปี
สู้สุดใจ ตัดทุกค่าใช้จ่าย
บริษัทยังรายงานถึงการบริหารภาระต้นทุนต่างๆ ด้วย โดยมีการเปิดสาขาใหม่ในไตรมาสแรกเพียง 1 สาขา (ไม่รวมสาขาแฟรนไชส์) ลดน้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการเปิดใหม่ 7 สาขา แต่ผลของการเปิดสาขาเพิ่มส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้นด้านค่าเช่า ค่าน้ำไฟ พนักงานประจำสาขา และค่าเสื่อมราคา
ช่วงที่ผ่านมา ZEN พยายามตัดค่าใช้จ่ายลงผ่านการเจรจาลดค่าเช่ากับศูนย์การค้า งดการทำโอทีพนักงาน ให้ผู้บริหารและพนักงานบางส่วน leave without pay เปลี่ยนมาทำการตลาดออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่ทันต่อรายได้ที่ลดลงไป
เดลิเวอรี่ยังได้ไม่เท่าขายหน้าร้าน
แน่นอนว่า ZEN มีการปรับตัวไปจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ทดแทน โดยมีทั้งช่องทางสั่งอาหารโดยตรงกับแบรนด์ และร่วมมือกับพันธมิตรทุกเจ้าคือ Grab, Get, Lineman และ Foodpanda แต่ผลประกอบการสะท้อนให้เห็นว่ารายได้จากการเดลิเวอรี่ยังไม่สามารถครอบคลุมการรับประทานหน้าร้านได้ เป็นช่องทางที่ช่วยพยุงตัวไว้เท่านั้น
บุญยงกล่าวว่า พฤติกรรมการทานอาหารเดลิเวอรี่จะแตกต่างจากหน้าร้านคือ กลุ่มสินค้าที่ขายดีจะเป็นอาหารราคาประหยัดไม่เกิน 200 บาทต่อจาน แต่ร้านในเครือบริษัทบางแบรนด์ เช่น ZEN ปกติราคาอาหารจะสูงกว่านั้น ทำให้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเดลิเวอรี่ ในทางกลับกัน ร้านอาหารราคาประหยัด เช่น เขียง นั้นพบว่าขายดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ZEN ยังระบุด้วยว่า การจัดจำหน่ายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่พันธมิตรทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย คือ ค่าคอมมิชชั่น โดยไตรมาส 1 ปีนี้บริษัทมีค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น 7 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน
ซีอีโอแห่งเครือ ZEN เคยประเมิน best case scenario ว่า หากสถานการณ์การระบาดดีขึ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ เชื่อว่าบริษัทจะยังทำอัตรากำไรสุทธิได้ที่ 4-5% แต่ถ้าหากการระบาดไม่จบในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทจะมีการปรับแผนอีกครั้ง (อ่านการปรับตัวรับมือ COVID-19 ของเครือ ZEN เพิ่มเติมได้ที่นี่)