แม้ว่าวิกฤติ COVID-19 จะทำให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์จนหลายองค์กรทั่วโลกออกมาตรการ ‘Work from Home’ แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอให้เกิดการลงทุนด้านไอที เนื่องจากเศรษฐกิจที่ต้องชะงัก กำลังซื้อของคนไม่มี องค์กรเองก็ต้อง รัดเข็มขัด ส่งผลให้แนวโน้มการใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2562 ถึง 8% ตามการคาดการณ์ล่าสุดของ การ์ทเนอร์อิงค์
การระบาดของ COVID-19 และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้ CIO หรือผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีและบริการ โดยได้เข้าสู่โหมด รัดเข็มขัด ซึ่งหมายความว่า การลงทุนจะลดลงและการจัดลำดับความสำคัญเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด สำหรับองค์กรส่วนใหญ่ตลอดทั้งปี 2563
สำหรับการใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2563 ที่คาดว่าลดลง -8% แบ่งเป็น
- การลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ -9.75%
- ซอฟต์แวร์ในองค์กร -6.9%
- อุปกรณ์ดีไวซ์ -15.5%
- บริการทางด้านไอที -7.7%
- บริการทางด้านสื่อสาร -4.5%
จะเห็นว่าตลาดไอทีทุกกลุ่มประสบกับการใช้จ่ายที่ลดลง โดยเฉพาะในตลาดอุปกรณ์ดีไวซ์และระบบดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะที่รูปแบบการทำงานระยะไกลในกลุ่มย่อย เช่น บริการคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เป็นกลุ่มเดียวที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 19% ในปี 2563 ซึ่งจะเห็นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในด้านการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ ข้อความและการประชุมบนระบบคลาวด์โดยเติบโตขึ้น 8.9% และ 24.3% ตามลำดับ
“การฟื้นคืนสู่สภาวะปกติจะไม่เป็นไปตามรูปแบบดังเช่นสถานการณ์ที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากพลังที่อยู่เบื้องหลังสภาวะของการถดถอยนี้จะทำเกิดแรงสะท้อนอย่างรุนแรงต่อทั้งอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันอันเนื่องมาจากการผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข สังคมและการค้า” นายจอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย บริษัท การ์ทเนอร์ กล่าว
ในส่วนของประเทศไทย คาดว่าการใช้จ่ายไอทีจะลดลงต่ำกว่าทั่วโลกที่ -9.3% แบ่งเป็น
- การลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ -17.9%
- ซอฟต์แวร์ในองค์กร -3.6%
- อุปกรณ์ดีไวซ์ -18.1%
- บริการทางด้านไอที -6.7%
- บริการทางด้านสื่อสาร -5.9%
“อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศและอุตสาหกรรมหนัก (อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักรกล แรงงานและเงินจำนวนมาก) แม้ว่าการใช้จ่ายด้านไอทีจะค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตลอดปี 2563 แต่มองว่าต้องใช้เวลานานกว่าสามปีในการกลับมามีมูลค่าเทียบเท่ากับปี 2562”