รัฐบาลอังกฤษ ขยายมาตรการอุ้มเอกชน ช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 80% ไปอีก 4 เดือน

Photo : Shutterstock

รัฐบาลอังกฤษ ประกาศขยายมาตรการช่วยเหลือพนักงานของบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ไม่สามารถสามารถปฏิบัติงานได้ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ออกไปอีก 4 เดือนจนถึงเดือน ต.ค.นี้

โดยรัฐบาลยังจะคงให้เงินสนับสนุนเงินเดือนพนักงานต่อไปอย่างน้อย 80% ของอัตราเงินเดือนเดิมเเต่ต้องไม่เกิน 2,500 ปอนด์ (ราว 9.8 หมื่นบาท) ต่อเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงานเเละปิดกิจการ ซึ่งตามกำหนดเดิมมาตรการนี้จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. เเต่เห็นว่าสถานการณ์การเเพร่ระบาดในอังกฤษยังคงน่าเป็นห่วง จึงขยายออกไปอีก 4 เดือน จนถึงเดือน ต.ค.นี้

Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ตอนนี้มีพนักงานกว่า 7.5 ล้านคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ เพิ่มขึ้นจาก 6.3 ล้านคนในสัปดาห์ก่อน

ขณะเดียวกันมีบริษัทในอังกฤษราว 9.35 เเสนบริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ โดยทางบริษัทต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ถูกพักงาน 20% (ส่วนรัฐจ่ายเเทนอีก 80%) ให้ครอบคลุมอัตราค่าจ้างเดิม เพื่อให้ยังคงรักษาตำแหน่งงานต่อได้ โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านปอนด์

“มาตรการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปทั่วสหราชอาณาจักรจนถึงเดือนต.ค. แต่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะทยอยกลับไปทำงานในช่วงเดือน ส.ค.”

กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจของอังกฤษในปีนี้จะร่วงลงถึง 14% จึงต้องมีการขยายมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่าชาวอังกฤษวกว่า 72% เห็นด้วยกับการขยายมาตรการนี้ แม้ว่าจะมีกระเเสข่าวว่ามีบริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการก็ตาม

ทั้งนี้ คาดว่าการยืดมาตรการช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานออกไปอีก 4 เดือนจะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 10,000 ล้านปอนด์ พร้อมมีมาตรการปล่อยเงินกู้พิเศษให้ธุรกิจอีกราว 14,000 ล้านปอนด์ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลช่วยเหลือเศรษฐกิจมาตั้งเเต่เดือน มี.ค. จะเพิ่มเป็นราว 6,000 หมื่นล้านปอนด์

ด้านสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 สหราชอาณาจักรยังอยู่ในช่วงรุนเเรงด้วยยอดผู้ป่วยสะสมมากกว่า 2.24 เเสนราย มีผู้เสียชีวิตเเล้วกว่า 3.2 หมื่นราย ซึ่งถือว่าเป็นยอดผู้เสียชีวิตที่สูงสุดในยุโรปเเละเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยรัฐบาลอังกฤษต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ที่มา : BBC , AFP