ค่ายหนังหน้าใหม่ Coming Soo

เทคโนโลยี 3มิติ กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ค่ายหนังหน้าใหม่เดินเข้ามาอยู่ในสปอตไลต์ และหวังว่าจะสามารถสตาร์ทเข้าสู่ธุรกิจนี้เทียบเท่ากับค่ายใหญ่ที่อยู่ในวงการนี้มานับสิบปี ปลายปีนี้มี 2เรื่องที่วางโปรแกรมไปอยู่ในบ็อกซ์ออฟฟิศแล้วคือหนังของ “ทรู แฟนเทเซีย” ที่นำเสียงกรี๊ดที่ดังจากแฟนๆ ศิลปินAF มาต่อยอดผสมผสานระหว่างหนังและคอนเสิร์ต เดินตามแนวของ Michale Jackson’s This is it และค่ายโอป้า สตูดิโอ ที่ส่งแอนิเมชั่นดึงเด็ก ๆ …สีสันของ3มิติในโรงหนังจึงกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ทรูฯ โชว์หนังคอนเสิร์ตAFเรียกเสียงกรี๊ด

ถ้าจะเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจหนัง ก็ต้องมาพร้อมความใหม่ และ3มิติ คือสิ่งที่ “ทรู แฟนเทเชีย” บริษัทบริหารศิลปินที่เกิดจากรายการเรียลิตี้โชว์ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย (AF) ในเครือของทรูวิชั่นส์ เลือกเป็นอาวุธ ที่สามารถใช้โมเดลธุรกิจคอนเวอร์เจนซ์ให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ และเดินเข้าสู่วงการหนังเป็นครั้งแรก

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอ กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผลักดันเต็มที่กับธุรกิจใหม่ของ “ทรู แฟนเทเซีย” ในโปรเจกต์คอนเสิร์ต และหนัง3มิติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทรู แฟนเทเชีย จะมีหนังลงโรง ซึ่งศุภชัยบอกว่า ความพยายามนี้ผู้ชมจะได้เห็นภายในสิ้นปีนี้ เพราะ3มิติคือเทคโนโลยีที่มาแรงในธุรกิจบันเทิงและจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

จุดเริ่มต้นของหนังจากค่ายทรูฯเป็นการต่อยอดจากคอนเสิร์ต “The Winners Project” ที่มีแชมป์ AFทั้ง 6 รุ่นมาร่วมแสดงคอนเสิร์ต ที่กำหนดไว้เล่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองทำให้ต้องเลื่อนการแสดง และกำหนดวันแสดงใหม่เป็น 22 สิงหาคม 2010

ระหว่างนั้น “อาจกิจ สุนทรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ ทรูแฟนเทเชีย ลองศึกษาเทคโนโลยี 3 มิติที่จะนำมาใช้ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม… แล้วโปรเจกต์ 3 มิติของทรู แฟนเทเชียก็เดินหน้าเต็มที่

“อาจกิจ” บอกว่า The Winners Project ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น The First 3D Concert เพื่อบ่งบอกสถานะให้ชัดเจนเลยว่านี่คือคอนเสิร์ต 3 มิติคอนเสิร์ตแรกในไทย และเปลี่ยนสถานที่แสดงจากอิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี มาเป็นอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก เพราะมีรูปทรงโค้ง ที่เหมาะกับการนำเสนอ 3 มิติ และระหว่างการแสดงจะมีภาพ 3 มิติ ที่นำเสนอเรื่องราวของAFแต่ละคนมาแทรก ขณะเดียวกันผู้ชมจะต้องใส่แว่น 3 มิติบางช่วง

เมื่อคอนเสิร์ตจบแล้ว แต่โปรเจกต์นี้ยังไม่จบ เพราะการแสดงบนเวทีวันนั้นทั้งหมดจะถูกบันทึกภาพ ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ ด้วยกล้องประมาณ 30 ตัว โดยมีผู้กำกับกล้องจากเกาหลี และส่งไปตัดต่อที่เกาหลีใช้เวลา 2 เดือน ที่ทรูฯวางเป้าหมายว่าจะเป็นหนังเรื่องแรกที่เป็น 3 มิติที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย และออกฉายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ด้วยโมเดลธุรกิจที่มีรายได้จากการจำหน่ายตั๋ว และรายได้จากสปอนเซอร์สินค้าต่างๆ ส่วนเงินลงทุนนั้นประมาณ 50 ล้านบาท

คอนเซ็ปต์นี้เป็นเทรนด์เดียวกับคอนเทนต์ความบันเทิงใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากการเสียชีวิตของราชาเพลงป๊อป “ไมเคิล แจ็คสัน” ก่อนการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ในปลายปี 2009 ที่ผ่านมา และมีภาพยนตร์ Michale Jackson’s This is it เป็นมาตรฐานให้คนในแวดวงธุรกิจเพลงและหนังเดินตาม

จากโรงภาพยนตร์แล้วจะมีแผ่นดีวีดี บลูเรย์จำหน่ายตามมา และด้วยโมเดลคอนเวอร์เจนซ์ของกลุ่มทรูฯ ช่องทางของหนังเรื่องนี้ ยังสามารถออนแอร์ผ่านทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวี และเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ล่าสุดทรูออนไลน์เปิดให้บริการใหม่สำหรับกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ ด้วยบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 50 Mbps ที่สามารถดาวน์โหลดหนัง HD และ 3มิติ ได้ภายในไม่กี่นาที

เทคโนโลยี 3 มิตินอกจากกำลังตอบโจทย์ทางธุรกิจแล้ว “อรรถพล ณ บางช้าง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายรายการ ทรูวิชั่นส์ บอกว่า 3มิติ คืออีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ชมได้อรรถรสในการชมคอนเทนต์บันเทิงมากขึ้น และทรูวิชั่นส์ ก็เป็นคนแรกที่นำเรื่องเทคโนโลยี 3 มิติมาใช้เมื่อปีที่แล้วกับ AF6 พร้อมๆ กับการผลักดันเทคโนโลยีภาพความละเอียดสูงHD (High Definition) ในช่องรายการต่างๆ

แม้ในเมืองไทย 3 มิติกำลังเริ่มคึกคักที่โรงหนัง แต่ 3 มิติก็กำลังเข้ามาสู่บ้านของผู้ชมจากการที่ผู้ผลิตเครื่องทีวีกำลังแข่งขันกันทำตลาดเครื่องรับแบบ HD 3 มิติกันมากขึ้น และเชื่อว่าอีก 3-5 ปี การดูทีวี 3 มิติจะเป็นเรื่องปกติในการรับชมที่บ้าน ทั้ง HD และ 3 มิติ คือการตอบโจทย์การวางยุทธศาสตร์ของทรูวิชั่นส์ ในการพยายามนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้าง ความต่างให้กับผู้ชมในการจ่ายเพื่อเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี นอกเหนือจากการสร้าง Awareness ให้คนรับรู้แบรนด์ของทรูวิชั่นส์ในการนำสิ่งใหม่ๆ ให้ผู้ชม

“โอป้า สตูดิโอ” หาที่ยืนใหม่ด้วย 3 มิติ

“โอป้า สตูดิโอ” โปรดักชั่นส์เฮาส์ที่ผลิตคอนเทนต์บันเทิงอย่างเอ็มวี เขียนละครทีวี กำลังเป็นค่ายหนังหน้าใหม่ ด้วยโปรเจกต์หนังการ์ตูน 3 มิติ “ซูเปอร์ แพนด้า” หลังการเจรจาเป็นหุ้นส่วนกันลงตัวระหว่าง “อภิชัย เอกชัยชาญเวทย์” ครีเอทีฟและเจ้าของโอป้า สตูดิโอ กับ “จิรัฐ บวรวัฒนะ” ผู้บริหารของโรสมีเดีย

หลังการเข้าถือหุ้นส่วนคนละครึ่ง “จิรัฐ” ก็เดินหน้าเต็มที่ในการนำประสบการณ์เกี่ยวกับการซื้อหนังการ์ตูน การติดต่อกับค่ายหนังต่างประเทศ มาร่วมวางแผนธุรกิจกับ “อภิชัย” จนลงตัวกับเรื่อง “ซูเปอร์ แพนด้า” ที่จะเป็นทั้งทีวีซีรี่ส์ ที่ออนแอร์ในฟรีทีวี (ช่อง 7 หรือ ช่อง 9 อสมท) และหนัง 3 มิติที่จะฉายภายในสิ้นปีนี้ รวมไปถึงการต่อยอดไปถึงสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูน

ทั้งทีวีซีรี่ส์ และหนัง 3 มิติ “จิรัฐ” บอกว่าขณะนี้คาดว่าต้องใช้งบลงทุนรวมประมาณ 100 ล้านบาท แต่เฉพาะทีวีซีรี่ส์ได้มีผู้ร่วมทุนมาเลเซียมาร่วมโครงการด้วยแล้ว ส่วนหนัง 3 มิติกำลังเจรจา แต่แม้ว่าพาร์ตเนอร์ต่างชาติไม่ตกลง แต่เขากับ “อภิชัย” ก็พร้อมเดินหน้าเต็มที่ เพราะหวังว่าจะเป็นรายแรกในเมืองไทยในการผลิตหนัง 3 มิติ

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา “จิรัฐ” ยังได้ทดสอบนำโปสเตอร์ของซูเปอร์แพนด้า 3 มิติ ไปพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวงการที่เทศกาลหนังที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสด้วย ณ เวลานั้น คอมเมนต์ต่อหนังคือสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก่อนที่จะนำมาปรับคอนเทนต์อีกครั้ง เพราะไม่เพียงแต่เขาจะคิดว่าจะฉายในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังหวังไกลไปถึงการขายให้กับสายหนังในต่างประเทศอีกด้วย

“จิรัฐ” บอกว่าเขามั่นใจว่าการเริ่มต้นธุรกิจในเส้นทางภาพยนตร์ด้วยหนัง 3 มิติคือโอกาสสำคัญสำหรับ “โอป้า สตูดิโอ” เพราะหนัง 3 มิติคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชม เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้ผู้ชมตัดสินใจออกจากบ้านไปดูหนัง ที่ดีกว่าด้วยเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบกับราคาตั๋วหนังที่ 200-300 บาทแล้วหากไม่ใช่ 3 มิติ ผู้ชมจะเลือกซื้อแผ่นดีวีดีดูที่บ้านมากกว่า นอกจากนี้โรงภาพยนตร์ 3 มิติก็เกิดขึ้นมาก เป็นจุดที่ทำให้เข้าถึงผู้ชมในจำนวนมากพอที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุน

สำหรับ “อภิชัย” แล้วในฐานะครีเอฟทีฟ และผู้ก่อตั้งบริษัทโอป้า สตูดิโอ เขามองว่า ธุรกิจภาพยนตร์ในเวลานี้ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดนับตั้งแต่เขาอยู่บนเส้นทางนี้มานานกว่า 20 ปี ทำให้พฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนไปในกลุ่มที่ชัดเจนคือการออกไปดูปรากฏการณ์ใหม่ๆ ไปดูเทคโนโลยีของหนัง จากเมื่อก่อนการไปดูหนังคือการออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน เมื่อคนพบกันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มากขึ้น การใช้หนังเป็นสื่อก็อาจลดลง แต่เมื่อมีเทคโลยีใหม่ ทำให้หนังกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น

และนี่คือโอกาสสำหรับเขาทั้งสองคนในวันนี้