ผลประกอบการเป็นไปตามคาดหลังวิกฤตโรคระบาด COVID-19 พังธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหาร “CENTEL” เจ้าของเชนโรงแรมเซนทาราและร้านอาหารเครือ CRG รายงานรายได้ไตรมาสแรกลดลง -18.5% และขาดทุนสุทธิ 45.1 ล้านบาท พลิกกลับจากปีก่อนที่เคยทำกำไรอู้ฟู่ มองอนาคตการท่องเที่ยวปี 2563 กรณีที่ดีที่สุดจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3
บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไตรมาส 1/63 ทำรายได้ 4,601 ล้านบาท ลดลง -18.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ด้านผลกำไรพบว่า ขาดทุนสุทธิ 45.1 ล้านบาท พลิกกลับจากปีไตรมาส 1 ปีก่อนที่เคยมีกำไรสุทธิถึง 826 ล้านบาท
ทั้งนี้ CENTEL มีธุรกิจสองส่วนหลักคือ รายได้ธุรกิจโรงแรม และรายได้ธุรกิจอาหาร โดยได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ระบาดทั้งสองกลุ่มธุรกิจ แต่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า วัดจากรายได้ธุรกิจโรงแรมที่ลดลง -34.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ธุรกิจอาหารลดลงเล็กน้อยที่ -2.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัทสามารถปรับไปบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ช่วยพยุงรายได้ได้บ้าง
โรงแรมในกรุงเทพฯ อ่วมสุด
สำหรับธุรกิจโรงแรมในเครือเซ็นทรัลที่เปิดบริการแล้วมีทั้งหมด 42 แห่ง (7,808 ห้อง) ในจำนวนนี้เป็นโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ 18 แห่ง (4,457 ห้อง) ส่วนที่เหลือเป็นสัญญาจ้างบริหาร
ในกลุ่มโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ มีอัตราการเข้าพักลดลง -24.6% และทำรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) ลดลง -31.7% โดยโลเคชันที่หนักที่สุดคือโรงแรมในกรุงเทพฯ เทียบกับโรงแรมในต่างจังหวัดของไทยและที่หมู่เกาะมัลดีฟส์ เนื่องจากโรงแรมที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักลดลง -34.3% และ RevPar ลดลงถึง -51.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม
สาเหตุเป็นเพราะไวรัส COVID-19 ส่งผลให้งานสัมมนาในกรุงเทพฯ เลื่อนการจัดงานไปก่อน ขณะที่โรงแรมต่างจังหวัดและที่มัลดีฟส์ยังมีนักท่องเที่ยวอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และนักท่องเที่ยวบางกลุ่มกลับปรับเพิ่มขึ้นด้วย เช่น มัลดีฟส์มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มขึ้น 10% ในไตรมาสที่ผ่านมา
เดลิเวอรี่พยุงยอดขายร้านอาหาร
ด้านธุรกิจอาหารในเครือเซ็นทรัลทั้งหมด 14 แบรนด์ เช่น KFC, Mister Donut, Auntie Anne’s , โอโตยะ, Pepper Lunch, The Terrace ฯลฯ รวมทั้งหมด 1,060 สาขา รายได้รวมลดลง -2.9% แต่หากวัดยอดขายเฉพาะสาขาเดิม (Same Store Sales) มียอดขายลดลง -9.5%
แม้ว่าเซ็นทรัลจะปรับไปรุกตลาดจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่ แต่ก็ยังทดแทนรายได้นั่งทานในร้านไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นและไทย
ตัดงบลงทุนครึ่งหนึ่ง
สถานการณ์ปัจจุบันของ CENTEL ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ เหลือเพียง 2 แห่งที่ยังเปิดทำการคือ เซ็นทาราฯ เซ็นทรัลเวิลด์ และ เซ็นทราฯ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยบริษัทมีการลดต้นทุน ตัดงบลงทุนปี 2563 ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 4 พันล้านบาท เพื่อลงทุนเฉพาะส่วนที่จำเป็นและเป็นงานต่อเนื่อง รวมถึงให้พนักงานลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (leave without pay)
บริษัทประเมินว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โรคระบาดค่อยๆ คลี่คลาย เชื่อว่าจะควบคุมได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และหลังจากนั้นธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 เมื่อภาครัฐผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางคาดว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะเริ่มมีดีมานด์เพิ่มขึ้น ติดตามมาด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติและงานสัมมนา อย่างไรก็ตาม คาดว่า RevPar ของปีนี้จะลดลงไป 40-50% เทียบกับปีก่อน
ส่วนธุรกิจอาหาร ประเมินยอดขายปี 2563 อยู่ที่ 1-1.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดเมื่อเดือนเมษายนมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน บริษัทจะเริ่มขยายสาขาอีกครั้งในไตรมาส 3 และจะเน้นเฉพาะสาขาที่ขายแบบเดลิเวอรี่เป็นหลักคือ สาขารูปแบบ Cloud Kitchen, สแตนด์อะโลน และไดรฟ์ ทรู
รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกเป็นการฉายภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงเดือนเดียวคือเดือนมีนาคม ขณะที่ไตรมาส 2 ซึ่ง COVID-19 จะแผลงฤทธิ์เต็มไตรมาส เชื่อว่าผลกระทบจะรุนแรงยิ่งขึ้น หวังเพียงว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยเร็วเพื่อกลับมาฟื้นธุรกิจได้ในช่วงครึ่งปีหลัง