ผลการศึกษาโดย YouGov ระบุว่า ช่วงเดือนมีนาคมพบว่ากว่า 32% ของผู้ตอบคำถามชาวไทยได้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ 39% สั่งซื้ออาหารทางออนไลน์เพิ่มมากกว่าปกติ และมากกว่า 44% ใช้เวลาในการรับชมออนไลน์คอนเทนต์มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ คนไทยกว่า 71% เข้าห้างสรรพสินค้าน้อยลง 45% ออกไปใช้จ่ายที่หน้าร้านค้าแบบออฟไลน์น้อยลง และมี 38% ที่ยกเลิกแผนการที่จะออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยจากตัวเลขคงจะเห็นแล้วว่า ‘ออนไลน์’ มีบทบาทสำคัญในช่วง COVID-19 มากจริง ๆ
ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการเติบโตธุรกิจ ประจำ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้กว่า 2,600 ล้านคนต่อเดือน และผู้ใช้ Instagram กว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีผู้ประกอบการกว่า 140 ล้านราย และจากจำนวนผู้ใช้ดังกล่าว Facebook จึงออกนโยบายในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ข้อมูลที่เชื่อถือได้ 2.สนับสนุนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านอนามัย 3.ต่อต้านข้อมูลเท็จ 4.ให้การช่วยเหลือภาครัฐ ประชาชน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจขนาดเล็ก’ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่ง Facebook ได้ออกแคมเปญ #SupportSmallBusiness เพื่อช่วยเหล่าเหล่า SME
“กว่า 78% ของ SME บน Facebook ของไทยใช้แพลตฟอร์มเพื่อการแสดงสินค้าและบริการแก่ลูกค้า ราว 9 ใน 10 ระบุว่าโซเชียลมีเดียมีความจำเป็นต่อธุรกิจ และ 94% ระบุว่าการโปรโมตสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงโซเชียลมีเดีย มีความสำคัญต่อธุรกิจของพวกเขา”
ในส่วนของขั้นตอนช่วยเหลือได้แบ่งเป็น 2 ส่วน 1.เพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ อาทิ ออกแฮชแท็ก #ร้านดีบอกต่อ เพื่อให้แนะนำร้าน SME ที่ชื่นชอบ และเปิดตัวสติกเกอร์ ‘ร้านดีบอกต่อ’ บน Instagram เมื่อมีใครใช้สติกเกอร์ เนื้อหาดังกล่าวจะถูกนำไปรวมอยู่ใน Instagram Stories ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งาน Stories มากกว่า 500 ล้านคนต่อวัน และ 90% ของผู้ใช้ทั่วโลกติดตามธุรกิจบนแพลตฟอร์ม อีกทั้ง Instagram ยังเป็นพาร์ตเนอร์กับ Grab และ Food Panda เพื่อให้สั่งผ่าน Instagram ได้อีกด้วย
ในส่วนที่ 2.เป็นการช่วยย้ายธุรกิจมาขึ้นออนไลน์ โดยออกคู่มือเคล็ดลับการใช้งานให้กับผู้ประกอบการ อาทิ วิธีใช้ Facebook Live และ Messenger เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี 3 เทรนด์ที่มาแรง คือ 1.ไลฟ์ช้อปปิ้ง หรือการไลฟ์ขายสินค้า 2.การขายสินค้าผ่านกรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6 ล้านกรุ๊ปในไทย และมีผู้ใช้กว่า 45 ล้านคนกระจายอยู่ในกรุ๊ป และ 3.การขายสินค้าผ่าน Messenger หรือ Conversation Commerce
นอกจากฟีเจอร์ใหม่ ๆ และมาตรการสนับสนุนแล้ว Facebook ยังได้เตรียมบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้เป็นเงินทุนแก่ SME จำนวน 30,000 ธุรกิจใน 30 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการประกาศถึงเงื่อนไขในการรับเงินสนับสนุนในส่วนนี้
“ด้วยวิกฤติที่ผ่านมา มีหลายอุตสาหกรรมหันมาใช้ไลฟ์เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้า และมีกลุ่มใหม่ ๆ ที่เกิดมากมาย อาทิ จุฬามาร์เก็ตเพลส และสุดท้ายคนไทยมีนิสัยชอบแชร์อยู่แล้ว เราจึงทำแฮชแท็กและสติกเกอร์ร้านดีบอกต่อออกมา”
ปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่เริ่มก่อตั้งกลุ่ม จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส มาจากการที่เริ่มเห็นยอดขายขนมที่วางขายในกลุ่มเบียดยอดขายของเพจ ซึ่งทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกรุ๊ปบน Facebook ซึ่งมองว่าเสน่ห์ของกรุ๊ปคือ การมี ‘จุดร่วม’ และเป็น ‘ส่วนตัวกว่า’ ซึ่งเหมาะที่จะทำให้เกิด Business Matching อีกทั้งยังใช้เป็นพื้นที่แจ้งโปรโมชันได้อย่างดี
“ต่อให้คนจะออกไปช้อปข้างนอกได้มากขึ้น เพราะเราเริ่มคลายล็อกดาวน์ แต่เชื่อว่ากลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลสจะยังอยู่ และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะในอนาคนอาจต่อยอดเกิดเป็นงานอีเวนต์ได้”