ท่ามกลางมรสุมโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งถาโถมพัดถล่ม “จีน” เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก บรรดาผู้มองโลกแง่ร้ายจากฟากฝั่งตะวันตกกลับรุดเร่งออกมาพร่ำพรรณนาภาพความเลวร้ายของ “เศรษฐกิจจีน”
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน NBC News สถานีโทรทัศน์สัญชาติอเมริกัน รายงานว่าการหดตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ได้สั่นสะเทือน “สถานะศูนย์กลางเศรษฐกิจ” ของจีน ขณะที่ไอริส ผาง (Iris Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของ ING สถาบันการเงินระดับโลก ระบุในรายงานเมื่อเดือนมีนาคมว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเผชิญ “ฝันร้าย” ต่อไป
อย่างไรก็ดี ผู้มองโลกแง่ร้ายเหล่านี้หลงลืมว่ามรสุมลูกนี้จะพัดผ่านพ้นไปในท้ายที่สุด และจีนที่ครองฐานะ “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก” มีความยืดหยุ่นเพียงพอจะฟันฝ่าวิกฤตนี้ในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้โลกหลังหายนะโรคระบาดจึงสามารถมั่นใจในเศรษฐกิจจีนได้ โดยมีเหตุผลหลัก 4 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของจีนยังมั่นคง และมีเสถียรภาพ
ปัจจุบันจีนกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการผลิตภายในประเทศอย่างเป็นระเบียบ โดยผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ กลับมาเติบโตในเดือนเมษายนด้วยกิจกรรมการผลิตของโรงงานที่กลับมาเป็นปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป บ่งชี้พัฒนาการโดยรวมของเศรษฐกิจมหภาค
นอกจากนั้นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่าดัชนีชี้วัดภาคบริการ และยอดค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนเมษายนลดลง 4.5% และ 7.5% ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าเดือนมีนาคมที่ลดลงถึง 9.1% และ 15.8% ตามลำดับ
ประการที่ 2 จีนเก่งกาจในการแสวงหาโอกาสและบ่มเพาะแหล่งการเติบโตอันสดใหม่ในห้วงยามแห่งวิกฤตการณ์
ตัวอย่างเช่น วิกฤตการเงินเอเชีย ปี 1997 (วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540) และวิกฤตการเงินโลก ปี 2008
ช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ที่จีนคลุกฝุ่นตะลุมบอนอยู่กับไวรัสร้าย ภาคบริการอินเทอร์เน็ต และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศกลับมีรายได้รวม 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.89 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยปัจจัยหลักมาจากความต้องการทำงาน ประชุมทางไกล และการศึกษาเล่าเรียนผ่านระบบออนไลน์
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซก็โอบรับกระแสคลื่นแห่งความต้องการลูกใหม่นี้อย่างแข็งขัน โดยการขายของผ่านเทคโนโลยี Livestreaming หรือไลฟ์สด ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสินค้าทุกประเภทได้จากที่บ้าน กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประการที่ 3 จีนครองบทบาทที่มิอาจมีใครแทนที่ในห่วงโซ่อุปทานโลก
การที่ประชาคมระหว่างประเทศต่างพิจารณาทบทวนจุดบกพร่องของห่วงโซ่อุปทานโลกปัจจุบันที่ปรากฏออกมาในวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้ และพยายามเพิ่มหนทางป้องกันเศรษฐกิจโลกจากนานาความเสี่ยง ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เข้าใจได้ แต่การที่พวกฝักใฝ่แต่แพ้หรือชนะในวอชิงตันประโคมทฤษฎีแยกตัว (decoupling) ซึ่งแสวงหาการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ และการแยกตัวจากจีนอย่างเด็ดขาดนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไร้ความรับผิดชอบ และไม่มีทางเป็นไปได้
หนึ่งเหตุผลหลักที่จีนจะยังคงเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลกคือ จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอุตสาหกรรมครบทุกประเภทตามการแบ่งแยกของสหประชาชาติ (UN) และภาคการผลิตของจีนก็ครองสัดส่วนเกือบ 30% ของภาคการผลิตทั้งหมดในโลก นอกจากนั้นจีนยังเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนผู้มีรายได้ปานกลางกว่า 400 ล้านคน ซึ่งมุ่งเปิดกว้าง และกระจายโอกาสการแข่งขันในตลาดภายในประเทศแก่ทั้งธุรกิจจีน และต่างชาติ
ผลสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมโดยหอการค้าอเมริกัน (AmCham China) ในกรุงปักกิ่ง พบว่าบรรดาธุรกิจสหรัฐฯ ยังคงมั่นใจ และคาดหวังจากผู้บริโภคชาวจีน แม้พานพบผลกระทบหนักหน่วงจากโรคระบาด โดยปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศบนจีนแผ่นดินใหญ่ฟื้นตัวในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบปีต่อปี
ประการที่ 4 จีนดำเนินนโยบายที่กว้างขวางครอบคลุมจนเพียงพอจะรองรับผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้
มาร์ติน เรสเซอร์ (Martin Raiser) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำจีน กล่าวว่ารัฐบาลจีนได้เสริมสภาพคล่องแก่ตลาดและการสนับสนุนแบบพุ่งเป้าแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดย่อม (SME) และบริษัทต่างๆ ซึ่งดำเนินการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ เพื่อค้ำจุนให้ธุรกิจห้างร้านเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันจีนมีโอกาสขยับขยายและปรับปรุงระบบคุ้มครองทางสังคมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเพิ่มพูนการลงทุนแบบพุ่งเป้าในโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่
กรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ได้ตัดสินใจ ณ การประชุมว่าด้วยร่างรายงานการปฏิบัติงานของรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ว่าจีนควรเพิ่มการดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกในทิศทางบวก นโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสม และนโยบายเน้นการจ้างงานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เมื่อกลางเดือนเมษายนว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 1.2% ในปีนี้ แม้มีการหดตัวในไตรมาสแรกก็ตาม ก่อนจะกระโดดกลับมาเติบโตถึง 9.2% ในปี 2021 กลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้ส่งสัญญาณความมั่นใจของโลกต่อเศรษฐกิจจีนที่มีความยืดหยุ่นในโลกยุคหลังโรคระบาดใหญ่
ขณะที่อดัม โพเซน (Adam Posen) ประธานสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (PIIE) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า “สถานะทางเศรษฐกิจของจีนจะผงาดง้ำค้ำโลก” หลังการระบาดของโรค COVID-19