ค่ายเพลง Warner Music Group ต้นสังกัดศิลปินดังอย่าง Ed Sheeran เดินหน้าเปิดไอพีโอ ระดมทุนจากตลาดหุ้น โหนกระแสสตรีมมิ่งมาแรง ตีมูลค่าบริษัทสูงถึง 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม COVID-19 คือปัจจัยลบ ทำให้ปีนี้รายได้อาจหดตัวลงหลังคอนเสิร์ตถูกยกเลิกทั่วโลก
ค่ายเพลง Warner Music Group บริษัทต้นสังกัดของศิลปินระดับโลก เช่น Ed Sheeran, Cardi B, Led Zeppelin ฯลฯ ประกาศเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2020 ว่า บริษัทจะเดินหน้าเข้าไอพีโอในตลาดหุ้น NASDAQ โดยประเมินมูลค่าบริษัทไว้สูงถึง 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 บริษัทนี้ถูกเข้าซื้อกิจการโดย Access Industries บรรษัทขนาดใหญ่ภายใต้การนำของ Len Blavatnik มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ซึ่งในขณะนั้น อุตสาหกรรมดนตรีอยู่ในห้วงวิกฤตทั่วโลกจากการรุกรานของโลกอินเทอร์เน็ต
View this post on Instagram
สำหรับแผนไอพีโอของ Warner Music Group จะเปิดขายหุ้นทั้งหมด 70 ล้านหุ้น คิดเป็น 13.7% ของจำนวนหุ้นสามัญ ในราคาระหว่าง 23-26 เหรียญต่อหุ้น สะท้อนการประเมินมูลค่าบริษัทไว้ที่ 1.17-1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
หุ้นที่จะจำหน่ายเป็นสัดส่วนหุ้นของ Access Industries ทั้งหมด และบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้รับรายได้จากการขายหุ้น รวมถึงยังคงอำนาจการออกเสียงในฐานะเจ้าของ 99% ของ Warner Music Group (บริษัทมีการถือหุ้นทางอ้อมด้วย)
ธุรกิจดนตรีกลับมาผงาด
การขายหุ้น Warner Music Group เพื่อทำกำไรการลงทุนของบริษัทแม่ ฉายภาพการฟื้นคืนชีพของธุรกิจดนตรีหลังจากอุตสาหกรรมนี้ค่อยๆ ทรุดตัวลงตั้งแต่ปี 2001 เมื่อแผ่นซีดีเข้ามาดิสรัปต์ ตามด้วยการมาของอินเทอร์เน็ต ทำให้ยอดขายเทปและแผ่นเพลงแบบออฟไลน์ลดลงต่อเนื่อง
แต่วงการดนตรีฟื้นตัวเมื่อบริการ “สตรีมมิ่ง” ดนตรีได้รับความนิยม ทำให้นักลงทุนกลับมาอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว Tencent Holdings จากจีนเข้าลงทุนสัดส่วนหุ้น 10% ใน Universal Music Group ในราคาที่สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทตีมูลค่า Universal Music Group ไว้สูงกว่า 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ สมาพันธ์อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงสากล (IFPI) ประเมินว่าวงการนี้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อปี 2019 อุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกทำรายได้รวมกันกว่า 2.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2014 ที่วงการเพลงทำรายได้ไป 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และโตขึ้นจากปี 2019 ที่ 6.3%
ปัจจุบัน 80% ของบริษัทเพลงอเมริกันเห็นว่าบริการสตรีมมิ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก เทียบกับเมื่อทศวรรษที่แล้ว แทบไม่มีค่ายเพลงไหนนับธุรกิจสตรีมมิ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ของตัวเองเลย (ในประเทศไทย GMM Music รายงานว่ารายได้จากดิจิทัลคิดเป็น 28% ของรายได้รวมเมื่อปีก่อน) แพลตฟอร์มนี้กลายเป็น ‘ขุมทองใหม่’ ให้กับบริษัทบันทึกเสียงและผู้จัดจำหน่ายจากการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงจากศิลปินจำนวนมากที่มองว่าส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์จากบริษัทสตรีมมิ่งตกมาถึงตนเพียงหยิบมือ
Warner Music Group ก็เช่นกัน เมื่อรอบปีบัญชีที่แล้ว (สิ้นสุดกันยายน 2019) บริษัทนี้ทำรายได้จากบริการสตรีมมิ่งไป 4.5 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากรอบปีบัญชีปี 2015 ที่มีรายได้สตรีมมิ่ง 3 พันล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม โรคระบาด COVID-19 กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงของวงการดนตรี ทำให้ Warner Music Group เลื่อนการเปิดไอพีโอมาจากเดิมที่จะเข้าเทรดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และความเสี่ยงนี้ได้ถูกระบุลงไปในรายงานการเปิดขายหุ้น
Goldman Sachs รายงานเมื่อเดือนเมษายนด้วยว่า โรคระบาดจะฉุดรายได้ของค่ายเพลงทั่วโลกลง 25% ปีนี้ เนื่องจากไม่สามารถจัดการแสดงสดได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารายได้จะฟื้นตัวกลับมาในปีหน้า