ธนาคารโลก รายงานคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโลก Global Economic Prospects ประจำปี 2020 ระบุว่า การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ไปทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะช็อกครั้งใหญ่อย่างรวดเร็วเเละรุนเเรง ซึ่งจะนำไปสู่การพังทลายของเศรษฐกิจโลกในวงกว้างที่สุด นับตั้งเเต่ปี 1870 (ในรอบ 150 ปี) แม้ว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ จะออกมาตรการมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจเเล้วก็ตาม
จากรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบ 5.2% ในปีนี้ โดยหากพิจารณาจีดีพีต่อหัว จะพบว่าการหดตัวของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1945-46 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่านั้น ซึ่งหมายความว่าขนาดของภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำรุนแรงเป็นวงกว้างที่สุดในรอบ 150 ปี
โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะติดลบ 6.1% ยูโรโซน ติดลบ 9.1% บราซิล ติดลบ 8.0% อินเดีย ติดลบ 3.2% ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะยังเติบโต แต่จะเติบโตเพียง 1% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 44 ปี
ขณะที่เศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาจะติดลบ 2.5% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกของประเทศกลุ่มนี้ในรอบ 60 ปี ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5.0%
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเเละเศรษฐกิจจีน อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก
เเม้ World Bank จะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวและเติบโตได้ราว 4.2% ในปี 2021 แต่ก็เตือนว่า อาจมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกให้ลดลงอีก หากเกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระบาด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เเละสั่งปิดภาคธุรกิจต่างๆ อีกรอบ ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะดิ่งลงไปมากกว่านี้ เเละหากการเเพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อ ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวได้ถึง -8% ในปีนี้
“ความเลวร้ายของวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ จะทำให้ผู้คน 70-100 ล้านคน ตกอยู่ในสภาพยากจนถึงขีดสุด มากกว่าตัวเลขที่เคยมีการประเมินก่อนหน้านี้ที่ 60 ล้านคน”
ที่มา : World Bank , AFP