เปิดศึก “สะดวกซื้อ เดลิเวอรี่” สงครามหาน่านน้ำใหม่ยุค New Normal บุกหาลูกค้าถึงบ้าน

ร้านสะดวกซื้อก็ขอลงตลาดเดลิเวอรี่กับเขาบ้าง ทุกเจ้าในตลาดต่างมีช่องทางเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะจับมือกับพาร์ตเนอร์ หรือปั้นแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง รับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ยิ่งในยุค COVID-19 ที่หลายคนไม่ค่อยอยากออกจากบ้านเท่าไหร่

เซเว่นฯ ปั้นแอป/สั่งในไลน์

ช่องทางเดลิเวอรี่ไม่ได้มีแค่เพียงร้านอาหารอย่างเดียวเท่านั้น ค้าปลีกในกลุ่ม “ร้านสะดวกซื้อ” ก็เริ่มมีบริการเดลิเวอรี่ด้วย เพราะด้วยพฤติกรรมของลูกค้าที่เข้าร้านสะดวกซื้อมักซื้อสินค้าไม่กี่ชิ้น ราคาต่อบิลไม่สูง และส่วนใหญ่ซื้อสาขาใกล้ๆ บ้าน บริการเดลิเวอรี่จึงเข้ามาตอบโจทย์ได้

แรกเริ่มเดิมที LINE MAN เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกบริการแมสเซ็นเจอร์ที่เป็นบริการรับซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นรับซื้ออาหาร ส่งพัสดุ และฝากซื้อจากร้านสะดวกซื้อ แต่กลายเป้นว่าบริการแจ้งเกิดเป็น Food Delivery ซึ่งบริการฝากซื้อของจากร้านสะดวกซื้อของ LINE MAN จะมีค่าบริการเริ่มต้นที่ 55 บาท กิโลเมตรต่อไปบวกเพิ่ม 9 บาท ไม่นานมานี้ก็เพิ่มออก บริการรับซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต รับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย

เมื่อพฤติกรรมทุกอย่างไปทางออนไลน์ ผู้เล่นในตลาดร้านสะดวกซื้อได้พัฒนาช่องทางเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง พี่ใหญ่อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ได้ปั้นแอปพลิเคชัน 7-Eleven Delivery ได้เริ่มทดลองตั้งแต่ปี 2561 จำกัดพื้นที่ในการทดลองก่อน และได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รูปแบบของการสั่งสินค้าจะสั่งได้ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน และ LINE Official Account มียอดสั่งซื้อขั้นต่ำ 100 บาท จะทำการส่งฟรี โดยพนักงานที่สาขาจะเป็นคนไปส่งเอง พบว่าในตอนนี้เซเว่นฯ แต่ละสาขาก็มี LINE ส่วนตัว เพื่อให้ลูกค้าสั่งสินค้าได้โดยตรง แล้วไปส่งสินค้าให้

เคอร์ฟิวกระทบยอดขาย

ยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แม้ว่าร้านสะดวกซื้อจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่รายได้ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเท่าไหร่นัก

เกรียงชัย บุญโพธิอภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL กล่าวยอมรับว่า

“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้การเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าในสาขาของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นลดลง แม้ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 145,856 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.2% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อจากสาขาใหม่ที่เปิดในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งรายได้ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)”

แต่มาตรการคุมเข้มต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการประกาศเคอร์ฟิว และมาตรการกระตุ้นให้ผู้คนหยุดอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบทางลบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้กำไรสุทธิรวม 5,645 ล้านบาท ลดลง 2.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเติบโตในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย โดยธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 82,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพียง 2,112 ล้านบาท หรือ 2.6%

ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมติดลบ 4% มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 78,872 บาท ยอดซื้อต่อบิล 70 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,122 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,187 คน

CP ALL จึงเดินหน้าทุ่มงบปรับกลยุทธ์ และเดินหน้าขยายสาขาเพื่อสกัดคู่แข่ง โดยเตรียมเม็ดเงิน 11,500-12,000 ล้านบาท เพื่อขยายร้าน 700 สาขา ตามเป้าหมายภายในปี 2564 จะมีสาขาทั้งหมด 13,000 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 11,983 สาขา แบ่งเป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ 44% ต่างจังหวัด 56% และส่วนใหญ่เป็นร้านสแตนด์อะโลน 85% ที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

แฟมิลี่มาร์ทจับมือแกร็บ

ทางด้านเบอร์ 2 ในตลาดอย่าง “แฟมิลี่มาร์ท” ของค่าย “กลุ่มเซ็นทรัล” ที่ล่าสุด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ประกาศซื้อหุ้นในบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด (CFM) ที่บริษัท Japan FamilyMart Co., Ltd. (JFM) ถือหุ้นที่เหลืออยู่ 49% กลายเป็นเจ้าของกิจการร้านแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทยเบ็ดเสร็จ 100% เป็นการเปิดศึกร้านสะดวกซื้ออย่างเต็มตัว

ในช่วงที่ผ่านมาแฟมิลี่มาร์ทมีความเคลื่อนไหวมากมายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการตลาด ปรับโมเดลร้านค้า และเพิ่มบริการใหม่ๆ เพิ่มเมนูอาหารพร้อมรับประทาน นำสินค้าประเภทอาหารสดจากร้านค้าที่บริหารโดยเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ปเข้ามาขาย เช่น ข้าวกล่องจากร้านเดอะเทอเรซ มิสเตอร์โดนัท เครื่องดื่มและกาแฟสด Arigato มีพื้นที่ Open Space สำหรับพบปะสังสรรค์หรือทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ตลอด 24 ชั่วโมง

มีเปิดโมเดลใหม่จากตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อง่ายต่อการขยายสาขา ตอบรับช่วง COVID-19 และเริ่มขยายสาขาในทำเลย่านธุรกิจ และอาคารสำนักงาน และเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา แฟมิลี่มาร์ทงัดบริการสะดวกซัก 24 ชั่วโมงด้วยเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ และมีบริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine)

ในส่วนของบริการเดลิเวอรี่ แน่นอนว่าแฟลิมาร์ทได้ใช้อาณาจักรของกลุ่มเซ็นทรัลให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากกลุ่มเซ็นรัลได้เข้าลงทุนใน “แกร็บ ประเทศไทย” ทำให้จับมือกับแกร็บในการให้บริการเดลิเวอรี่ ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าที่แฟมิลี่มาร์ทให้ส่งตรงถึงบ้าน ผ่านแอปพลิเคชัน GrabMart เพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตร The 1 ในเครือเซ็นทรัล และจัดโปรโมชั่นราคาสินค้าร่วมกับท็อปส์ซูเปอร์ในรูปแบบต่างๆ

ปัจจุบันแฟมิลี่มาร์ทมีสาขารวม 1,000 สาขา ซึ่งตามแผนระยะยาววางเป้าหมายขยายให้ได้ 3,000 สาขาทั่วประเทศ

LAWSON 108 ผนึกฟู้ด แพนด้า

สำหรับเบอร์ 3 ในตลาด LAWSON 108 (ลอว์สัน 108) จากค่าย “สหพัฒน์” โดย บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ได้รุกตลาดเดลิเวอรี่ด้วยการจับมือกับแอปพลิเคชัน “ฟู้ดแพนด้า” โดยแบ่งการให้บริการเป็น 2 ส่วน คือจำหน่ายสินค้า ออริจินัล ลอว์สัน 108 พร้อมจัดเซตเมนูพิเศษบนแพลตฟอร์ม

และจำหน่ายสินค้าแบบร้านสะดวกซื้อออนไลน์ บน pandaMart โดยมีสินค้าเช่นเดียวกับหน้าร้าน และลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาเดียวกับหน้าร้าน

โดยบริการเดลิเวอรี่บนแอปพลิเคชัน foodpanda จะให้บริการในระยะทางไม่เกิน 3-5 กิโลเมตร และสำหรับบริการจำหน่ายสินค้า pandaMart จะเริ่มให้บริการพร้อมกัน 22 สาขา ในวันที่ 10 มิถุนายน และขยายเป็น 47 สาขาภายในปี 2563