KBank ออกหุ้นกู้ 17 ล้านยูโร อายุ 3 เดือน ดอกเบี้ย 0.52% ต่อปี ร่วมมือสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เสนอขายบน “บล็อกเชน” สำเร็จเเบงก์เเรกในไทย คาดช่วยลดต้นทุนซื้อขายหุ้นกู้ลงได้ถึง 80-90% มองปีนี้เอกชนออกหุ้นกู้ลดลงเหลือ 8-9 แสนล้านบาท
ขายหุ้นกู้บน “บล็อกเชน” ครั้งแรกในไทย
จงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ดำเนินการเสนอขายและออกหุ้นกู้สกุลเงินยูโรให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศผ่านเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือที่เรียกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) ภายใต้โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน โดย KBank เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศด้วยบล็อกเชน
“หุ้นกู้สกุลเงินยูโรที่ออกในครั้งนี้ เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ มูลค่าเสนอขายรวมทั้งสิ้น 17 ล้านยูโร แบ่งเป็น 17,000 หน่วย อายุหุ้นกู้ประมาณ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0.52% ต่อปี และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อันดับความน่าเชื่อถือระดับสูงสุด “F1+(tha)”
สำหรับการออกหุ้นกู้สกุลเงินยูโรมูลค่า 17 ล้านยูโรนี้ อยู่ภายใต้โครงการหุ้นกู้ธนาคารกสิกรไทย วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้ธนาคารสามารถเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้โครงการ Medium Term Note ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี
“การออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนของแบงก์เป็นกิจกรรมปกติ ไม่ได้อิงกับสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนจาก COVID-19 แต่ต้องการบริหารสภาพคล่องของธนาคารให้อิงกับปริมาณการปล่อยสินเชื่อ ช่วงที่ผ่านมาธนาคารก็มีเงินฝากไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะความไม่เเน่นอนทำให้คนหันมาฝากเงินกับธนาคารมากขึ้น”
ส่วนการระดมทุนในรูปแบบสกุลยูโรนั้น ก็เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ให้กระจุกตัวอิงสกุลใดสกุลหนึ่ง ขณะที่เเนวโน้มการออกหุ้นเพิ่มเติมในปีนี้ ธนาคารต้องประเมินความต้องการสินเชื่อของลูกค้า สภาพคล่องของธนาคารและภาวะตลาดในขณะนั้นก่อน
การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้มี “ความพิเศษ” กว่าการเสนอขายแบบปกติ เพราะเป็น “โครงการนำร่อง” ที่ทาง KBank ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมในตลาดทุนไทยนำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” มาใช้ในงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับการพัฒนาตลาดทุนไทย ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก สำนักงาน ก.ล.ต.ให้นำร่องโครงการ Registrar Service Platform Phase 1 (RSP1) และบรรจุอยู่ในโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในระยะที่ 1
คาดปีนี้เอกชนออก “หุ้นกู้” ลดลงเหลือ 8-9 แสนล้าน
ธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า โครงการ Registrar Service Platform Phase 1 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบงานในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยประยุกต์ใช้บล็อกเชน มาช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลผู้ถือครองตราสารหนี้ ที่ผู้ร่วมตลาดทุกรายใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลชุดเดียวกัน
สำหรับเเผนการต่อไป จะมุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในตลาดแรกของตราสารหนี้ภาคเอกชนให้เป็น DLT Scripless Corporate Bond ซึ่งโครงการ RSP1 จะเป็น “ก้าวแรก” ของการกระโดดครั้งใหญ่ของตลาดตราสารหนี้ไทย และจากการจัดการออกและขายหุ้นกู้ของธนาคารกสิกรไทยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน จะเป็นต้นแบบและมาตรฐานในการพัฒนาเพื่อใช้สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยต่อไป
“ปีนี้คาดเอกชนจะออกหุ้นกู้ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ออกหุ้นกู้ไป 1.08 ล้านล้านบาท โดยบริษัทเอกชนจะออกหุ้นกู้เรตติ้งที่ A- ขึ้นไปยังมีความต้องการจากนักลงทุนสูง และไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ”
ด้านธิติ ตันติกุลานันทน์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า ปีนี้จะมีเอกชนออกหุ้นกู้ใหม่ประมาณ 9 แสนล้านบาท เเละระดับเรตติ้งที่ต่ำกว่า A- ความต้องการในตลาดลดลง
“แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่การเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 17 ล้านยูโรครั้งนี้ ยังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนในประเทศหลายแห่ง ทั้งจากกองทุนภายใต้การบริหารของ บลจ. และบรรดาบริษัทประกันภัย”
เขามองว่า ในฐานะตัวกลางในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ จะทำให้ธนาคารมีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ และเมื่อต้องรับหน้าที่เป็นตัวกลาง ธนาคารก็จะสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้ออกตราสารหนี้รายอื่นๆ ในตลาดได้อย่างมั่นใจ ส่วนผู้ลงทุนในหุ้นกู้ จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย ตรวจสอบ และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
หมดยุคส่งกระดาษ “บล็อกเชน” ช่วยลดต้นทุนออกหุ้นกู้ลงถึง 80-90%
ศีลวัต สันติวิสัฏฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า หลังจากที่ KBank ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาบริการออกหนังสือค้ำประกัน (LG) บนเทคโนโลยีบล็อกเชนได้สำเร็จเป็นธนาคารแรกของโลก นำมาสู่การต่อยอดบริการอื่น ๆ อย่างเช่น การออกหุ้นกู้บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
เขาอธิบายว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ มีประโยชน์ทั้งในมุมของฐานข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้ประโยชน์ข้อมูลของผู้ร่วมตลาด มีความสะดวกต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการออกหุ้นกู้ ทั้งผู้จองซื้อ ผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้ นายทะเบียน ผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้สามารถทราบถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกหุ้นกู้ได้แบบเรียลไทม์ (Real Time) สามารถลดต้นทุนและลดขั้นตอนในการติดต่อสื่อสาร และทำให้การตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่วันที่มีจองซื้อหุ้นกู้ จนถึงวันที่หุ้นกู้ครบกำหนดอายุ
ส่วนของนายทะเบียนหุ้นกู้ ก็สามารถจัดการข้อมูล ตรวจสอบ สอบทาน หรือติดตามผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนงานที่เคยใช้คนทำ (Manual) เนื่องจากลักษณะพื้นฐานของเทคโนโลยีของ Blockchain และ smart contract ซึ่งทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง และมีความปลอดภัยสูง ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไปพร้อมๆ กันในยุคดิจิทัล
ด้านของผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian) เทคโนโลยีนี้ถือเป็นประตูเชื่อมระหว่างโลกของธุรกิจการรับฝากทรัพย์สินทางการเงินในปัจจุบัน กับโลกของการรับฝากทรัพย์สินดิจิทัล ทำให้หุ้นกู้ที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงินในปัจจุบันสามารถเก็บในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย และเปิดโอกาสให้มีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ได้อีกมาก
“ระบบเดิมจะมีค่าดำเนินการ 1 รายการระหว่าง Business-to-Business (B2B) ในการซื้อขายตราสารกระดาษ ต้นทุนจะอยู่ตั้งแต่ 500-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับไซส์ของผู้เล่น โดยผู้เล่นรายใหญ่จะต้นทุนต่ำกว่า เเต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัลบนบล็อกเชนทั้งหมดเเล้ว จะสามารถลดต้นทุนการออกหุ้นกู้ปกติสูงถึง 80-90% ไม่ต้องรอเงิน รอเช็กว่าโอนหรือยัง รวมถึงการส่งมอบหลักฐานต่างๆ ก็ไม่ต้องส่งผ่านกระดาษแล้ว เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดด้วย”
โดยในอนาคตมีเเผนจะขยายไปสู่รายย่อย ซึ่งปัจจุบันธนาคารสามารถโอนเงินไปต่างประเทศได้แล้ว 12 สกุล