บทวิเคราะห์ : “หัวเว่ย” สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อหลบเลี่ยง “มาตรการห้ามขายชิป” ของสหรัฐฯ

(Photo by Rolf Vennenbernd/picture alliance via Getty Images)

เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com) : How Huawei can work around US chip ban
by David P. Goldman

การที่สหรัฐฯ สั่งห้ามขายชิปที่มีอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์อเมริกันเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ให้แก่บริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่อุปกรณ์เทเลคอมสัญชาติจีน กำลังทำให้ทั่วโลกมีแรงจูงใจอย่างมหาศาลที่จะหาทางหลบเลี่ยงมาตรการแบบการอ้างสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเช่นนี้

การที่สหรัฐฯ สั่งห้ามพวกบริษัทต่างประเทศขายชิปให้แก่ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ถ้าหากชิปดังกล่าวมีอุปกรณ์อเมริกันหรือซอฟต์แวร์อเมริกันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะกลายเป็นการบ่อนแซะทำลายฐานะที่ก็อ่อนแอลงอยู่แล้วของอเมริกาในตลาดอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์โลก แหล่งข่าวหลายรายระบุ

พวกโรงงานผลิตชิปจะพากันโยกย้ายอุปกรณ์อเมริกันออกไปจากสายการผลิต เพื่อที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนเอาไว้ โดยที่เวลานี้แดนมังกรมีฐานะเป็นผู้ซื้อเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก

ซัมซุง ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกทั้งด้านเมโมรีชิปและลอจิกชิป รองจากบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์เปอเรชั่น (Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation ใช้อักษรย่อว่า TSMC) เท่านั้น ได้จัดตั้งสายการผลิตขนาดเล็กๆ สายหนึ่งขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำชิปขนาด 7 นาโนเมตร ที่เป็น “ท็อปออฟเดอะไลน์” ในปัจจุบัน โดยใช้เพียงอุปกรณ์ทำชิปที่มาจากญี่ปุ่นและยุโรป ทั้งนี้ตามรายงานของ อิเล็กทริคัล เอนจิเนียริ่ง ไทมส์ (Electrical Engineering Times) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.eetimes.com/chip-equipment-becomes-trade-wars-latest-battlefield/)

เอเอสเอ็มแอล (ASML) บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเวลานี้เป็นรายเดียวเท่านั้นในโลกที่ขาย เครื่องจักรกัดกรด เอ็กซ์ตรีม อัลตรา-ไวโอเลต (Extreme Ultra-Violet (EUV) etching machines) ซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับการผลิตตัวทรานซิสเจอร์จิ๋วๆ ที่ใช้วางบนแผ่นชิปขนาด 7 นาโนเมตร

โดยที่ชิปชนิดนี้สามารถติดตั้งทรานซิสเตอร์ 10,000 ล้านตัวบนแผ่นซิลิคอนซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากับเล็บมือ ขณะเดียวกัน เครื่องจักรทดสอบชิปของ เลเซอร์เทค (Lasertec) ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นและขายกันตัวละ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุดในตลาดขณะนี้

ซัมซุง กับ หัวเว่ย กำลังพิจารณาที่จะทำดีลฉบับหนึ่ง ซึ่งยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้จะเป็นผู้ผลิตชิปประดับก้าวหน้าให้แก่อุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ย และเรื่องนี้จะส่งผลให้หัวเว่ยยอมสละส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนของตนในปริมาณสำคัญทีเดียวให้แก่ซัมซุง โทรศัพท์มือถือนั้นเป็นธุรกิจเรือธงของซัมซุง แต่ธุรกิจนี้กลับเป็นตัวที่มีส่วนสร้างผลกำไรค่อนข้างน้อยให้แก่หัวเว่ย ซึ่งธุรกิจแกนกลางยังคงป็นอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม

คำสั่งห้ามของสหรัฐฯ เกาหลีใต้ “ยอมรับไม่ได้”

เกาหลีใต้ส่งออกไปยังจีนคิดเป็นมูลค่าเกือบเป็นสองเท่าตัวของที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ นอกจากนั้นโสมขาวยังพึ่งพาอาศัยจีนในการเหนี่ยวรั้งระบอบปกครองโสมแดงที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ โซลบอกกล่าวกับวอชิงตันว่าการสั่งห้ามขายชิปที่ทำด้วยอุปกรณ์อเมริกันให้แก่ หัวเว่ย และบริษัทจีนอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่ “ยอมรับไม่ได้” ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมหลายราย

การทำดีลกับซัมซุงถือเป็นหนทางหนึ่งสำหรับหัวเว่ยในการดำเนินการเพื่อหลบเลี่ยงจากคำสั่งห้ามของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงนี้คาดหมายกันว่าจะมีการประกาศออกมาในกลางเดือนกรกฎาคม สำหรับหนทางอีกหนทางหนึ่งในการหลบเลี่ยง –โดยที่มีความคืบหน้าไปเรียบร้อยแล้ว – คือโครงการสำคัญๆ ชุดหนึ่งในทำนองเดียวกับ “โครงการแมตฮัตตัน” (Manhattan Projects โครงการปิดลับของสหรัฐฯ ในการพัฒนาระเบิดปรมาณูช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 -ผู้แปล) ซึ่งมุ่งที่จะปรับปรุงยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศของจีน โดยที่เวลานี้จีนมีฐานะเป็นผู้เล่นอันดับ 4 ของอุตสาหกรรมนี้ ตามหลังสหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่น

หัวเว่ยได้ทำสัญญาเอาไว้กับลูกค้ารายต่างๆ เพื่อติดตั้งสถานีฐานบรอดแบนด์ไร้สาย 5G จำนวนราว 600,000 สถานี โดยสถานีฐานเหล่านี้ใช้พลังจากพวกชิปสลับซับซ้อนที่ออกแบบโดย ไฮซิลิคอน (HiSilicon) บริษัทลูกของหัวเว่ยเอง ขณะที่ผู้ผลิตชิปเหล่านี้คือ TSMC ของไต้หวัน บริษัทจีนรายนี้บางทีอาจจะมีชิปอยู่ในสต็อกซึ่งสามารถใช้ไปได้ราว 1 ปีครึ่ง นอกจากนั้นบริษัทยังอาจจะสามารถเติมส่วนที่ขาดไปสำหรับสถานีฐานของตนด้วยชิปซึ่งผลิตขึ้นภายในจีนเอง

จีนขาดไร้ศักยภาพในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่ถือเป็นระดับก้าวหน้าที่สุดในเวลานี้ ตลอดจนชิปขนาดเล็กๆ อื่นๆ ถึงแม้บริษัทผู้ผลิตชิประดับเรือธงของแดนมังกร นั่นคือ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp ใช้อักษรย่อว่า SMIC)

สัญญาที่จะดำเนินการผลิตชิป 7 นาโนเมตรให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ก็ตามที ถ้าหาก SMIC ขายชิปที่ผลิตด้วยอุปกรณ์อเมริกันให้แก่หัวเว่ย ก็น่าจะเป็นไปได้ที่บริษัทจะถูกอเมริกาแซงก์ชั่นเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงการห้ามไม่ให้ขายอุปกรณ์อเมริกันแก่ SMIC อีกต่อไป

ตรงนี้ประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญถึงขั้นเป็นตายนั้น อยู่ที่ว่าอัตราความเร็วที่จีนจะสามารถสั่งสมศักยภาพการผลิตชิปภายในประเทศขึ้นมา เมื่อตอนที่คณะบริหารทรัมป์สั่งห้ามขายชิปของควอลคอมม์ (Qualcomm) ให้แก่ แซดทีอี (ZTE) ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสัญชาติจีนอีกรายหนึ่งในเดือนเมษายน 2018 ปรากฏว่าแซดทีอีถึงขั้นต้องปิดตัวเองในทางเป็นจริง

Source