Kantar จัดอันดับแบรนด์ที่ผู้บริโภค “เลือกซื้อ” มากที่สุดประจำปี 2020 โดยครอบคลุมในหลายหมวดสินค้า พร้อมชี้เป้าแบรนด์ “เติบโตสูงสุด-ม้ามืด” ของปีนี้ ชี้ตลาด FMCG แข่งขันสูงโดยเฉพาะปีที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ แต่ 50% ของแบรนด์ในไทยยังสามารถเติบโตได้
การจัดอันดับ Thailand Brand Footprint 2020 ของ Kantar จะวัดโดยมาตรวัดอัตราเข้าถึงผู้บริโภค (Consumer Reach Points : CPRs) โดยปีนี้มีการวัดทั้งหมด 571 แบรนด์ที่จำหน่ายในไทย ครอบคลุมสินค้า 5 หมวด ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร นม สุขภาพและความงาม และดูแลบ้าน ไฮไลต์มาทั้งแบรนด์อันดับ 1 รวมถึงแบรนด์ที่เติบโตสูงที่สุดของแต่ละหมวด ไปจนถึงแบรนด์ “ม้ามืด” ของปีนี้
5 แบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดปี 2020
1.หมวดผลิตภัณฑ์นม – ดัชมิลล์ (Dutch Mill) – 186 ล้านครั้ง
2.หมวดอาหาร – มาม่า (MAMA) – 170 ล้านครั้ง
3.หมวดเครื่องดื่ม – เนสกาแฟ (Nescafe) – 139 ล้านครั้ง
4.หมวดสุขภาพและความงาม – คอลเกต (Colgate) – 128 ล้านครั้ง
5.หมวดดูแลบ้าน – ไฮยีน (Hygiene) – 116 ล้านครั้ง
5 แบรนด์ดาวรุ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดปี 2020
1.หมวดผลิตภัณฑ์นม – วอลล์ (Wall’s) – เพิ่ม 3.6 ล้านครั้ง
2.หมวดอาหาร – มิตรผล (Mitr Phol) – เพิ่ม 4.7 ล้านครั้ง
3.หมวดเครื่องดื่ม – น้ำดื่มสิงห์ (Singha Drinking Water) – เพิ่ม 9 ล้านครั้ง
4.หมวดสุขภาพและความงาม – เทพไทย (Tepthai) – เพิ่ม 4.3 ล้านครั้ง
5.หมวดดูแลบ้าน – โปร (Pro) – เพิ่ม 4 ล้านครั้ง
ด้านแบรนด์ “ม้ามืด” ที่มีผู้บริโภคเลือกซื้อเกิน 10 ล้านครั้งเป็นครั้งแรก แสดงการเติบโตที่น่าจับตามองได้แก่ เครื่องดื่มผสมวิตามิน C-Vitt ในหมวดเครื่องดื่ม มีผู้เลือกซื้อ 11 ล้านครั้ง และแบรนด์ยาสีฟัน เทพไทย ในหมวดสุขภาพและความงาม มีผู้เลือกซื้อ 10 ล้านครั้ง
แบรนด์เหล่านี้ที่ยังสามารถเติบโตได้ ถือว่าเป็นการเติบโตในช่วงที่ค่อนข้างยากลำบาก โดย “ฮาวเวิร์ด ชาง” กรรมการผู้จัดการ ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar (Worldpanel Division) ให้ภาพรวมว่า ตลาดสินค้า FMCG ของไทยมีการเติบโตต่ำเป็นรูปตัว L มาตั้งแต่ปี 2011 โดยเฉพาะ 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยการเติบโตเพียง -0.4% ถึง 0.9% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ถึง 50% ใน 571 แบรนด์ที่สำรวจ พบว่ามีค่า CRPs สูงขึ้น เนื่องจากสามารถปรับตัวทันต่อสถานการณ์
ด้าน ชีวานนท์ ปิยะพิทักษ์สกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar (Worldpanel Division) ยิ่งเมื่อมีการควบคุมการใช้ชีวิตในช่วงการระบาด COVID-19 ทำให้คนไทยยิ่งระมัดระวังค่าใช้จ่าย
ดังนั้นแบรนด์สินค้าที่ยังอยู่รอดในสถานการณ์นี้และเติบโตได้ คือสินค้าที่ยัง “มีความจำเป็น” และตอบสนอง “ความอ่อนไหวด้านราคา” ของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ สินค้ายังควรจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองด้านสุขภาพ และสะดวกในการเข้าถึง