‘AIS’ อัดงบลงทุนเพิ่ม 4.5 หมื่นล. พร้อมผนึกพันธมิตรใช้ 5G ‘Fight’ พาเศรษฐกิจไทยสู่ ‘Future’

กว่า 3 เดือนที่ทั้งโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับความไม่ปกติจากพิษ Covid-19 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจทุกประเทศย่ำแย่ โดยประเทศไทยจากที่คาดว่า GDP จะเติบโตราว 2.5% แต่กลับต้องติดลบถึง -7.7% ขณะที่หลายคนคงคิดว่า ‘โอเปอเรเตอร์’ คงจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะทุกคนยังต้องใช้ ‘อินเทอร์เน็ต’ แต่ในความจริงแล้ว การใช้งานเติบโตขึ้นจริงถึง 20% แต่รายได้กลับ ‘ไม่โตตาม’

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ‘เอไอเอส’

5G เป็นโอกาส ใหญ่ ของประเทศ เล็ก

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ‘เอไอเอส’ กล่าวว่า ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตจริง แต่รายได้กลับตกราว 2-3% เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้จากการขาย ‘ทัวร์ลิสซิม’ หายไปอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ห้างร้านก็ปิดตัว ส่งผลต่อการขายสินค้าและบริการ สุดท้าย ประชาชนไม่มีกำลังซื้อมากพอ อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะลดลง แต่เชื่อว่าภาพรวมทั้งปีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังโชคดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยคาดว่ารายได้จะตกน้อยกว่า GDP อย่างน้อย 2-3%

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมใหม่ที่เกิดจาก Covid-19 ไม่ใช่ข้อเสียอย่างเดียว เพราะจะเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนไทยพร้อมสู้ พร้อมแบ่งปัน และเห็นว่ามีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือการ Digitalization อย่างรวดเร็ว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามต้องมีบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องมี 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่

“3 จุดแข็งของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว, การส่งออก และการลงทุนของภาครัฐ อาจจะไม่สามารถทำได้ในปัจจุบันนี้ ดังนั้น ไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นดิจิทัล เพราะดิจิทัลเป็นอย่างเดียวที่ทำให้รายเล็กชนะรายใหญ่ได้ ขณะที่ไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ ดังนั้น 5G เป็นโอกาสมหาศาลของประเทศเล็ก ๆ หากเรารู้จักใช้ดิจิทัล”

ทุ่มอีก 4 หมื่นล้านลงทุน 5G ปูพรหมครบ 77 จังหวัด

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเอไอเอสได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยไปแล้วกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีการส่งมอบทรัพย์สินระหว่างสัญญาร่วมการงานกับทางทีโอทีไปกว่า 2 แสนล้านบาท และเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากว่า 2.3 แสนล้านบาท จนทำให้เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด คือ LOW BAND (700-900 MHz) 50 MHz, MID BAND (1800-2600 MHz) 170 MHz และ HIGH BAND (26 GHz) 1200 MHz

นอกจากนี้ เอไอเอสยังเปิดให้บริการ 5G เป็นรายแรกของประเทศตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 พร้อมขยายเครือข่ายไปครบทั้ง 77 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และในเดือนก.ค.จะทดลองบริการ 5G ในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ปัจจุบันครอบคลุมทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศ และทางทะเล และที่เหลือทั่วประเทศจะเริ่มทยอยในเดือนส.ค.นี้ และในปีนี้ เอไอเอสเตรียมเงินลงทุนอีก 35,000-45,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

“3G ไทยอาจช้ากว่าประเทศ 10 ปี ส่วน 4G ช้ากว่า 5 ปี แต่ 5G ประเทศไทยเราไม่น้อยหน้าใคร เราเทียบเท่าญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา และเอไอเอส 5G จะเป็น Infrastructure ใหม่ของไทย”

ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้แนวคิด 3F

ทั้งนี้ เอไอเอสได้มีแนวคิด 3F หรือ Fall-Fight-Future เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับใช้ 5G โดยในช่วง Fall หรือจุดตกต่ำหลังจากเกิด Covid-19 ทางเอไอเอสได้มีการนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปสนับสนุนโรงพยาบาลกว่า 150 แห่ง

หลังจากไทยก้าวข้ามช่วง Fall มาได้ ก็เข้าสู่ไตรมาส 3 ที่ทุกคนต้อง Fight เพื่อจะเร่งเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเอไอเอสได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคสาธารณสุข, ภาคอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC), ภาคการค้าปลีก, ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยที่มีการท่องเที่ยว, การส่งออกรวมถึงภาคการศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ประเทศไทยเดินหน้าสร้างอนาคตอย่างยั่งยืนหรือ Future ภายในไตรมาส 4

“แพลตฟอร์มของไทยจะสำเร็จได้ต้องมีรัฐสนับสนุน ภาคเอกชนต้องจับมือร่วมมือกัน และภาคประชาชนจะต้องใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสิ่งที่เราพูดมาตลอด 5 ปีกำลังเป็นจริงได้ด้วย Covid-19 เพราะทำให้ทั้ง 3 ส่วนมาประสานงานกันได้ และเราจะทำให้ Infrastructure แข็งแรงที่สุด เพื่อที่จะพร้อมใช้ 5G ฟื้นฟูประเทศ”