เหตุผลที่ “เศรษฐกิจไทย” อาจเลวร้ายที่สุดใน SEA จากผลกระทบของ COVID-19

Photo by Lauren DeCicca/Getty Images
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยผ่านระยะเวลามามากกว่า 40 วันแล้วที่ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเลย แต่สำหรับมุมมองด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยอาจจะตกอยู่ในอันดับที่เลวร้ายที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2563 ที่ระดับ -8.1% ซึ่งเป็นการคาดการณ์จีดีพีติดลบที่มากที่สุดเทียบกับประเทศหลักอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงเป็นอัตราการติดลบของจีดีพีไทยที่หนักที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

“ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ของจีดีพีประเทศ รวมถึงมีสัดส่วนเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากภาคการส่งออกด้วย ทำให้เหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อจีดีพี” เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสสำหรับประเทศไทย ประจำธนาคารโลก กล่าว

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เคอร์ฟิวยามค่ำคืน และคำสั่งปิดการดำเนินธุรกิจบางประเภททั่วประเทศเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรค COVID-19 เป็นการทำลายการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งอยู่ในช่วงขาลงอยู่แล้วมาตั้งแต่ปีก่อน

สำหรับกำลังซื้อนั้นคาดการณ์กันว่าจะดีขึ้นหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ และภาครัฐมีแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่ส่วนของการลงทุนภาคเอกชนน่าจะยังชะลอตัวเนื่องจากการคาดการณ์อนาคตที่ยังหม่นมัว

การท่องเที่ยวดิ่งรุนแรง

ประเทศไทยไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้ว 3 เดือนติดต่อกันเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ทำให้ ธปท. ออกคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 จะลดลงเหลือเพียง 8 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 และปี 2564 น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นแต่ไม่สูงเท่าช่วงก่อน COVID-19 โดยอยู่ที่ราว 16.2 ล้านคนเท่านั้น

แม้ว่าจะมีแผนการทำ Travel Bubble กับบางประเทศ แต่แนวโน้มเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยน่าจะยอมให้การเปิดประเทศเป็นไปอย่างช้าๆ และระมัดระวังอย่างยิ่ง ส่วนความพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อแทนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ไม่อาจแทนที่ความสูญเสียขั้นวิกฤตของอุตสาหกรรมนี้ได้ทั้งหมด

ภาพนักท่องเที่ยวคลาคล่ำน่าจะไม่ได้เห็นไปอย่างน้อยจนถึงปี 2564

ภาพลวงตาจากยอดส่งออก “ทองคำ”

เมื่อดูชุดข้อมูลการส่งออกจากกรมศุลกากร ดูเหมือนว่าการส่งออกของไทยยังไม่แย่มากเพราะมีแค่ 2 เดือนจาก 5 เดือนแรกที่การส่งออกไทยติดลบ แต่ที่จริงเป็นภาพลวงตาจากการส่งออกทองคำ

เนื่องจากราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นในช่วง COVID-19 ทำให้นักลงทุนไทยเร่งขายทองคำ ส่งให้มูลค่าการส่งออกดีขึ้น แต่ถ้าหักทองคำออกไป การส่งออกสินค้าอื่นๆ กลับลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากดีมานด์โลกที่อ่อนแอลง และซัพพลายเชนการผลิตที่มีปัญหา

(Photo by Michael Steinberg from Pexels)

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นค่าเงินที่แข็งขึ้นมากที่สุดอันดับ 2 ของเอเชีย แม้ว่า ธปท. จะพยายามลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 0.5% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่เพราะสถานการณ์ควบคุมการระบาดได้ดีนี้เอง ทำให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปจะเป็นปัญหาทุบซ้ำภาคการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังหารือถึงก้าวต่อไปในการดึงเงินบาทให้อ่อนค่าลงอีกหากจำเป็น

อาการหนักที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากปัญหาภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ทั้ง ธปท. และอีกหลายหน่วยงานคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2563 ในทิศทางเดียวกันคือ “ติดลบ” อย่างแน่นอน แบงก์ชาติประเมินว่าจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบ -8.1% ขณะที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินไว้รุนแรงถึง -10.3% ธนาคารกรุงเทพ ประเมิน -9.7% ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมิน -7.5% ขณะที่สถาบันการเงินจากต่างประเทศดูจะมองในแง่ดีกว่า เช่น เมย์แบงก์ ประเมินที่ -5.5% สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเมินที่ -5.0%

ด้านการสำรวจของ Bloomberg Economics ใน 6 ประเทศหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ไทยจัดอยู่ในอันดับท้ายสุดในการคาดการณ์จีดีพีปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

อันดับ 1 เวียดนาม จีดีพี +2.8%
อันดับ 2 อินโดนีเซีย จีดีพี -1.0%
อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ จีดีพี -3.5%
อันดับ 4 มาเลเซีย จีดีพี -3.9%
อันดับ 5 สิงคโปร์ จีดีพี -5.7%
อันดับ 6 ไทย จีดีพี -6.0%

Source