วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องแล้ว ด้านกระเเสในทวิตเตอร์คัดค้าน ผุดเเฮชเเท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ติดท็อปเทรนด์ ผลักดัน #สมรสเท่าเทียม ต่อไป
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เนื่องจากกฎหมายมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้
1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้
2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.นี้
3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดให้ชายหรือหญิง จะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรส หรือคู่ชีวิตอยู่ไม่ได้
2. กำหนดให้เหตุผลฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต
3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ. รวม 2 ฉบับในเรื่องนี้ มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิตให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง
รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกสิทธิ์เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ จึงทำให้การประเมินและติดตามการกฎหมายของ 2 ฉบับนี้ หลังบังคับใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ ตามมา
ด้านกระเเสตอบรับหลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ช่วงบ่ายวันนี้ ในสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ มีการเเสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดย #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ได้มีการพูดถึงจำนวนมาก จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ประเทศไทยในอันดับ 3 (ณ เวลา 17.31 น.) ซึ่งมีการเเสดงความคิดเห็นบางส่วนว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมสิทธิเเละมีความเท่าเทียมอย่างเเท้จริง จึงไม่เห็นด้วยเเละมีการเรียกร้องให้มี #สมรสเท่าเทียม ต่อไป
โดยหลายคนมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่ตอบโจทย์การนำไปสู่ “สมรสเท่าเทียม” ขณะที่บางคนมองว่า การออกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการแบ่งแยกเพศจากการออก พ.ร.บ.ใหม่ แทนที่จะมีการปรับแก้และใช้ พ.ร.บ.เดียวกันกับการแต่งงานระหว่างชายและหญิง เพื่อให้ทุกเพศเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
บางความเห็นมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น ยังไม่ได้ให้สิทธิต่างๆ ของคู่ชีวิตได้เท่าเทียมกับคู่สมรส และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่เปิดให้คนทุกเพศสามารถหมั้นกันได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ก่อนหน้านี้ในสังคมออนไลน์ ได้เชิญชวนกันให้ร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เเละเเฮชเเท็ก #สมรสเท่าเทียม ก็ขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยเช่นเดียวกัน
การเปิดรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างพ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ที่เสนอโดยส.ส. @MFPThailand
ร่างกฎหมายดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อ "แก้ไข" กฎหมายแพ่งโดยเฉพาะเรื่องการสมรส ซึ่งยังจำกัดเฉพาะชาย-หญิง เพื่อให้ทุกเพศสมรสภายใต้กฎหมายเดียวกัน (ตารางด้านขวา) #สมรสเท่าเทียม pic.twitter.com/Wl7aceKg85
— iLawClub (@iLawclub) July 6, 2020