ฟังเสียงชาวโซเชียลช่วง ‘Pride Month’ กับประเด็น #สมรสเท่าเทียม ที่ถูกจุดอีกครั้ง

เฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลายไปอย่างยิ่งใหญ่กับงาน “บางกอกไพรด์ 2023” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month ปีที่ 2 ของไทย ณ ใจกลางสยาม เพื่อย้ำและสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย

งานดังกล่าวถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ Pride Month ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลมากขึ้น ตามการยอมรับของสังคมที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดย บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการพูดถึงเรื่องราวของเดือนแห่งความหลากหลาย รวมถึง บางกอกไพรด์ 2023 ที่ถูกจัดขึ้นในเดือนนี้เช่นกัน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 – 11 มิถุนายน 2566 ผ่านเครื่องมือ Social Listening อย่าง ZOCIAL EYE พบว่า มีการพูดถึงกว่า 38,547 ข้อความ และเพียงไม่กี่วันมีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์

ข้อความส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบน Facebook มากที่สุด (39%) ตามมาด้วย Twitter (35%) Instagram (19%) และ อื่น ๆ (7%) ส่วนใหญ่เป็นการโพสต์รูปภาพงานเดินขบวนพาเหรดผ่านแฮชแท็ก #BangkokPride2023 และ #บางกอกไพรด์2023 ทั้งจากเหล่าคนดัง ดารา นักร้อง นักแสดงต่าง ๆ

 

สมรสเท่าเทียมถูกพูดถึงอีกครั้ง

หลังจากที่สภารับหลักการ #สมรสเท่าเทียม ในวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 จนเกิดเป็นการพูดถึงและจับตามองเป็นอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา และยังมีการพูดถึงและจับตามองเรื่อยมา โดยในปีนี้ กระแสของการพูดถึง #สมรสเท่าเทียมก็กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และมีการเปลี่ยนชุดสภาบวกกับการยืนยันจากเสียงของพรรคที่มีเสียงข้างมากจากประชาชนว่าจะผลักดันสมรสเท่าเทียมแน่นอน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของการเรียกร้องความเท่าเทียมที่แท้จริง

นอกจากนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นผู้ผลักดันเรื่องการสมรสเท่าเทียม ก็มาร่วมเดินขบวนพาเหรด ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ทำให้เกิดการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น สร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

แบรนด์ถูกตั้งคำถามว่าเข้าใจหรือแค่เกาะกระแส

เมื่อก้าวเข้าเดือนมิถุนายน เราจะเห็นหลาย ๆ องค์กรและแบรนด์เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ เปลี่ยนรูปโลโก้เป็นสีรุ้ง หรือทำการตลาดที่สินค้ามีลวดลายสีรุ้งประดับ เพื่อที่จะต้อนรับเทศกาล Pride Month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้ แต่ถึงอย่างนั้นองค์กรหรือแบรนด์เหล่านี้ก็ยังคงถูกตั้งคำถามจากคนบนโซเชียลว่าการทำแคมเปญสีรุ้งในเดือนนี้นั้น เป็นการใช้พื้นที่ขององค์กรส่งเสียงเพื่อเข้าใจเพื่อนมนุษย์ผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงแค่การเกาะกระแส

 

ไวรัลจากพาเหรด

แน่นอนว่างานบางกอกไพรด์ หรืองานเดินขบวนพาเหรด ถือเป็นงานที่ถูกจับตามองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการสร้างสรรค์ความคิดในเรื่องของการแต่งตัว และประเด็นเด่น ๆ ที่ถูกพูดคือ เสื้อของพิธา ที่ใส่มาร่วมเดินขบวน ที่ชาวโซเซียลต่างแคปเจอร์แล้วนำมาโพสต์ถึงความสวยงามของเสื้อ หรืออีกหนึ่งคนอย่าง ช่อ พรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ รังสรรค์มาในชุด Amy Winehouse นักร้องดังระดับตำนานจนคนบนโซเชียลต่างชื่นชมในความปังครั้งนี้

การพูดถึงนั้นไม่ถูกพูดถึงแค่กับคนเท่านั้น ยังถูกพูดถึงไปยังสัตว์เลี้ยงที่มาร่วมงานบางกอกไพรด์ครั้งนี้ อย่างไวรัลที่เห็นกัน หญิงโม น้องหมาชิวาว่าสายแฟ ที่เกิดจากการที่ ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยอุ้มน้องถ่ายรูปแล้วน้องทำตาหวาน สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างที่ไม่ใช่เฉพาะแค่กับมนุษย์ ยังเปิดกว้างไปถึงสัตว์เลี้ยงตัวน้อย ๆ ที่ร่วมโลกกับเราด้วยนั่นเอง