เอเซีย พลัส ประเมิน “จีดีพีไทย 2563” ร่วงแรง -8.4% หวังใช้จ่ายภาครัฐช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

  • เศรษฐกิจโลกปี 2563 อ่วมติดลบ -4.9% จับตาการล็อกดาวน์รอบสองของหลายประเทศทุบซ้ำ ปัจจัยเสี่ยง “สงครามการค้า” ที่สหรัฐฯ อาจเปิดศึกอีกครั้ง
  • เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงทุกตัว ความหวังอยู่ที่ “การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ” ช่วยฟื้นจีดีพีไทย อย่างไรก็ตาม เอเซีย พลัสเชื่อว่าจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบต่ำถึง -8.4%
  • ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาแล้ว 40% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ช่วง Q3/2563 การเติบโตน่าจะชะลอตัวเนื่องจากไม่มีแรงหนุนจากกองทุน SSFX และการประกาศจีดีพีรวมถึงผลกำไรบลจ.รอบ Q2/2563 ที่รออยู่ ไม่น่าจะออกมาดี

ทีมนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) นำโดย “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ ประเมินเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยประจำ Q3/2563 ทิศทางยังมีปัจจัยลบรอบด้านแม้ว่าจะผ่านจุดต่ำสุดใน Q2/2563 ไปแล้วก็ตาม ติดตามอ่านได้ด้านล่าง

เศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการล็อกดาวน์และสงครามการค้า

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะขึ้นหรือลงปีนี้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การล็อกดาวน์รอบสองหากเกิดการระบาดซ้ำ และ ความเร็วในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โดยการพัฒนาวัคซีนคาดกันว่าจะวิจัยสำเร็จได้เร็วที่สุดคือช่วงปลายปี 2563 แต่ความเป็นไปได้จริงน่าจะอยู่ในช่วงกลางปี 2564 มากกว่า ดังนั้น ปัจจัยสำหรับปีนี้คือเรื่องของการล็อกดาวน์

“เศรษฐกิจไม่ได้กลัวการระบาดรอบสองแต่กลัวการล็อกดาวน์รอบสองมากกว่า” เทิดศักดิ์กล่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดหุ้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศนั้นๆ ในการรับมือโรค COVID-19 หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เห็นแล้วว่าในหลายประเทศมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่เพื่อรับมือ เช่น จีน ออสเตรเลีย อังกฤษ

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลกับเศรษฐกิจโลกคือ “สงครามการค้า” เนื่องจากสหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ โดยที่คะแนนความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์จากที่โพลสำรวจมาพบว่าตกต่ำลงหลัง COVID-19 จึงเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะเปิดสงครามการค้าอีกรอบเพื่อสร้างความนิยมให้ตนเองเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งจะมีผลกับเศรษฐกิจโลก

ภาพรวมปี 2563 ที่โลกยังตกอยู่ภายใต้ปัจจัยลบของ COVID-19 ทำให้ IMF ประเมินว่าจีดีพีโลกจะติดลบที่ -4.9% โดยมีประเทศหลักที่ยังเติบโตได้คือ “จีน” คาดว่าจีดีพีจะเติบโต +1% ส่วนประเทศอื่นๆ จะติดลบทั้งหมด ขณะที่ภาพปี 2564 น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ โดย IMF เชื่อว่าจีดีพีโลกจะดีดกลับมาเติบโต +5.4%

รวบรวมโดย เอเซีย พลัส

เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับ “การลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ”

มาถึงเศรษฐกิจประเทศไทย IMF ประเมินว่าจีดีพีไทยปี 2563 จะติดลบที่ -7.7% และปี 2564 จะฟื้นตัวที่ +5.0% เห็นได้ว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าค่าเฉลี่ยโลก ปีนี้ติดลบแรงกว่าและปีหน้าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า

ด้าน เอเซีย พลัส ประเมินรุนแรงกว่า IMF โดยคาดว่าจีดีพีไทยปี 2563 จะติดลบที่ -8.4% เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยจะติดลบทุกด้าน ดังนี้

  • การท่องเที่ยว แบงก์ชาติประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าเมื่อปี 2550
  • การส่งออก แบงก์ชาติประเมินว่าจะติดลบที่ -10.3% ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
  • การบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากยังมีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 3 ล้านคน จะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศต่ำลงตาม เอเซีย พลัสประเมินติดลบที่ -3.5%
  • การลงทุนภาคเอกชน จากตัวเลขแนวโน้มที่เป็นปัจจัยลบทำให้เอกชนชะลอการลงทุน เอเซีย พลัสประเมินติดลบที่ -10.0%

ดังนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เป็นความหวังของปีนี้คือ “การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายของภาครัฐ” ซึ่งเอเซีย พลัสประเมินว่าจะเติบโต +2.0% และ +2.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาทจากพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพิ่งมีการเบิกจ่ายได้ 1.23 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยเป็นวงเงินในส่วนของการเยียวยาประชาชนจาก COVID-19 เช่น นโยบายเราไม่ทิ้งกันจ่ายเงิน 5,000 บาท ที่เหลือซึ่งจะมีงบส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้เร็วที่สุดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของปีนี้

ทั้งนี้ เอเซีย พลัส ประเมินด้วยว่าจีดีพีไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วง Q2/2563 โดยคาดว่าจีดีพีไทยติดลบแรงถึง -15.0% และจะดีขึ้นในช่วง Q3-Q4/2563 แต่ก็ยังติดลบอยู่โดยอยู่ที่ -8.5% และ -6.0% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจจะยังแย่กว่าไตรมาสแรกของปีซึ่งเพิ่งเริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ที่มา : เอเซีย พลัส

ตลาดหุ้นไทยระวัง Q3 มี “หลุม” รออยู่

ด้านตลาดหุ้นไทย มีการปรับขึ้นมาแล้ว 40% ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวแรงนั้นเอเซีย พลัสวิเคราะห์ว่า มาจากการลงทุนของนักลงทุนไทยเป็นหลัก เนื่องจาก Fund Flow ของต่างชาติยังไหลออกต่อเนื่อง และเชื่อว่า Q3 จะยังเป็นลักษณะนี้ต่อไป

โดยการเติบโตของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากทั้งการเปิดกองทุนรวมเพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน และการเข้ามาเก็งกำไรจำนวนมากขึ้นของนักลงทุนรายย่อย พบว่าการเปิดบัญชีของรายย่อยช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 63 สูงขึ้น 5.91% ซึ่งจะทำให้ตลาดมีโอกาสผันผวนสูง

ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานที่จะผลักให้ตลาดหุ้นโตต่อนั้นลดลง อย่างแรกคือกองทุน SSFX ซึ่งมีการเร่งซื้อจบไปแล้วตั้งแต่สิ้น Q2 ด้วยมูลค่าการซื้อกว่า 8.8 พันล้านบาท ทำให้ Q3 จะไม่ได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนส่วนนี้แล้ว

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ Q2 ที่จะมาแสดงผลใน Q3 นั้นมีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแบงก์ชาติจะมีการประกาศจีดีพีประเทศ Q2 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงการประกาศผลกำไรบริษัทหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น Q2 ที่น่าจะทำได้ดีที่สุดคือเท่ากับ Q1 ดังนั้น “อนาคตจะมีหลุมรออยู่แน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าลึกแค่ไหน” เทิดศักดิ์กล่าว

ที่มา : เอเซีย พลัส

จากภาพรวมทั้งหมด เอเซีย พลัสจึงแนะนำลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการรับงานลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยตัวเลขแบ็กล็อกงานจะสำคัญต่อราคาหุ้น ไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนหรือโทรคมนาคมก็ตาม เช่น SEAFCO, INSET รวมถึงหุ้นที่มีแรงส่งเฉพาะตัว เช่น CPF เนื่องจากราคาสุกรปรับขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์โดยที่ปัญหาโรคไข้หวัดหมูแอฟริกาในจีนและเวียดนามยังไม่คลี่คลาย เป็นโอกาสการขายของ CPF ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ยังไม่ปรับขึ้น จึงยังทำกำไรได้ดี