หลังจากทั้งเปิดตัว ‘Grabpay Wallet’ ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ตามมาด้วย ‘Digital Lending’ หรือบริการสินเชื่อให้พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ทันได้ให้บริการอย่างเต็มที่ก็เจอ ‘พิษ Covid-19’ ไปอีก ดังนั้นแผนการต่าง ๆ ในครึ่งปีหลังนี้ทำให้บางบริการต้อง ‘เลื่อน’ ไปช้ากว่าเดิม แต่บางบริการก็ได้อานิสงส์ไปได้ดีกว่าเดิม
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง Covid-19 ทำให้การเดินทางต้องหยุดลง ส่งผลกระทบกับบริการรับส่งคนโดยเฉพาะผู้ขับ ‘4 ล้อ’ ทำผู้ขับบางรายย้ายไปส่งอาหาร บางรายหยุดพักกลับต่างจังหวัด ดังนั้นจึงต้อง ‘พักชำระหนี้คนขับ’ รวมกว่า 20,000 ราย เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท
ขณะที่ Covid-19 ทำให้ผู้บริโภคดูแลสุขภาพมากขึ้น ผลักดันให้การใช้จ่ายแบบ ‘Cashless’ มากขึ้น ทำให้สัดส่วนธุรกรรมแบบไร้เงินสดมีสัดส่วนกว่า 50% ของธุรกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะโดยที่การใช้จ่ายผ่าน GrabPay Wallet ที่เติบโตเกินเท่าตัว ทั้งนี้ GrabPay Wallet มีสัดส่วน 35% อีก 65% เป็นบัตรเครดิตและบัตรเดบิต นอกจากนี้ GrabPackages หรือแพ็กเกจส่วนลดก็เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว โดยเริ่มเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดตั้งแต่เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน
นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เปลี่ยนไปในช่วง Covid-19 ทั้งมูลค่าคำสั่งซื้ออาหารที่เพิ่มขึ้น มีพาร์ตเนอร์ร้านค้าสมัครเข้ามาเพิ่มขึ้น และพาร์ตเนอร์คนขับใหม่ ๆ เน้นรับงานแบบพาร์ตไทม์เพื่อหารายได้เสริม จนปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์ที่ขับเป็นพาร์ตไทม์กว่า 70% ดังนั้น เมื่อรูปแบบการใช้งานเปลี่ยนไปในระยะเวลาสั้น ข้อมูลเดิมที่มีก่อนหน้าไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
“เราต้องคัดข้อมูลใหม่ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ต้องมาดูว่าแต่ละเดือนเกิดอะไรขึ้น ปรับแผนใหม่ทุกเดือน จนเรามีแผนเรียงกันเยอะมาก และเพราะข้อมูลแบบเรียลไทม์ทำให้เราคาดการณ์และปรับแผนได้ทันที ดังนั้นตอนนี้ เราไม่มีการวางแผนระยะยาว”
โดยกลยุทธ์ในครึ่งปีหลังจะแบ่งเป็น 4 ส่วน 1.การบริหารจัดการต้นทุนให้ลดลงได้มากที่สุด เพราะระบบการชำระเงินของ GrabPay ถือเป็นพื้นฐานของธุรกรรมบนแพลตฟอร์มแกร็บทั้งหมด ตั้งแต่การจ่ายเงินของผู้ใช้ ระบบการจ่ายเงินให้พาร์ตเนอร์ร้านค้าและคนขับ การผ่อนชำระสินเชื่อ และการชำระเบี้ยประกันในอนาคต ดังนั้น การบริหารต้นทุนที่ดี และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบจะช่วยให้เรามีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มขึ้น
2.ปล่อยสินเชื่อสู่ร้านค้าพาร์ตเนอร์ร้านอาหารในเครือแกร็บฟู้ด จากตอนแรกมีเพียงสินเชื่อพาร์ตเนอร์คนขับ โดยจะใช้รูปแบบใกล้เคียงกับสินเชื่อสำหรับคนขับ คือ ผ่อนชำระรายวัน ชำระได้ผ่านแอพป ทั้งนี้ จะเน้นปล่อยเฉพาะร้านขนาดกลาง-และขนาดเล็กเป็นหลัก โดยตั้งเป้าให้ครอบคลุมกว่า 100,000 ครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่า NPL (Non-Performing Loan) หรือหนี้เสียจะสูงกว่าที่ประเมินไว้ คือ 2% หรือไม่ เพราะ 3 เดือนที่ผ่านมาพักชำระไป ก็แทบไม่ได้ปล่อยให้กู้ ดังนั้นอาจต้องรอดูในไตรมาส 4 ของปี แต่ตอนนี้มีประมาณ 70% ที่กลับมาชำระได้ตามปกติ ในขณะที่อีก 30% หรือประมาณ 50-60 ล้านบาท ยังคงพักชำระหนี้อยู่ และแกร็บมีแผนที่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่กลุ่มนี้ต่อไป
“เราเชื่อว่าเขาไม่อยากจะเบี้ยวหรอก มันไม่คุ้มที่จะทิ้งอาชีพแกร็บ ดังนั้นส่วนใหญ่เราเห็นว่าเขาคืนเงิน เพราะเขากลัวเสียเครดิต ซึ่งถ้าหลุดจากแกร็บไปจะทำให้เขาไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ใหม่ และไม่สามารถทำงานกับแกร็บได้อีก”
3.นำเสนอประกัน ที่ผ่านมาแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับเมืองไทยประกันชีวิต ในการมอบประกันชีวิตและสุขภาพกลุ่มเพื่อคุ้มครองรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์คนขับและพาร์ตเนอร์ผู้จัดส่งอาหาร-พัสดุ และใครครึ่งปีหลังนี้ได้เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันที่เกี่ยวข้องกับบริการของแกร็บ อาทิ การขนส่งสินค้า หรือประกันอื่น ๆ ในรูปแบบการจ่ายเบี้ยแบบรายวัน
4.เร่งการเติบโตของการชำระเงินแบบไร้เงินสดในต่างจังหวัด การชำระเงินแบบไร้เงินสดบนแพลตฟอร์มแกร็บในปัจจุบันยังคงอยุ่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เนื่องจากมีการใช้งานบัตรเครดิตค่อนข้างน้อย จึงต้องเร่งการเติบโตผ่านวอลเล็ตเป็นหลัก โดยเตรียมออกแคมเปญการตลาดเพื่อเจาะในจังหวัดที่มียอดการใช้งานแอปพลิเคชันสูง รวมถึงเปิดให้ลูกค้าธนาคารอื่น ๆ สามารถใช้งาน GrabPay Wallet ได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันใช้ได้เฉพาะลูกค้าธนาคารกสิกรไทย โดยเป้าหมายสูงสุดในระยะยาว คือ เพิ่มสัดส่วนธุรกรรมแบบไร้เงินสดเป็น 80% คาดว่าในปีหน้าอาจจะเป็นไปได้
“ตอนนี้ GrabPay Wallet ยังใช้ในอีซิสเต็มส์ของแกร็บเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราได้เข้าระบบพร้อมเพย์แล้ว ดังนั้น หากเรามีผู้ใช้ในระดับ 80% เราก็อาจจะขยายการใช้จ่ายภายนอกอีโคซิสเต็มส์ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา”