ไตรมาสที่สองเป็นช่วงที่มีการระบาดหนักของ COVID-19 ส่งผลให้ ‘Dtac’ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งการปิดร้านค้านานกว่าหนึ่งเดือน การหายไปของลูกค้านักท่องเที่ยว แรงงานต่างด้าว รายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติและลูกค้าใหม่ รวมถึงการใช้จ่ายของลูกค้าโดยรวม
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ระบุว่า สิ้นไตรมาสที่ 2/63 ดีแทคมีฐานลูกค้าจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านราย ลดลง 835,000 ราย โดยจำนวนลูกค้าที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าเติมเงิน มีสัดส่วน 7.57 แสนราย ส่วนลูกค้ารายเดือนลดลง 7.8 หมื่นราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการในระบบรายเดือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32.3% ของจำนวนผู้ใช้บริการรวม
ในส่วนของรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่าเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายในไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก 4.5% และลดลง 3.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากค่าบริการหลักในไตรมาส 2 ลดลง 3.3% จากไตรมาสแรก และลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 8.1 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 5.1% จากไตรมาสก่อน และ 4.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น กำไรสุทธิใจไตรมาส 2 ทั้งสิ้น 1.9 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตในครึ่งปีหลังยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ดีแทคจึงได้ปรับการให้แนวโน้มใหม่สำหรับปี 2563 ซึ่งก็คือการเติบโตของรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่าเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายในปี 2563 ที่ตัวเลขติดลบหลักเดียวระดับต่ำ EBITDA อยู่ที่จำนวนใกล้เคียงกับปี 2562 และค่าใช้จ่ายในการลงทุนอยู่ที่ 8-10 พันล้านบาท
“ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้รายได้ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เราจัดการการเติบโตของกำไรในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการต้นทุนของเรา ด้วยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเติบโต เรายังคงรักษาความต่อเนื่อง ในการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนสำหรับเวลาที่เหลือของปี ขณะที่เรายังคงเคร่งครัดปฏิบัติตามแนวทางหลักในการให้บริการที่ขับเคลื่อนด้วยมูลค่าและประสบการณ์เครือข่ายที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าของเรา” นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ดีแทค กล่าว