อวสานการ ‘vาย’ เมื่อ Facebook ปิดกั้นไม่เลือก ‘ช่องทาง’ แต่เป็น ‘บริบท’ ในการโพสต์

เพราะพฤติกรรมที่โดดเด่นที่สุดของนักช้อปไทยคือ ‘สายไถ’ ไม่มีจุดหมายว่าจะซื้ออะไร โดยกว่า 76% รู้จักผลิตภัณฑ์และแบรนด์ใหม่ ๆ จากช่องทางออนไลน์ และราว 60% ได้ลองซื้อสินค้าจากร้านออนไลน์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ดังนั้น ‘การมองเห็น’ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในการขายของบน ‘Facebook’

“แบรนด์ขนาดใหญ่ที่ต้องแข่งขันกับแบรนด์ใหม่ต้องใช้จุดแข็ง คือ ความเชื่อมั่นของลูกค้า ส่วนแบรนด์ขนาดเล็กก็ต้องแสดงตัวให้คนค้นพบ อย่างคนไทย 57% พบแบรนด์ใหม่ผ่านโซเชียล อีกทั้ง 40% ยังชอบใช้การทักแชทเพื่อซื้อของ ซึ่งแปลว่าคนไทยมีโอกาสได้รู้จักแบรนด์ใหม่มากขึ้น”

แน่นอนว่าการมองเห็นเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายขึ้น หลังจากที่ Facebook ได้ปรับอัลกอริธึม (Algorithm) โดยจะลดการมองเห็นโพสต์ของเพจลง ไม่ว่าจะเป็นเพจธุรกิจ, เพจข่าวสาร, เพจขายของออนไลน์, เพจอื่น ๆ เพื่อให้ความสำคัญกับเพื่อนและครอบครัวมากกว่า แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่าการลดการมองเห็นนั้นอาจไม่ได้อยู่แค่กับเพจ แต่เกิดขึ้นกับ ‘โพสต์’ ที่มีลักษณะของการ ‘ขายของ’

ช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงเคยเห็นรูปแบบการขึ้นแคปชั่นขายของ ไม่ว่าจะเป็นจากเพจหรือจากโปรไฟล์ทั่วไปที่ขายของในลักษณะที่แปลกตาไป โดยเริ่มมีการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ทดแทนตัวอักษรภาษาไทย อาทิ vาย, sาคา เป็นต้น โดยพ่อค้า-แม่ค้าหลายรายระบุว่า ถ้าพิมพ์ตรง ๆ ไปเลย จะถูก ‘ลดการมองเห็น’ โพสต์นั้น ๆ หรือเพียงแค่มี Comment ในลักษณะ ‘ถามราคา’ ก็จะถูกลดการมองเห็นเช่นกัน

กล้า ตั้งสุวรรณ ซีอีโอแห่งไวซ์ไซท์ (WISESIGHT) ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล ระบุว่า ปัจจุบัน แพลตฟอร์มเปลี่ยนเร็วมากจนไม่สามารถฟันธงได้ว่าใช้เครื่องมือไหนแล้วจะดีหรือได้เอนเกจเมนต์มากที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มต้องการจะผลักดันฟีเจอร์ไหน โดยช่วงหนึ่งการไลฟ์หรือวิดีโอจะได้เอนเกจเมนต์ดีกว่า จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นโพสต์ใน Group ได้รับการมองเห็นที่ดีกว่า ขณะที่ปัจจุบันแพลตฟอร์มไม่ได้มองแค่ ‘ช่องทาง’ แต่มอง ‘บริบท’ ของการโพสต์

ดังนั้น อาจตอบไม่ได้ชัดว่า ลดหรือไม่ลดการมองเห็น เพราะคนที่รู้ดีสุดคงเป็น Facebook แต่แน่นอนว่า Social Media ไม่ใช่ Free Media ในการขายของ ดังนั้น Facebook ก็จะมีเครื่องมือในการขายของ ส่วนพ่อค้า-แม่ค้าก็พยายามหาช่องว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อาจจะได้ผลแค่ในระยะสั้น เพราะยังไง Facebook ก็ต้องปรับอัลกอริทึมใหม่เพื่อตรวจจับอยู่ดี สุดท้าย ถ้าอยากทำธุรกิจได้ดี ร้านค้าก็ต้องขายของที่ถูกต้อง โพสต์สินค้าแบบไม่เอาเปรียบผู้บริโภค คิดคอนเทนต์แบบมีคุณภาพ ถ้าทำแบบนี้ยังไงก็ได้ผลในระยะยาว

“คงบอกไม่ได้ว่าได้ผลแค่ไหน แต่เชื่อว่าแพลตฟอร์มเห็นและคงมีตัวเลขว่าประโยชน์ได้ไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าสุดท้ายแพลตฟอร์มเสียประโยชน์ ยังไงเขาก็ต้องหาทางจับ แต่สุดท้ายต้องอยู่อย่างเกื้อกูลกัน เพราะบางอย่างหากแพลตฟอร์มได้ประโยชน์มากเกินไป แม่ค้าก็จะออก แพลตฟอร์มก็ต้องลด แต่บางอย่างถ้าแม่ค้าได้ประโยชน์มากไป แพลตฟอร์มก็ต้องปรับ”

ฟีเจอร์ Facebook Shops

ที่ผ่านมา Facebook ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ‘Facebook Shops’ ที่ช่วยให้ SME ‘เปิดร้านค้าออนไลน์’ ทั้งบน Facebook และ Instagram ได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้ว่าไทยจะยังไม่มีฟีเจอร์ดังกล่าวให้ใช้งาน เเต่มีความเป็นไปได้ว่า Facebook จะพยายามดันร้านค้าให้ใช้ฟีเจอร์ดังกล่าว เหมือนกับที่ผ่านมาที่ดันฟีเจอร์ Live และ Group โดยการเพิ่มการมองเห็น เพราะเเม้ว่าฟีเจอร์ Facebook Shops จะให้ใช้ฟรี เเต่ Facebook ก็ระบุตั้งเเต่ต้นเเล้วว่า รูปแบบธุรกิจ คือ โฆษณา ดังนั้นหากลูกค้า ขายได้ ก็จะซื้อโฆษณาเอง

อ่าน >>> ทำความรู้จัก ‘Facebook Shops’ ฟีเจอร์ใหม่ช่วย SME ที่จะมาเขย่าตลาดอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ เเพลตฟอร์มจะลดหรือไม่ลดการมองเห็น หรืออาจเป็นเพียงการคิดไปเองของร้านค้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มมีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเงื่อนไขต่าง ๆ มากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่ให้ใช้ฟรี ดังนั้น การมีเครื่องมือหรือช่องทางเพิ่มเติมเป็นเรื่องจำเป็น มากกว่าที่จะหาช่องว่างของ Facebook อย่างเดียว ยิ่งตอนนี้อีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตมาก ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาในตลาดนี้ หลายแพลตฟอร์มก็พยายามทำตัวเองให้เป็น e-Marketplace