รู้จัก “หมอชนะ” แอปติดตาม COVID-19 ที่แจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงได้ไวกว่า “ไทยชนะ”

นอกจากแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่เป็นแอปสำหรับติดตามกลุ่มคนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังมีแอป “หมอชนะ” ด้วยเช่นกัน จากเคส “ทหารอียิปต์” ก็สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในสถานที่เดียวกันได้ แม้ไม่ได้เช็กอิน

หมอชนะคือใคร คนละแอปกับไทยชนะ

ในช่วงไม่กี่วันมานี้ หลายคนได้รู้จัก “หมอชนะ” กันมากขึ้น ในฐานะแอปพลิเคชันติดตามในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 แต่หลายคนยังสับสนกับแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ที่ใช้สหรับเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ตามตัวบุคคลได้ง่าย จะมาเล่าเรื่องราวของหมอชนะให้รู้จักกันมากขึ้น

แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” คือ Contact Tracing Application เป็นความร่วมมือของ 3 ฝ่าย ประชาชน เอกชน และรัฐบาล พัฒนาขึ้นโดยทีมพัฒนาร่วมประชาชน นำโดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ภายใต้ชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก พร้อมกับภาครัฐกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม

เป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบ และประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 จากสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว

การทำงานของหมอชนะจะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน ก็คือ เป็นแอปที่ให้ผู้ใช้งานสามารถรายงานความเสี่ยงในการติดเชื้อของตัวเองได้ และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติด COVID-19 นั่นเอง

หลักการทำงานของหมอชนะเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จากนั้นแค่เปิด GPS และ Bluetooth ไว้ โดยที่ไม่ต้องทำการ “เช็กอิน” ใดๆ เหมือนอย่างไทยชนะ เมื่อแอปได้ทำการตรวจพบว่าผู้ใช้มีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ทางแอปก็จะทำงานและแจ้งเตือนเมื่อพบว่าผู้ใช้งานมีความเสี่ยงติดเชื้อ โดยกลไกเหล่านี้จะทำงานโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ถือแอปหมอชนะได้รับการแจ้งเตือนได้ทันทีแม้ว่าจะไม่ได้ทำการสแกนเช็กอิน QR Code ของระบบไทยชนะก็ตาม

โดยการแจ้งเตือนนี้จะทำให้ผู้ถือแอปหมอชนะได้ทราบว่าตนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการของตน รวมถึงต้องติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขทันทีเพื่อที่จะได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว และป้องกันการแพร่ระบาดไปยังบุคคลรอบข้างด้วย

ประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเอง

หมอชนะได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย และเน้นในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และข้อมูลส่วนบุคคล การลงทะเบียนใช้แอปจึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous)

โดยที่คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น “โอเพ่นซอร์ส (Open Source)” เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่นๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย

ระบบตั้งให้ข้อมูลที่อยู่ในระบบมีอายุ 30 วัน เมื่อข้อมูลอยู่ในระบบครบตามอายุแล้วระบบทำลายข้อมูลที่หมดอายุโดยอัตโนมัติ และข้อมูลทั้งหมดจะถูกลบทิ้งภายใน 30 วันหลังจากจบวิกฤตการแพร่ระบาด

ซึ่งหัวใจการทำงานของแอป อยู่ที่การรายงานผลเป็นค่าสีต่างๆ ตามระดับความเสี่ยง แบ่งเป็น

  • สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
  • สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
  • สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
  • สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันทีส่วนขั้นตอนการติดตั้งก็ไม่ยุ่งยาก เพียงดาวน์โหลด อัพโหลดรูป ตอบคำถามประเมินสุขภาพเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรค เปิด GPS & Bluetooth ไว้ ระบบก็พร้อมทำงานและแจ้งเตือนได้ทันทีถ้าพบว่ามีความเสี่ยง ในส่วนของเบอร์โทรศัพท์ ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะไม่แจ้งตอนติดตั้งแอปได้ นอกจากนี้ ยังไม่ต้องแจ้งชื่อนามสกุลตอนดาวน์โหลด และไม่จำเป็นต้องเช็กอินเช็กเอาต์เพื่อให้ระบบทำงาน

แจ้งเตือนความเสี่ยงได้ไวกว่าไทยชนะ?

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยตื่นตระหนกกับกรณีของ “ทหารอียิปต์” ที่เข้ามาพักที่จังหวัดระยอง พร้อมกับได้เดินทางไปห้างสรรพสินค้าในจังหวัดระยองอีกด้วย

แต่เรื่องราวได้ร้อนระอุขึ้น เมื่อชาวบ้านจังหวัดระยองต้องการทราบพื้นที่ที่กลุ่มทหารเหล่านี้ได้เดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม และห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อโทรติดต่อไปยังหน่วยงานรัฐ กลับไม่สามารถให้ข้อมูลได้ พร้อมกับแจ้งว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งจริงๆ แล้วประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อได้ประเมินความเสี่ยงของตนเอง

แต่แอปพลิเคชันหมอชนะสามารถจับโลเคชั่นของบุคคลที่เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว ในวัน และเวลาเดียวกัน โดยได้ทำการส่งข้อความแจ้งเตือนบุคคลที่ไปห้างแหลมทองในเวลาที่ทหารอียิปต์ไป พบทั้งหมด 10 ท่าน หาเจอด้วยระบบ GPS ทำให้กลุ่มเสี่ยงรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

กลายเป็นว่าหมอชนะเป็นที่สนใจของประชาชนมากขึ้น เพราะสามารถแจ้งเตือนได้รวดเร็ว อีกทั้งยังประเมินความเสี่ยงได้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้